DLD FMD VACCINE IS OK? คำถามที่รอคำตอบ เพื่ออนาคตที่ดี

DLD FMD VACCINE IS OK? คำถามที่รอคำตอบ เพื่ออนาคตที่ดี

            ตั้งแต่ พ.ศ.2496โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ FMDเริ่มระบาดในประเทศไทย จนบัดนี้เป็นเวลา 63 ปี มาแล้ว เกษตรกรภาคปศุสัตว์ของไทย ประกอบด้วย โคเนื้อ โคนม แพะ แกะ สุกร ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคนี้มาโดยตลอด ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวไม่ได้เบาบางลงแต่อย่างใด มีการระบาดกลับไปกลับมาอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ได้หายขาดไปจากประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและเอกชนในภาคเกษตรปศุสัตว์ จะต้องหันหน้ามาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม

 โรค FMD ถูกจัดเป็นประเภท A ของ OIE ซึ่ง WTO ถือว่าเป็นโรคที่เข้าข่ายเป็นข้อจำกัดของการค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นโรคที่ต้องห้ามสำหรับการส่งออกสินค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จากประเทศที่เป็นพื้นที่การระบาดรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าในภาคปศุสัตว์ของไทยอ่อนแอ ในยุคการค้าเสรีของโลก โดยมีต้นทุนในการป้องกันและการดูแลสูงขึ้น สร้างความยากลำบากในแต่ละมิติของการแข่งขันทางการค้า

ปัญหาการระบาดในขณะนี้คืออะไร

  1. ไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดได้อย่างสมบูรณ์ บางฟาร์มมีการระบาดตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เดือนกรกฎาคม 2559 ยังคงมีการติดเชื้อ ทั้งๆ ที่มีการใช้วัคซีนจากกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง เป็นในตัวเดิมที่หายป่วยแล้ว โดยมีฟาร์มอีกจำนวนมากที่ติดเชื้อเรื้อรังแต่ไม่ได้มีการเปิดเผยทั้งจำนวนที่ติดเชื้อและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
  2. แก้ปัญหาได้ เว้นระยะแล้วกลับมาระบาดใหม่อีก โดยระยะห่างของการแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ 1 ถึง 6 เดือน แล้วกลับมาระบาดใหม่ ทั้งที่มีใช้วัคซีนควบคุมโรค
  3. ระบาดติดเชื้อในลูกเล้าคลอด ระบาดในสุกรอนุบาลจนหายแล้ว แต่กลับมาเป็นใหม่ในช่วงของการเป็นสุกรขุน หรือแม้แต่ในสุกรเล็กและสุกรรุ่นได้อีก
  4. ทำวัคซีนในแม่สุกร แต่ลูกสุกรในเล้าคลอดยังเป็นต่อเนื่องอีก แล้วแพร่ไปยังสุกรอนุบาล
  5. มีการระบาดหนักหมุนเวียนไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ผ่านมา
  6. ในขณะนี้มีข่าวว่าระบาดในหลายพื้นที่ ทั่วประเทศ ถ้าเป็นการรุกรามจากเชื้อตัวใหม่ จะยิ่งยากต่อการแก้ไข

สรุปปัญหาของวัคซีน

  1. สงสัยว่าวัคซีนไม่ตรงกับเชื้อที่ระบาด เป็นที่ทราบกันว่าเชื้อที่ทำวัคซีนไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานมาก มีข้อสงสัยว่าจะสามารถป้องกันโรคปัจจุบันได้หรือ ในเมื่อเชื้อเปลี่ยนไปตลอด
  2. จากการสังเกตความคุ้มโรคที่ได้มีระยะเวลาสั้นมาก (short immune protection) หลายครั้งตั้งสมมุติฐานว่าวัคซีนได้ผล แต่ระยะเวลาเพียงเดือนเดียวกลับมาเป็นอีก จึงยากที่จะประเมินระยะเวลาคุ้มโรค จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าสื่อที่กรมปศุสัตว์จัดหามาคุณภาพต่ำหรืออย่างไร หรือเชื้อไม่ตรงกับโรคระบาด (Field Strain) แต่มันไขว้ (Cross) บ้างบางส่วน
  3. วัคซีนทำแล้ว 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งก็ยังเป็นโรค

 เกษตรกรมักถูกตั้งข้อสมมุติฐานไปต่างๆ นานาว่า

  1. ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ของฟาร์มไม่มีประสิทธิภาพบ้าง มีเชื้อไวรัสในฟาร์มเป็นจำนวนมากบ้าง ถึงขนาดเหมารวมว่าเป็นในลักษณะนี้กันทั้งหมด แต่ที่ผ่านมามีการดูแลโรงเรือนในระดับดี พ่นยาฆ่าเชื้อชนิดคุณภาพการฆ่าเชื้อสูงทุกสองชั่วโมง แต่ก็ยังปรากฏว่าทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ล้วนเป็นกันถ้วนหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคำอธิบายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
  2. มีการสมมุติฐานว่าเกิดภาวะที่มีการกดภูมิ (immune suppress) ในฟาร์ม แต่มันน่าแปลกว่า ในขณะที่สุกรเป็น FMD แต่กลับมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคอื่นในขณะนั้น
  3. กรณีสมมุติฐานจากปัจจัยจากตัวสัตว์สุขภาพไม่แข็งแรง แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการตรวจภูมิจากวัคซีนอื่น ปรากฏว่ามีภูมิขึ้น แต่กรณีภูมิจากวัคซีน FMD ไม่ขึ้นหรือต่ำมาก

 เหตุผลที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องรวมกลุ่มมายัง สทช.(สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์)

  1. เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องการเชื้อที่ตรงกับการระบาดมาใช้ทำวัคซีน
  2. วัคซีนที่ใช้ต้องมีคุณภาพ คุ้มโรค และตรงกับเชื้อที่ระบาด
  3. มีการจัดสรรรายได้จากการขายวัคซีนเดือนละประมาณ 45 ล้าน ปีละ540 ล้าน เพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนอย่างไร เพราะมีข้อสงสัยต่อคุณภาพของวัคซีนที่ให้กับเกษตรกรนำไปใช้

 

การรวมตัวของเกษตรกรโคเนื้อ โคนม แพะแกะ และสุกร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 นี้ เพื่อขอความมั่นใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดโรค FMD ขึ้นมาอีก ตั้งแต่ภารกิจในการจัดหาวัคซีนคุณภาพที่เป็นปัจจุบันที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนจากความเสียหาย โดยได้กำหนดการเดินทางมาล่วงหน้ามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อการแก้ปัญหาของชาติซึ่งจะเป็นผลดีที่ได้กันทั้งประเทศ

           "เราไม่ได้ทำแค่วันนี้ให้ดีขึ้น แต่เราจะทำเพื่ออนาคตที่ดีตลอดไปครับ"

 ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

Visitors: 398,148