4 หัวรถจักรใหม่ของเอเชีย

4 หัวรถจักรใหม่ของเอเชีย
โดย ลม เปลี่ยนทิศ
ไทยรัฐ 11 ก.ค. 2559

สัปดาห์ที่แล้ว นสพ.นิกเกอิ เจ้าของ ดัชนีนิกเกอิ ที่อ้างอิงกันทั่วโลก ได้มาจัดงานฟอรัมที่กรุงเทพ เชิญ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ก็ไม่ผิดหวังเมื่อ ดร.สมคิด ชู ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ขึ้นมาเป็น “4 หัวรถจักรสำคัญ” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียให้แข็งแกร่งต่อไป ในขณะที่ TPP ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังร่อแร่ในบ้าน เพราะคู่ชิงผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ไม่มีใครเอาด้วย

เกมนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนพี่เบิ้ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ข้อตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นฝ่ายได้เปรียบ

ปาฐกถาพิเศษของ ดร.สมคิด ในงานนิกเกอิ ฟอรัม 2016
จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็น ศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจของอาเซียน RCEP ประกอบไปด้วย 16 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ บวกกับ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีประชากรครึ่งหนึ่งของโลก 3,700 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของโลก เทียบกับค่าย TPP ของสหรัฐฯ 12 ประเทศ ที่มีประชากรเพียง 800 ล้านคนเท่านั้นเอง

ดร.สมคิด ระบุว่า จีน มีจุดเด่นเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่เทคโนโลยี ในลักษณะที่เป็น Mass Startup และ Mass Entrepreneur สร้างสตาร์ตอัพและเจ้าของธุรกิจจำนวนมาก ทำให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่อง อุตสาหกรรมอนาคต เทคโนโลยี และ การศึกษา แต่มีจุดอ่อนคือ 20% ของจีดีพีมาจากบริษัทซัมซุงบริษัทเดียว รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพยายามกระจายตัวธุรกิจให้มีการขยายตัวในวงกว้างขึ้น

อินเดีย มีจุดเด่นที่รัฐบาลลดขั้นตอนการทำธุรกิจ ประชากรมีการศึกษาสูง และมีการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก มีธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กเป็นซัพพลายเชน ทำให้การบริโภคในญี่ปุ่นเติบโตสูงมาก ช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ๆในญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำคือการพัฒนาเทคโนโลยีและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

นอกจาก 4 หัวรถจักรสำคัญแล้ว เอเชียยังมีหัวรถจักรขนาดรองลงมาคือ ฮ่องกง ไต้หวัน อาเซียน ที่จะเป็นแวลูเชนห่วงโซ่คุณค่าสอดรับกับ 4 ประเทศที่เป็นหัวรถจักร

แต่ การผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียก้าวไปข้างหน้าได้ จะต้องเร่งสรุปเจรจาเรื่อง การเปิดเสรีการค้าในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอเชีย ทำให้เอเชียเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพี 30% ของโลก ทำให้ทีพีพีต้องเร่งเชื่อมโยงกับอาร์เซพ

ดร.สมคิด สรุปว่า ถ้า RCEP เกิดขึ้นได้จริง
จะทำให้ อาเซียน กลายเป็น แอ่งการค้าทางเศรษฐกิจ แอ่งการผลิตที่สำคัญของเอเชีย เพราะมีแรงงานต้นทุนถูก มีชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตจำนวนมาก เป็นกำลังซื้อสำคัญที่จะรองรับการค้าในวันข้างหน้า รวมทั้งจุดแข็งด้านการศึกษา ซึ่งเห็นได้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 อันดับแรกของสหรัฐฯ นักเรียน 70% มาจากเอเชีย

ปาฐกถาของ ดร.สมคิด ครั้งนี้เรียกว่า มาถูกจังหวะและเวลา หลังจากที่อังกฤษโหวตออกจากยุโรป ส่งผลให้ “เงินเยน” แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเทียบกับเงินบาทวันนี้ก็แข็งค่าขึ้นไปถึง 17% ทำให้ภาคการผลิตและธุรกิจญี่ปุ่นมีปัญหาไปหมด ต้องรัดเข็มขัดกันใหญ่

ทางเดียวที่จะ ช่วยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ยักษ์เล็ก และเอสเอ็มอีญี่ปุ่นอยู่รอด ญี่ปุ่นจะต้องเร่งผลักดัน “เขตการค้าเสรีอาร์เซพ” ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับสินค้าญี่ปุ่น และ ประเทศไทย ก็จะได้ประโยชน์ในฐานะ ศูนย์กลางการค้าการลงทุนและการผลิตของอาเซียน เพราะไทยก็พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเช่นเดียวกับญี่ปุ่นเหมือนกัน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

Visitors: 396,965