กกร.ร่วมเอกชนแจงการดำเนินการภาคเอกชนในการแก้ปัญหาประมงและค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

กกร.ร่วมเอกชนแจงการดำเนินการภาคเอกชนในการแก้ปัญหาประมงและค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

15 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่วมเอกชน (กกร) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย 8 สมาคม  ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงนอกน่านไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งสมาชิกแต่ละสมาคมเป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานการประมง ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดดังกล่าว มีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรฐานสากลทั้งด้านการทำประมงและการผลิตสินค้าประมงในห่วงโซ่อย่างถูกต้อง ยั่งยืน และปราศจากการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการเอาเปรียบแรงงาน โดยแต่ละองค์กรได้ดำเนินการ ดังนี้

        1. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศนโยบายและขับเคลื่อนสนับสนุนสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกให้ดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งปฏิบัติของรัฐบาล
        2. แต่ละสมาคมได้ประกาศจุดยืนและนโยบายให้สมาชิกดำเนินธุรกรรมให้ถูกต้องตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และไม่ซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากเรือ หรือแหล่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการปนเปื้อน IUU Fishing หรือมีปัญหาด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หากพบมีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะขับออกจากการเป็นสมาชิกทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมในการส่งออกได้
        3. ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) และกระทรวงแรงงานในการจัดทำและให้ความรู้เรื่องแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labor Practices) ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน
         4. ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (NGO) ในการให้ความรู้กับสมาชิก และแรงงานในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม อาทิ ด้านการศึกษา สร้างโรงเรียน การว่าจ้างครู และการจัดอบรมสัมมนา เป็นต้น
        5. ร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐในการออกมาตรการและการจัดทำเอกสารควบคุมการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของสินค้าทุกประเภท โดยภาคการเลี้ยงจะต้องมีหนังสือรับรองการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ (Movement Document: MD) และภาคการจับจากธรรมชาติ จะต้องมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document: MCPD) รวมทั้ง การนำเข้าและส่งออกสินค้าประมงทุกประเภทจะต้องมีเอกสารกำกับที่สามารถตรวจสอบได้
        6.  สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ตามหลักการสากล UNCLOS 1982 และ FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries
        7. สนับสนุนพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และแผนการบริหารจัดการประมงทะเล
ของประเทศไทย / นโยบายแห่งชาติด้านการจัดการประมงทะเล พ.ศ.2558
        8. แต่ละสมาคมได้ดำเนินการสำรวจและแก้ไขจุดอ่อน รวมถึงปัญหาของสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าทั้งหมดที่ผลิตออกมาจะต้องไม่มีปัญหาการปฏิบัติที่ผิดจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 / IUU Fishing / พระราชบัญญัติแรงงาน อาทิ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้ยกเลิกการใช้สถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นจากภายนอกโรงงานแล้ว เป็นต้น

 ที่มา :  Corporate Communication Department (The Thai Chamber of Commerce and Board of Trade of Thailand)

Visitors: 396,914