TPP ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก เกษตรใกล้ถอดใจ แต่ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอถวายชีวิตสู้
TPP ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก เกษตรใกล้ถอดใจ แต่ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอถวายชีวิตสู้
15 มกราคม 2559 กระทรวงพาณิชย์ – ในเวที TPP ที่กระทรวงพาณิชย์ภาคอุตสาหกรรมไทยแซ่ซ้องร้องเรียกหา TPP แต่ภาคประมงและปศุสัตว์รวมพลังคัดค้านการเข้าร่วม TPP
จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการศึกษาข้อดีข้อเสียในการจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ โดยจะต้องส่งผลการศึกษาภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญภาคเอกชนและภาคเกษตรเข้าให้รายละเอียด โดยแบ่งเป็นภาคเช้าจากภาคอุตสาหกรรมทั่วไปและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยพอสรุปภาพรวมได้คือภาคอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งหมดยินดีกับ TPP แต่ภาคประมงและปศุสัตว์รู้ซึ้งถึงตัวตนของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงรวมพลังคัดค้านการเข้าร่วม TPP
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติโดยนายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัยได้เข้าชี้แจงเหตุของการคัดค้าน โดยมุ่งไปที่การชี้ให้เห็นถึง TPP เสมือนการล่าอาณานิคมภายใต้ภาพของการค้าเสรีที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่สามารถพลิกผันได้เสมอยากที่จะทำตามได้ และเป็นลักษณะการเข้ากลุ่มนี้เพื่อมาใกล้ชิดกับประเทศในกลุ่มเอเชีย เพื่อคานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีน ประกอบกับความสามารถทางการผลิตในด้านปศุสัตว์ที่ต่างกัน ประกอบกับไทยมีการผลิตสุกรเพียง 1% ของโลกเท่านั้น แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี โดยอุตสาหกรรมสุกรเป็นห่วงโซ่อุปทานหนึ่งที่รองรับการเกษตรเพาะปลูกของไทย ทั้งข้าวโพด และผลพลอยได้จากการปลูกข้าวของเกษตรกรชาวนาไทย เช่น รำขาว ปลายข้าว แม้กระทั่งกากน้ำตาลของอุตสาหกรรมอ้อย ถ้าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรล้มหายตายจากไป เกษตรเพาะปลูกของไทยอีกหลายแขนงก็ต้องล้มหายตายจากเหมือนกัน
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ชี้ให้เห็นความสอดคล้องกว่าของสมาชิกในกลุ่มอาเซียนบวก 6 หรือ RCEP โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ยินดีที่จะค้าขายกับไทยให้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไทยจากราชบุรีมีกำหนดการที่จะพบปะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดยูนาน เพื่อทำให้การค้าขายแนวชายแดนที่ผ่านชายแดนลาวสู่จีนให้ลดขั้นตอน ลดพ่อค้าคนกลางให้มากขึ้น ซึ่งประเทศจีนชอบที่จะติดต่อกับภูมิภาคเดียวกันมากกว่าที่จะค้าขายกับประเทศที่ชอบตั้งกฎเกณฑ์ให้คู่ค้าดำเนินตาม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติลงความเห็นขอคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกที่เข้าประชุมทั้งรอบอุตสาหกรรมและรอบเกษตรกร แสดงความเห็นว่าจะสามารถยกกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ออกไปจาก TPP ได้ไหม หรือขยายเวลาลดภาษีให้นานที่สุด โดยได้ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมไก่ใช้ข้าวโพดในประเทศถึง 50% ถ้าสินค้า TPP เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรไทยจะทำอย่างไร การค้าที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการตกลงเขตการค้าเสรีแต่อเมริกาก็ไม่ได้เสรีจริงกรณีกับคู่สัญญาอื่นๆ รวมทั้งออสเตรเลียหลังลงนาม FTA Thai-Australia ออสเตรเลียก็ตั้งเกณฑ์การนำเข้าไก่เนื้อว่าต้มไก่ 2 ชั่วโมง 80 องศา ในขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปที่ค่อนข้างเสรีในช่วงแรก แต่ช่วงหลังก็ตั้งกฎเกณฑ์มากขึ้น เช่น จำกัดโควตา ขึ้นภาษี
นายสิทธิพร บูรณนัฎ เลขาธิการสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทยที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปแล้วจาก FTA Thai-Australia และ Thai-New Zealand ถูกเนื้อออสเตรเลียและเนื้อนิวซีแลนด์ทำลายอย่างชัดเจนมานานเพราะราคาจำหน่ายถูกกว่ามาก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อต้องได้รับการเยียวยาจากกองทุน FTA ภายใต้การดูแลทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถ้าไทยยังเดินหน้าเข้าร่วม TPP อีก ต่อไปเราอาจจะต้องตั้งกองทุน TPP มาเยียวยาภาคปศุสัตว์ไก่เนื้อ สุกรเพิ่มอีก ซึ่งการเยียวยาและฟื้นตัวของภาคปศุสัตว์ที่มีการลงทุนมหาศาลกว่า รัฐบาลไทยจะไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้เลย เพราะเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือไม่ต่างจากเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคาร ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เกษตรก็คงใช้สินเชื่อของธนาคารซึ่งมาตรการเยียวยาไม่ควรมีอีกต่อไปถ้ารัฐบาลรอบคอบในเรื่องการตกลงเขตการค้าเสรีให้มากกว่านี้
ประเด็นที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกังวลและขอคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP
1. สมาชิกภาคีใน TPP มี 2 ประเทศสมาชิกที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ของโลก ลำดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา และที่ 3 แคนาดา ที่พยายามผลักดันสินค้าสุกรของตนมายังประเทศไทยโดยตลอด โดยแต่ละปีทั้ง 2 ประเทศมีปริมาณการผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการค้าเข้าทุกประเทศที่สามารถเข้าไปได้ โดยไม่สนใจว่าจะกระทบกับเกษตรกรในประเทศนั้นๆ ที่มีศักยภาพและต้นทุนการผลิตที่สู้ไม่ได้ หรือแม้แต่ประเทศเป้าหมายที่ยังมี Supply ส่วนเกินก็ตาม โดยประเด็นนี้ขอให้ภาครัฐพิจารณาปกป้องเกษตรกรไทยเรื่องนี้ด้วย เพราะลำพังไม่มีการแข่งขันจากต่างประเทศ เกษตรกรไทยก็ย่ำแย่เรื่องราคากันเป็นประจำอยู่แล้ว
แต่ละปีปริมาณการค้าเนื้อสุกรทั้ง 2 ประเทศใน TPP ประกอบด้วย
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการผลิตเนื้อสุกรในเชิงการค้าระหว่างประเทศสูงถึงประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี (จากการผลิตเกินกว่า 11 ล้านตันต่อปี และบริโภคเองประมาณกว่า 8 ล้านเมตริกตัน) โดยมีหน่วยงานสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา National Pork Producer Council (NPPC) ที่ผลักดันให้รัฐบาลสร้างนโยบายหรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสุกรสหรัฐมาตลอด ทั้งระดับ FTA และ TPP
ประเทศแคนาดา มีการผลิตเชิงการค้ามากกว่าการบริโภคในประเทศสูงถึง 1.2 ล้านตันต่อปี (ผลิตทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี) ซึ่งเป็นปริมาณที่ทำตลาดต่างประเทศโดยมีหน่วยงานสภาผู้ผลิตสุกรแห่งแคนาดา Canadian Pork Council ที่ผลักดันให้รัฐบาลสร้างนโยบายหรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสุกรแคนาดามาตลอดเช่นกัน
ในขณะเดียวกันทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดากลับสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าสารพัด เช่น กรณีสหรัฐใช้ข้ออ้างการใช้แรงงานทาส ยืนสถานะ TIP Report Tier 3 ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยออกมาตรการแก้ไขสารพัด ล่าสุดสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโอบามา สั่งร่างกฎหมายเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ Presidential Task Force on Combating IUU Fishing เลียนแบบ IUU สหภาพยุโรปขึ้นมาอีก ซึ่งถ้าเราตามไปดูอุตสาหกรรมประมงของเกษตรกรของสหรัฐเองใน 6 มลรัฐ ประกอบด้วย Alabama, Florida, Georgia, Louisiana, Mississippi และ Texas ก็ได้รับผลกระทบจากสินค้ากุ้งถูกจากผู้ส่งออกแถบเอเชียและเอกวาดอร์ ซึ่งก็เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐเช่นกัน ซึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน ถ้ายังจำได้สหรัฐอเมริกาก็ใช้มาตรการกฎหมายตอบโต้การอุดหนุน หรือ CVD (Countervailing Duty) กับ 7 ประเทศผู้ส่งออกกุ้งรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งพอประเด็นนั้นผ่านไป ก็มีประเด็น TIP Report ตามมาอีกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้ากฎหมายสหรัฐที่เลียนแบบ IUU ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ ก็จะมีประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก
สำหรับแคนาดาเองก็ตั้งเกณฑ์กีดกันไก่ไทยมาตลอด เช่น เกณฑ์ให้ต้มในน้ำเดือดอุณหภูมิ 80 องศา ตั้งแต่ไทยมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) และโรคนิวคาสเซิล (New Castle) ซึ่งก็ปลอดมานานแล้ว แคนาดาเองก็ไม่ยอมเปลี่ยน แต่เมื่อกันยายน 2558 กลับมาเจรจาจะขอส่งเนื้อสุกรมาบ้านเรา ซึ่งแคนาดาเองก็ติดประเด็นเรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการปรับสภาพซาก ซึ่งเมื่อธันวาคม 2558 ก็ยังไม่ละความพยายามอีก โดยจะขอส่งผลิตภัณฑ์แฮมจากสุกรมาอีก ปัจจุบันแคนาดาส่งออกสุกรเกือบจะ 70% ของการผลิตทั้งประเทศแล้ว ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สัดส่วนส่งออกเนื้อสุกรแคนาดาเพียง 50% ของการผลิตทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยรวมส่งออกสุกรมีชีวิตกับแปรรูปยังไม่ถึง 5% เลย ด้วยข้อกีดกันที่แอบแฝงมากับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE เรื่องการเป็นพื้นที่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยของไทยที่เป็นสาเหตุของข้อจำกัดต่อการส่งออกเนื้อสุกรของไทย ทำให้เกษตรกรยังได้รับความเสียหายจากราคาที่ผันผวนอยู่เลย ซึ่งถ้าไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิก TPP กลุ่มปศุสัตว์ทั้งสุกรและไก่เนื้อจะถูก เนื้อสุกรเนื้อไก่ราคาถูกจากสหรัฐมาตีตลาดทันที โดยต้นทุนการผลิตสุกรของสหรัฐประมาณ 50% ของต้นทุนการผลิตของไทย โดยดูได้จาก ณ 11 มกราคม 2559
- ข้าวโพด สหรัฐ 5.05 บาทต่อกิโลกรัม ไทย 9.10 บาทต่อกิโลกรัม
- กากถั่วเหลือง สหรัฐ 10.64 บาทต่อกิโลกรัม ไทย 17.25 บาทต่อกิโลกรัม
โดยการใช้เวชภัณฑ์สัตว์สำหรับการผลิตสุกรของไทย เป็นเวชภัณฑ์ที่มาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก
*** ประมาณการความเสียหายทั้งระบบของอุตสาหกรรมสุกรต่อปี ***
1) การค้าสุกรมีชีวิต 15.0 ล้านตัว x 6,500 บาทต่อตัว 97,500,000,000 บาท
2) การค้าเนื้อสุกร 1.0 ล้านตัน x 130 บาทต่อกก. 130,000,000,000 บาท
3) การค้าเวชภัณฑ์สุกรและอุปกรณ์ฟาร์ม 20,000,000,000 บาท
4) ธุรกิจอาหารสัตว์เฉพาะสุกร 15.0 ล้านตัว x 4,200 บาทต่อตัว 63,000,000,000 บาท
รวมประมาณการความเสียหายทั้งระบบ 310,500 ล้านบาทต่อปียังไม่รวมผลกระทบทางสังคมของผู้เลี้ยงสุกร ภาคการจ้างงาน และผลกระทบอีกมหาศาลไปสู่ภาคเกษตรข้าวโพดอาหารสัตว์ ภาคเกษตรข้าวเจ้าที่ผู้เลี้ยงสุกรใช้ By-Product ทั้งรำข้าว ปลายข้าว ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมมหาศาลต่อความผันผวนในราคาของกลุ่มเกษตรกรรมข้าวโพด และข้าวเจ้า
2. 9 ใน 12 ประเทศของภาคีสมาชิก TPPได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไว้แล้วทั้งระดับทวิภาคีและพหูภาคีเช่น AFTA JTEPA โดยทุกคู่เจรจาข้อตกลงมีการพิจารณากรอบการเจรจาการค้าในแต่ละกลุ่มสินค้าชัดเจนที่คำนึงถึงผลได้ผลเสียของประเทศคู่สัญญา ซึ่งจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบกับแต่ละอุตสาหกรรมของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย
มีเพียง 3 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดาและเม็กซิโก ยังไม่บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคีซึ่งในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการเจรจากันไปบ้างแล้ว ซึ่งการผลักดันเขตการค้าเสรีเพื่อประโยชน์รวมของประเทศสามารถใช้ช่องทางระดับทวิภาคีได้ ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะไม่สนใจที่จะเจรจาต่อ หลังมีการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งหลังจากนั้นไทยก็มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีการเจรจาแต่ประการใด โดยสหรัฐกลับมาให้ความสำคัญกับ TPP มากกว่าเพราะสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมกฎเกณฑ์ได้มากกว่า
3. TPP เป็นความตกลงที่มีเงื่อนไขเข้าทางประเทศใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง ที่มีลักษณะเป็นมากกว่าเขตการค้าเสรี เนื่องจากครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่
1) การส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน ซึ่งประเทศใหญ่จะได้เปรียบเรื่องขนาดของทุนและเทคโนโลยี และจากประสบการณ์ เรื่องการเปิดเสรีการลงทุนด้านเกษตรที่เคยมีการหยิบยกในการเจรจา FTA THAI-EU มีการขอสิทธิพิเศษการถือครองหุ้นของบริษัทข้ามชาติถึง 100% และสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทข้ามชาติ (ซึ่งในรายละเอียดถ้ามีการตกลงระหว่างสมาชิก TPP ไว้แล้ว ไทยเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย)
2) การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ใช้เป็นข้ออ้างตลอด ซึ่งไทยเราก็โดนข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้ว ประเทศใหญ่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ในขณะที่เรา หรือประเทศในอาเซียนไม่เคยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประเทศอื่น
3) มาตรฐานแรงงาน ที่ไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาสที่ยังติด TIP Report(Trafficking in Person) Tier 3 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งถือว่าสหรัฐอเมริกาเล่นเกมส์นี้ เพื่อกีดกันสินค้าประมงไทย เพราะเกษตรกรประมงของสหรัฐแข่งขันกับประเทศแถบเอเชียไม่ได้ ซึ่งประเทศในอาเซียนโดนการจัดลำดับลักษณะนี้ไปหลายประเทศ ซึ่งจุดเริ่มก็เป็นการเข้ามาทำข่าวของนักข่าวสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นไปเริ่มกล่าวหาเราใช้แรงงานเด็กก่อน ในโรงงานอาหารทะเลแช่แข็งที่สมุทรสาคร โดยไปทำเป็นสกู๊ปข่าวออกสื่อในสหรัฐ
4) การปกป้องสิทธิทางปัญญา ที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามีสินค้านวัตกรรมที่ถูกละเมิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตลอด เป็นข้อกำหนดที่ปกป้องประเทศใหญ่ชัดเจน (เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขในการลงโทษประเทศที่ฝ่าฝืน) ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติไม่ติดใจประเด็นนี้เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเราก็มีและต้องปกป้องผู้ประดิษฐ์คิดค้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้สอดคล้องกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO - World Intelligent Property Organization) ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก
- ส่วนกรณีที่มองว่าเราอาจถูกประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก้าวหน้ากว่ากรณีไม่เข้าร่วม TPPซึ่งการมองต้องมองจำนวนประชาชนของไทยที่ต้องเสียหายจากการไปร่วมกับกลุ่มเสรีการค้า เพราะเราเองก็สามารถเลือกได้ในลักษณะที่เป็นข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีได้อยู่แล้ว หรือจะผลักดัน ASEAN + 9 ที่จะรวม สหรัฐอเมริกา แคนาดา และรัสเซีย ด้วยก็สามารถทำได้ ซึ่งยังพอสามารถเลือกกรอบการเจรจาได้
สรุปคือเราเลือกได้ แต่ถ้าไปตกลงกลุ่มการค้าเสรีในลักษณะ เหมือนเหมาเข่งที่จะต้องตกกระไดพลอยโจน และเสียเปรียบอย่างใหญ่หลวงกับสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่มีศักยภาพเหนือกว่ามาก ซึ่งเป็นความเสียหายที่รุนแรง และปิดฉากยุทธศาสตร์ “ครัวของโลก” ของไทยโดยสิ้นเชิง โดยไม่เหลืออุตสาหกรรมที่เข้มแข็งที่จะดำรงความเป็นชาติในทางเศรษฐกิจได้เลย
5.การเจรจาการค้าเสรีใดๆ ก็ตามถ้าประเทศสมาชิก หรือคู่เจรจา มีอุตสาหกรรมหลักเหมือนกัน ในขณะที่อีกประเทศเข้มแข็งกว่าชัดเจนเพราะปัจจัยด้านการผลิตต่างภูมิภาค จะไม่มีการเจรจากรอบการค้าในกลุ่มสินค้านั้นเด็ดขาดซึ่ง TPP ถือว่าเป็น Preferential zoneที่การเจรจารอบอุรุกวัยห้ามทำมาจากเหตุผลซึ่งขัดกับหลักการประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most favoured nation: MFN)
ในประเด็น TPP มีกรอบการค้ากลุ่มปศุสัตว์และเกษตรพืชไร่ชัดเจน ถึงแม้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะยังไม่เห็นกรอบการเจรจากลุ่มสินค้าตามข้อตกลงของ TPP แต่จากข่าวที่ออกแสดงความยินดีของผู้เลี้ยงสุกรทั้งสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ตลอดจนองค์กรผู้เลี้ยงทั้ง 2 ประเทศ ทั้ง National Pork Producer Council ของสหรัฐอเมริกา และ Canadian Pork Council ของแคนาดา เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
6. สำหรับกรอบการเจรจา RCEP เมื่อมีข่าว TPP มีความชัดเจนแล้วเชื่อว่าจะทำให้จีนเริ่มรุกผลักดันให้กรอบ RCEP ให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้นน่าจะสำเร็จภายในปี 2560 เพราะตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องภาษีภาคบริการแล้ว ซึ่งจะอยู่ในรูปของการลดภาษี โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอสนับสนุน RCEP มากกว่า เพราะความใกล้เคียงกันของศักยภาพการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งจะผลักดันให้มีการแข่งขันด้านการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิก ที่มียังระยะเวลาพอที่แต่ละประเทศจะปรับตัว ประกอบกับข้อหนึ่งของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการให้ความช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิก RCEP จึงเป็นองค์การทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากกว่า ดีกว่าที่จะปล่อยให้ประเทศที่แข็งแกร่งกว่าในภูมิภาคอื่นๆ มาทำลายประเทศในภูมิภาคเดียว
7. รัฐบาลโดยท่านรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์กำลังผลักดัน 1 ตำบล 1 SME ภาคเกษตร ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก.กำลังศึกษาผลักดันสหกรณ์การเกษตรสู้ AEC หนุนขยายธุรกิจ ปรับโครงสร้าง พัฒนาการผลิตซึ่งจะไม่เป็นการสอดคล้องกับทั้ง 2 แผนนี้ของรัฐบาล ถ้ามีการเดินหน้าไปร่วมเป็นภาคี TPP ที่เป็นความเสี่ยงต่อภาคเกษตรอย่างมหาศาล ซึ่งมีประชากรของประเทศเกี่ยวข้องจำนวนมาก การเข้าร่วม TPP เท่ากับนโยบายทั้งสองของรัฐบาลตามหัวข้อนี้จะยุติทันที
โดยประเด็นการพิจารณาร่วมหรือไม่ร่วมเป็นภาคี TPP รัฐบาลต้องใช้การพิจารณาในลักษณะ Relative gain มิใช่ Absolute gain เพราะประเทศไทยยังมีทางเลือกคือ RCEP ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจรายกลุ่มสินค้าที่ไม่เสียเปรียบได้เปรียบกันมากจนอาจจะก่อผลเสียหายต่อประชาชนของระหว่างประเทศสมาชิก
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
14 มกราคม 2559
------เอกสารที่แจกให้ผู้เข้าประชุม 14 มกราคม 2559 ---------
ความตกลง Trans-pacific Partnership (TPP)
1. ข้อเท็จจริง
1.1 ความตกลง TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งในด้านการเป็นตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตลอดจนการปฺฏิรูป (Reform) และการสร้างความสอดคล้อง (Harmonization) ในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ
1.2 สมาชิกความตกลง TPP มีจำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ซิลี เปรู เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ในจำนวนนี้มี 3 ประเทศที่ไทยังไม่มีความตกลงการค้าเสรีด้วย คือ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก
2. ภาพรวมทางเศรษฐกิจของ TPP และภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับ TPP
2.1 ขาดเศรษฐกิจของ TPP ความตกลง TPP ถือเป็นความตกลงระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดครอบคลุมการค้าโลกประมาณร้อยละ 40ด้วยมูลค่าการค้าเฉลี่ยประมาณ 295,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดย GDP รวมของทั้ง 12 ประเทศ มีมูลค่า 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น38% ของ GDP โลก และมีประชากรรวม 800 ล้านคน คิดเป็น 11% ของประชากรโลก
2.2 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก TPP ในปี 2557 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก TPP มีมูลค่า 175,391 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 38.5% ของการค้ารวมของไทย ไทยส่งออกไปตลาด TPP มูลค่า 91,990 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 40.4% ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิก TPP มูลค่า 83,401 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 36.6% ของการนำเข้าไทยจากโลก
ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2558 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก TPP มีมูลค่า 138,489 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 39.5%ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไปตลาด TPP มูลค่า 74,403 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 41.3% ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิก TPP มูลค่า 64,086 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 37.6% ของการนำเข้าไทยจากโลก
3. สถานะปัจจุบันของความตกลง TPP
3.1 สรุปผลความตกลง TPP เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
3.2 เผยแพร่ข้อบทความตกลง (Full Text) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยสมาชิกทุกประเทศจะต้องดำเนินกระบวนการภายในก่อนลงนาม และกำหนดวันใช้บังคับความตกลงต่อไป
3.3 ล่าสุด ประเทศสมาชิก TPP ได้ประกาศว่าจะร่วมกันลงนามความตกลงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ประเทศนิวซีแลนด์
4. ขอบเขตความตกลง TPP
ความตกลง TPP มีประเด็นเจรจารวมทั้งสิ้น 30 ข้อบท ประกอบด้วย (1) ความจำกัดความทั่วไป (2) การค้าสินค้า (3) กฎถิ่นกำเนินสินค้าสำหรับรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (4) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า (5) การบริหารจัดการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (6) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (7) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (8) มาตรการเยียวยาการค้า (9) การลงทุน (10) การบริการข้ามพรมแดน (11) บริการด้านการเงิน (12) การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ (13) โทรคมนาคม (14) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (15) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (16) นโยบายการแข่งขัน (17) รัฐวิสาหกิจ (18) ทรัพย์สินทางปัญญา (19) แรงงาน (20) สิ่งแวดล้อม (21) ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ (22) ความสามารถในการแข่งขันและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (23) การพัฒนา (24) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (25) ความสอดคล้องของกฎระเบียบ (26)ความโปร่งใสและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (27) การบริหารจัดการและสถาบัน (28) การระงับข้อพิพาท (29) ข้อยกเว้น และ (30) บทสรุป รวมทั้งภาคผนวก (Annexes) ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิก (Bilateral Agreements) และหนังสือแนบท้ายความตกลง (Side letter) ของแต่ละประเทศ
- เงื่อนไขในการบังคับใช้ความตกลง TPP
5.1 ภายใน 2 ปีนับจากที่ประเทศสมาชิกลงนามความตกลง TPP (4 ก.พ.2561) ทุกประเทศต้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศของตนเพื่อให้สัตยาบัน และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยความตกลง TPP จะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันหลังจากที่ประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้แจ้งการให้สัตยาบันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบสัตยาบันสาสน์และผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา (Depositary)
5.2 ในกรณีที่ประเทศสมาชิก TPP บางประเทศไม่สามารถให้ส้ตยาบันภายใน 2 ปี จะต้องมีประเทศที่แจ้งให้สัตยาบันแล้วอย่างน้อย 6ประเทศ และมี GDP รวมกันเกินกว่าร้อยละ 85 ของ GDP ประเทศสมาชิก TPP ทั้งหมด ความตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดการลงนามความตกลงฯ 2 ปี
5.3 ในกรณีที่ประเทศสมาชิก TPP ยังให้สัตยาบันไม่ครบ 6 ประเทศ และ GDP รวมกันไม่ถึงร้อยละ 85 ภายในระยะเวลา 2 ปี : จะต้องรอจนกว่าจะมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศแจ้งให้สัตยาบัน และ GDP รวมกันต้องเกินกว่าร้อยละ 85 โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประเทศสมาชิกลำดับที่ 6 แจ้งให้สัตยาบันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเป็นเวลา 60 วัน
6. กระบวนการสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของ TPP
6.1 ประเทศที่จะสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของ TPP จะต้องเป็นสมาชิกเอเปค หรือ ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกความตกลงTPP โดยจะต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ยื่นหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบสัตยาบันสาสน์และผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา (Depositary)
(2) จะต้องเจรจาทวิภาคีเพื่อจ่ายค่าผ่านประตูกับประเทศสมาชิก TPP ตามที่แต่ละประเทศเรียกร้อง และจะต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้งหมดในการยอมรับการเข้าเป็นสมาชิก
(3) ไม่สามารถเจรจาต่อรองปรับแก้ไขข้อบทความตกลง TPP ที่สมาชิก TPP ได้ลงนามแล้ว
6.2 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลง TPP ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และคอสตาริกา
7. การดำเนินการที่ผ่านมาของไทย
7.1 ไทยประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
7.2 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาการจัดทำความตกลง TPP (สถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา) เพื่อศึกษากลยุทธ์การเจรจาทั้งสินค้าและบริการ ผลกระทบและการเตรียมความพร้อมของไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มกราคม 2559
...................................
สำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มกราคม 2559