การใช้วัคซีน PRRS ด้วยโปรแกรมที่ถูกต้องกับการควบคุมฝูงสุกรให้นิ่งเพื่อประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น

การใช้วัคซีน PRRS ด้วยโปรแกรมที่ถูกต้องกับการควบคุมฝูงสุกรให้นิ่งเพื่อประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น

เขียนโดย สพ.ญ.ศศิธร  หรั่งอ่อน

Key Account Executive.

Boehringer Ingelheim (Thai) Ltd.

 

        ตลอดระยะเวลาสิบปีของระบบการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยกับปัญหาโรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรบางส่วนยังคงพบปัญหากลุ่มอาการโรคดังกล่าวในระบบการเลี้ยง กลุ่มอาการปัญหาโรคดังกล่าวสร้างความเสียหายในฟาร์มได้สองส่วน คือ ในส่วนประสิทธิภาพแม่พันธุ์มักจะกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เช่น เปอร์เซ็นต์การผสมติดต่ำ เปอร์เซ็นต์การแท้งและการกลับสัดสูง เปอร์เซ็นต์ลูกตายคลอดและมัมมี่สูงส่งผลให้จำนวนลูกหย่านมต่อแม่ต่อปีไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และส่วนที่สองยังสามารถพบความเสียหายในส่วนประสิทธิภาพการเลี้ยงของสุกรอนุบาลและสุกรขุนเช่น อัตราการป่วย อัตราการตายที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาโรคในระบบทางเดินหายใจ อาจมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นร่วมด้วย เนื่องจากร่างกายของลูกสุกรถูกรบกวนในระบบสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อ PRRS และส่งผลให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย ปัญหาดังกล่าว ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตในฟาร์มสูงขึ้นกว่าปกติ แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายปีมีการนำผลิตภัณฑ์วัคซีนเพื่อเข้ามาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวแต่ยังคงพบปัญหาของกลุ่มอาการโรคจากเชื้อพีอาร์อาร์เอส อยู่ในบางฟาร์มซึ่งอาจเกิดจากการวางโปรแกรมการใช้วัคซีนไม่ถูกต้องตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำและวางโปรแกรมไว้ให้  จึงเป็นที่น่าสนใจว่าถ้าการนำผลิตภัณฑ์วัคซีนพีอาร์อาร์เอส เข้ามาใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสียหาย โดยมีการวางโปรแกรมวัคซีนอย่างถูกต้องตามที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์แนะนำอย่างต่อเนื่อง อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์มและเจ้าของฟาร์มจะได้รับประโยชน์จากการใช้วัคซีนดังกล่าวอย่างไร

        ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการศึกษา 2 กรณี โดยกรณีแรกเป็นการศึกษาในประเทศจีนโดย LV Huang และคณะ (1) ทำการศึกษาในฟาร์มขนาด 1,500 แม่โดยฟาร์มตรวจพบการเกิดปัญหากลุ่มอาการโรค PRRS จากเชื้อ Highly-Pathogenic PRRSV (HP-PRRSV) ในปี 2006 มีอัตราการตายในสุกรอนุบาลสูงถึง 30% และพบการแท้งอย่างรุนแรงในฝูงสุกรแม่พันธุ์ ทางฟาร์มมีการนำวัคซีน PRRS ที่ผลิตในจีนเข้ามาทดลองใช้ 2-3 ยี่ห้อ แต่ก็ยังคงพบอัตราการตายสูงอย่างต่อเนื่องที่ 15-30% ในเดือนมีนาคมปี 2008 จึงมีการวางโปรแกรมนำวัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของบ.เบอริงเกอร์ฯ มาใช้ในฟาร์มโดยวางโปรแกรมตามที่บริษัทแนะนำ คือ ปูพรมแม่พันธุ์ทั้งฝูง 2 เข็มแรกโดยห่างกันเป็นระยะเวลา 30 วัน ต่อจากนั้นในฝูงแม่พันธุ์มีการปูพรมทั้งฝูงทุกๆ สามเดือน และหยุดเอาสุกรสาวเข้าฝูงเป็นระยะเวลาครึ่งปี หลังจากนั้นสุกรสาวที่เอาเข้าฝูงจะต้องทำวัคซีนอย่างน้อยสองเข็มและกักโรคก่อนเข้าฝูงเป็นระยะเวลาสองเดือน และในลูกสุกรหลังการผ่านการปูพรมให้ฉีดที่อายุ 15 วัน ระยะการเลี้ยงในส่วนสุกรอนุบาลและสุกรขุน เป็นระบบเข้าเต็มหมดและปิดชุดออกหมด ฟาร์มมีการใช้วัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ตลอดระยะเวลา 7 ปี เพื่อควบคุมฝูงตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2015 เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการใช้วัคซีนในการโปรแกรมที่ถูกต้อง มีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูการดำเนินไปของโรคในฟาร์มตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2015 ตรวจ ELISA และ PCR เพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อและหาปริมาณของเชื้อในตัวอย่างเลือดนอกจากนี้ยังมีการเก็บเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลปีละ 60 ตัวอย่างมาตรวจหาเชื้อโดยวิธี Sequencing Polymerase chainreaction โดยผลตรวจหาเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในเลือดและในเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลที่ได้ออกมาเป็นตามตารางที่ 1 ด้านล่าง

 

ตารางที่ 1 ผลตรวจเชื้อ PRRSV ในเลือดและเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2015

Table 1 : Serum and tonsil sample WT PRRSV PCR test result from 2009 to 2015

 

         จากตารางที่ 1 ช่องซ้ายสุดของตารางระบุถึงปีที่เก็บตัวอย่างตรวจ ช่องตรงกลางบอกถึงจำนวนตัวอย่างเลือดและจำนวนตัวอย่างเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลที่มีการเก็บตัวในแต่ละปี ช่องทางด้านขวาสุดบอกถึงเปอร์เซ็นต์ตรวจพบเชื้อพีอาร์อาร์เอส ในตัวอย่างเลือดและต่อมทอนซิล ข้อมูลในตารางพบว่าเริ่มตรวจเจอเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส เปอร์เซ็นต์ที่น้อยลงตั้งแต่ปี 2012 และไม่สามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสทั้งในเลือดและในเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลในปี 2014 และต่อเนื่องไปยังปี 2015 ผลตรวจดังกล่าวเกิดจากการทำวัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2009 และทำวัคซีนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

        เมื่อพิจารณาจากผลตรวจหาเชื้อ (PCR) ทั้งในตัวอย่างเลือด และตัวอย่างเนื้อเยื่อต่อมทอนซิล แสดงว่าการใช้วัคซีนพีอาร์อาร์เอสของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ตามโปรแกรมที่ถูกต้องที่บริษัทแนะนำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดการเพิ่มจำนวน และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจนไม่สามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสดังกล่าวทั้งในเลือดและในเนื้อเยื่อต่อมทอนซิล ซึ่งหมายความว่าฝูงสุกรจะมีปริมาณการวนเวียนของเชื้อลดลง แต่อย่างไรก็ตามเราควรมีการดูข้อมูลส่วนประสิทธิภาพการผลิตทั้งในส่วนแม่พันธุ์และลูกสุกรร่วมด้วย

        การศึกษาที่สอง โดย David Xu และคณะ (2) ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ในฟาร์มขนาด 1,500 แม่ เลี้ยงทั้งแม่พันธุ์และสุกรขุนในฟาร์มเดียวกัน (Single site system) โดยฟาร์มตรวจพบการเกิดปัญหากลุ่มอาการโรค PRRS จากเชื้อ Highly Pathgenic PRRSV (HP-PRRSV) ในปี 2006 อาการหลักที่พบในฟาร์ม คืออัตราการแท้งในสุกรแม่พันธุ์สูงและมีอัตราการตายในลูกสุกรดูดนมและอนุบาลสูงเช่นกัน ส่งผลให้อัตราจำนวนลูกสุกรหย่านมต่อแม่ต่อปีลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2008 มีการนำวัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ มาใช้เพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าวในปี 2009 ในระบบการเลี้ยงสุกรทั้งหมด โดยวางโปรแกรมตามที่บริษัทแนะนำ คือปูพรมทั้งฝูง 2 เข็มแรกโดยห่างกันเป็นระยะเวลา 30 วัน ต่อจากนั้นในฝูงแม่พันธุ์มีการปูพรมทั้งฝูงทุกๆ สามเดือน และในลูกสุกรหลังการผ่านการปูพรมให้ฉีดที่อายุ 14 วัน จากนั้นเก็บตัวเลขดูประสิทธิภาพการผลิตในส่วนจำนวนลูกหย่านมต่อแม่ต่อปี และอัตราการตายของสุกรขุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014 ได้ข้อมูลดังตารางที่ 2 ด้านล่าง

 

ตารางที่ 2 : เปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตในสุกรที่ทำวัคซีน PRRS ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014

กราฟที่ 1 : เปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตในสุกรที่ทำวัคซีน PRRS ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2014

 

        เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพการผลิตหลังจากมีการวางโปรแกรมวัคซีนพีอาร์อาร์เอสของ บ.เบอริงเกอร์ฯ อย่างถูกต้องตามที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยพบว่าเริ่มต้นในปี 2009 อัตราลูกหย่านมต่อแม่ต่อปีอยู่ที่ 22.5 ตัวต่อแม่ต่อปี เมื่อเก็บข้อมูลต่อเนื่อง ตัวเลขอัตราลูกหย่านมต่อแม่ต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 24.6 ตัวต่อแม่ต่อปีหลังจากทำวัคซีนไปได้สองปีและเมื่อเก็บข้อมูลต่อเนื่องจนถึงปี 2014 ตัวเลขดัชนีการผลิตดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 25.6 ตัวต่อแม่ต่อปีส่วนอัตราการตายของสุกรขุนในปี 2009 มีอัตราสูงถึง 4.3% จากนั้นการตายค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2014 พบว่าอัตราการตายของสุกรขุนเท่ากับ 1.5% และเมื่อนำข้อมูลประสิทธิภาพทั้งสองตัวดังกล่าวมาทำกราฟเพื่อดูทิศทางของประสิทธิภาพการผลิตหลังการใช้วัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ โดยโปรแกรมที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง จะปรากฏดังกราฟที่ 1 ด้านบน

        จากการศึกษาทั้งสองรายงานนี้สรุปได้ว่าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์วัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ และใช้อย่างถูกต้องตามโปรแกรมที่บริษัทแนะนำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานนั้นส่งผลลดปริมาณเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสที่มีการหมุนเวียนในฝูง และช่วยลดปัญหาการก่อโรคจากเชื้อดังกล่าวในฟาร์ม ทำให้ประสิทธิภาพในส่วนแม่พันธุ์และสุกรขุนดีขึ้น มีจำนวนลูกหย่านมต่อแม่ต่อปีเพิ่มสูงขึ้น และมีอัตราการตายในสุกรขุนที่จับขายออกตลาดลดลง นั้นหมายความว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้รับเงินจากการขายสุกรขุนเพิ่มขึ้น โดยทั้งนี้การนำวัคซีนพีอาร์อาร์เอส ของ บ.เบอริงเกอร์ฯ ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส จะต้องมีการดูแลเรื่องการจัดการ คุณภาพน้ำและอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรได้ดีร่วมกับการใช้วัคซีนดังกล่าว การเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำให้ได้รับผลลัพธ์ไม่ดีอย่างที่เกษตรกรต้องการ ในระบบการผลิตสุกรเราควรมองภาพโดยรวมและใช้การควบคุมทั้งการจัดการพื้นฐานร่วมกับการใช้วัคซีนอย่างถูกต้องเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ที่มา : 1. Lv Huang et al., Susccessful WT-PRRSV elimination in 1,500 sow farrow-to-finish system through mass vaccination and keep loading PRRSV negative gilts, Poster IPVS2016-lreland

2. D.Xu et al., Influence of Ingelvac®PRRS MLV vaccination on variability of S/P values serology in a breeding herd, Poster IPVS 2016-lreland

ที่มา :  หนังสือสัตว์เศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 780 ปักษ์แรกกรกฎาคม 2559 (หน้า 40-42)

 

       

Visitors: 427,915