ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกร
ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกร
โดย รศ.น.สพ.ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกรในเมืองไทย ปัญหาหลักคือ สุกรไม่ยอมแสดงอาการเป็นสัด หรือไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อถึงอายุ และเป็นสัดเงียบ นอกจากโรคภัยไข้เจ็บจะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวแล้ว สภาพดินฟ้าอากาศยังมีผลโดยตรง
รศ.น.สพ.ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเรื่อง “ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกร” ในรายการสัตวแพทย์สนทนา ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU RADIO FM 101.5 MHz, ว่า
สุกรเพศผู้ทำหน้าที่ผลิตน้ำเชื้อ อายุ 6-7 เดือนเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สามารถฝึกเป็นพ่อพันธุ์ได้เป็นขั้นเป็นตอน จนอายุ 1 ปีเต็มจะสามารถทำงานได้เต็มที่ คือ สามารถผลิตน้ำเชื้อ และนำน้ำเชื้อ มาใช้ในการผสมเทียม และผสมธรรมชาติหรือผสมจริงซึ่งวันนี้มีน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นการผสมเทียมเกินกว่า 90%
ในส่วนตัวเมียอายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ 6 เดือนขึ้นไป โดยสุกรสาวทดแทนน้ำหนักจะประมาณ 100 กิโลกรัม เมื่อรับสุกรสาวทดแทนเข้ามาจะใช้สุกรตัวผู้กระตุ้นให้สุกรสาวแสดงอาการเป็นสัด
การแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรกเป็นการแสดงการยอมรับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ โดยจะยืนตัวเกร็ง ยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับบนหลัง หรือยอมให้คนขึ้นไปนั่งขี่ได้ อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออายุ 6-7 เดือน ซึ่งต้องสังเกต และดูแลโดยผู้ที่มีประสบการณ์ จึงจะตรวจจับอาการได้ เมื่อพบอาการเช่นนี้ให้ทำการจดบันทึกการเป็นสัดครั้งแรกไว้ก่อน
ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการจะยังไม่แนะนำให้เกษตรกรผสมพันธุ์สุกร เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ว่าการผสมพันธุ์ตั้งแต่เป็นสัดครั้งแรก สุกรจะให้ผลผลิตที่ไม่ค่อยดีนัก อัตราการผสมติดไม่ดี ที่สำคัญคือลูกไม่ดก สุกรจะแสดงอาการเป็นสัด 2-3 วันโดยเฉลี่ย แล้วจากช่วงอาการการเป็นสัดสิ้นสุดลง 20-21 วัน สุกรจะกลับมาเป็นสัดอีก นี่คือ 1 รอบการเป็นสัดครบ 1 ระยะ
“ก่อนหน้าที่จะเป็นสัดหรือยืนนิ่ง ตัวเมียจะแสดงอาการนำมาก่อน โดยจะกระวนกระวาย บางครั้งพบว่าเริ่มเบื่ออาหาร ที่สำคัญเห็นตัวผู้เดินมาจะแสดงท่าทางสนใจ เราจะทำการทดสอบอาการอย่างใกล้ชิดทั้งเช้าและเย็นจนกระทั่งพบว่าสุกรเริ่มยืนนิ่งยอมรับการผสม ทันทีที่พบอาการนี้จะกำหนดระยะเวลาการผสมพันธุ์ ถ้าผสมธรรมชาติให้นำตัวผู้เข้าไปอยู่รวมกับตัวเมียให้ขึ้นผสมได้ แต่เนื่องจากตัวผู้มีความก้าวร้าวอาจจะเกิดอันตรายกับผู้เลี้ยงได้ ปัจจุบันนิยมผสมเทียมโดยนำน้ำเชื้อผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นน้ำเชื้อเพื่อใช้ในการผสมเทียม” รศ.น.สพ.ดร.เผด็จกล่าว
รศ.น.สพ.ดร.เผด็จกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกรที่พบจากการทำวิจัยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ สุกรไม่ยอมแสดงอาการเป็นสัด หรือยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อถึงอายุ โดยไม่มีท่าทียอมรับการผสม สัตว์บางตัวไม่แสดงอาการเป็นสัด แต่มีการตกไข่ มีการทำงานของระบบสืบพันธุ์โดยไม่แสดงอาการเป็นสัดให้เห็น เรียกว่าการเป็นสัดเงียบ
สาเหตุที่เกี่ยวข้องหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องโรค คือ ดินฟ้าอากาศ เมืองไทยอากาศค่อนข้างอบอ้าว ฝนตกบ่อย ความชื้นสูง อุณหภูมิสูง เกินกว่า 30 องศาเซลเซียส จะเป็นผลทางลบกับการแสดงอาการเป็นสัดของสุกร เพราะฉะนั้นเมืองไทยจะพบปัญหาการไม่แสดงอาการเป็นสัดค่อนข้างมาก
นอกจากนั้นกลุ่มที่แสดงอาการเป็นสัดปกติแล้วสามารถผสมพันธุ์ได้ แต่ผสมไม่ติด ผสมไปแล้วสุกรแสดงอาการเป็นสัดกลับมาภายใน 20 วัน ซึ่งเรียกว่ากลับสัดตรงรอบ บางครั้งเหมือนผสมติดสุกรไม่แสดงอาการเป็นสัดใหม่ภายใน 20 วัน แต่เมื่อผ่านไป 30-40 วันกลับมาเป็นสัด เรียกว่าการกลับสัดไม่ตรงรอบ ซึ่งจะมีการตั้งสมมุติฐานว่ามีการผสมติด มีการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่แต่อาจจะไม่แข็งแรง หรือมีจำนวนตัวอ่อนน้อย ทำให้สัตว์ตัวนั้นไม่สามารถตั้งท้องได้เป็นปกติ ทำให้ฟาร์มเสียวงรอบการผลิตไป
จากปัญหาข้างต้น มีการทดสอบ โดยทำการเช็คประวัติชั่งน้ำหนักเป็นรายตัว และทำการเก็บการเก็บอุจจาระมาตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนซึ่งจะทำให้ทราบว่าสุกรตัวนั้นตกไข่หรือยัง ซึ่งก่อนที่จะตกไข่จะไม่พบฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนในเลือดหรืออุจจาระเลย ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนตรวจได้ทั้งในเลือดอุจจาระ ตลอดจนสิ่งคัดหลั่งน้ำลาย ปัสสาวะ
มีการทำวิจัยดังกล่าว 2 ปี ซึ่งก็ได้คำตอบว่าสุกรเพศเมียพันธุ์นิยมเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยคือลูกผสมระหว่างแลนด์เรซกับยอร์กเซียร์ จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 194 วัน ถ้าสุกรเป็นสัดหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติมากขึ้น จะนำมาซึ่งการคัดทิ้งก่อนเวลาอันสมควร
ขั้นตอนแรกที่แนะนำให้เกษตรกรแก้ปัญหา คือ การจดบันทึกประวัติของสุกรสาวแต่ละตัวเมื่อเข้ามาถึงฟาร์มต้องรู้อายุที่แน่นอน ซึ่งแนะนำให้สุกรสาวสัมผัสพ่อที่อายุ 160-165 วัน เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด หากสัมผัสพ่อช้าก็จะทำให้การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าด้วย
นอกจากนี้เกษตรกรต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีคุณภาพในการกระตุ้นการเป็นสัด มีการวิจัยที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสุกรเพศเมีย เลือกตอบสนองสุกรเพศผู้แต่ละตัวไม่เท่ากัน การทดลองในออสเตรเลียยืนยันว่าการใช้พ่อตัวเดิมตัวเดียวตรวจการเป็นสัด หรือสัมผัสตัวเมียต่อเนื่อง ใน 100 ตัว จะพบ 10-20 ตัวไม่ตอบสนองเลย เมื่อเปลี่ยนพ่อตัวเมียที่ไม่ตอบสนอง กลับตอบสนอง และเมื่อเพิ่มพ่อเข้าไปสัดส่วนตัวเมียที่ตอบสนองต่อตัวผู้จะมากขึ้น
สำหรับขบวนการตรวจสอบการเป็นสัดในต่างประเทศมีการออกแบบโรงเรือนเพื่อให้ตัวเมียเดินไปหาตัวผู้ ตัวผู้ยืนเฉยๆ 4-5 ตัว ยืนล้อมรอบตัวเมีย ตัวเมียยืนอยู่ตรงกลาง การทำเช่นนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการเหนี่ยวนำ หรือกระตุ้นการเป็นสัดในตัวเมีย ซึ่งเมืองไทยไม่ลงทุนในตรงนี้ มองว่าไม่เห็นผลประโยชน์ที่จะได้โดยตรง
สำหรับปัญหาในการคลอดขึ้นอยู่กับการเตรียมสุกรสาวตั้งแต่เริ่มต้น ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ประเมินว่าตัวใหญ่พอที่จะเป็นแม่แล้วหรือยัง เพราะสุกรคลอดลูกครั้งหนึ่ง 10-15 ตัวโดยเฉลี่ย ซึ่งจะต้องเลี้ยงลูกต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ ร่างกายต้องมีความพร้อมมาก ต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวในช่วงเริ่มผสมพันธุ์ ในต่างประเทศแนะนำให้ผสมที่น้ำหนัก 160 กิโลกรัมขึ้นไป
ในขณะที่เมืองไทยยังไม่ให้ความสำคัญมากนักในเรื่องน้ำหนักตัวในการผสมครั้งแรก บางฟาร์มผสมสุกรที่น้ำหนักตัวไม่มาก ซึ่งจะมีปัญหาการคลอดตามมา เพราะสุกรที่น้ำหนักไม่มากเชิงกรานจะแคบถ้าลูกในท้องตัวใหญ่ก็จะมีปัญหาคลอดยาก คลอดไม่ออก เป็นปัญหาทางสรีระ ซึ่งปัญหาในลำดับถัดไปเมื่อคลอดออกมาแล้ว ปริมาณน้ำนมอาจจะไม่เพียงพอ
ในส่วนของปัญหาพ่อพันธุ์ พ่อพันธุ์เลี้ยงไว้เพื่อผลิตน้ำเชื้อเพื่อผสมเทียม สาเหตุหลักที่จะหยุดใช้หรือคัดทิ้งพ่อพันธุ์คือ ไม่สามารถรีดน้ำเชื้อได้ มีความสามารถในระบบสืบพันธุ์ต่ำ โดยพ่อพันธุ์ที่มีความกำหนัดต่ำๆ จะไม่ขึ้นดัมมี่ ซึ่งก็จะรีดน้ำเชื้อไม่ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าคุณภาพน้ำเชื้อไม่ดี และยังพบปัญหาเรื่องขา ขาเจ็บ ข้ออักเสบ ขาอักเสบ กีบเจ็บ เนื่องจากต้องรับน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ไม่สามารถทำงานได้ปกติ ในต่างประเทศมีการควบคุมน้ำหนักพ่อพันธุ์อย่างเข้มข้น ไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะสามารถยืดอายุการใช้งานของพ่อพันธุ์ได้
รศ.น.ส.พ.ดร.เผด็จ กล่าวต่อว่า เนื่องจากวันนี้การผสมเทียมเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการผลิตสุกร เพราะฉะนั้นความสำคัญของพ่อสุกรมากขึ้นจากเดิมที่เลี้ยงพ่อสุกร 1 ตัวต่อแม่สุกร 15-20 ตัว ปัจจุบันพ่อสุกร 1 ตัว จะใช้น้ำเชื้อเพื่อผสมเทียมสามารถควบคุมดูแลแม่สุกรได้ถึง 100 ตัว เช่นฟาร์มขนาด 1,000 แม่ มีพ่อสุกร 10 ตัวก็เพียงพอกับการผลิตน้ำเชื้อ
สิ่งที่ต้องทำในการรีดน้ำเชื้อคือการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อหลังรีด เริ่มจากการตรวจด้วยตาเปล่า น้ำเชื้อที่ออกมาต้องมีปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยพ่อพันธุ์สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ครั้งหนึ่งประมาณ 250 ซีซี บางตัวถึง 400 ซีซี นอกจากนี้ต้องดูลักษณะทั่วไป เช่น สีต้องมีสีขาว
และมีความจำเป็นต้องส่งน้ำเชื้อที่รีดได้ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการวิ่งได้ของน้ำเชื้อ โดยน้ำเชื้อต้องวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างน้อย 60% ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ ถ้าวิ่งได้ 80% ขึ้นไปคุณภาพดีมาก ถ้าต่ำกว่า 60% ไม่เหมาะสมที่จะนำมาผสมเทียม
นอกจากนี้ต้องมีการสุ่มตัวอย่างเก็บน้ำเชื้อแต่ละครั้งมาย้อมสีตรวจรูปทรงของตัวอสุจิ ซึ่งการตรวจจะบ่งชี้พยาธิสภาพของพ่อสุกรตัวนั้น เพราะฉะนั้นการทำในลักษณะนี้จะทำให้สามารถติดตามคุณภาพได้ ซึ่งทันทีที่เห็นความผิดปกติก็ทำการรักษาให้เหมาะสม เพื่อให้พ่อพันธุ์ สามารถผลิตน้ำเชื้อที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง
รศ.น.ส.พ.ดร.เผด็จ กล่าวต่อว่า การผสมเทียมเกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว ขบวนการผสมเทียมทำให้เราสามารถเก็บรักษา หรือยืดอายุการใช้งานของน้ำเชื้อได้หลังจากการหลั่งได้ 3-5 วันอย่างน้อย แต่ถ้าใช้น้ำยาละลายคุณภาพดีจะสามารถเก็บน้ำเชื้อได้ 1-2 สัปดาห์ ทำให้น้ำเชื้อที่ผลิตได้แต่ละครั้งมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น
สำหรับข้อดีของการผสมเทียมที่เห็นได้ชัดคือ ลดการนำโรคจากพ่อสู่แม่ ลดความเสี่ยงจากความก้าวร้าวของพ่อสุกรลง และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเชื้อให้คุ้มค่ามากขึ้น
สำหรับน้ำเชื้อแช่แข็ง จะทำให้เก็บน้ำเชื้อได้นานเป็นปี ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องน้ำเชื้อแช่เข็งในพ่อสุกรมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วน้ำเชื้อของพ่อสุกรมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ช็อคง่าย ตายง่าย การผสมเทียมที่เกิดจากน้ำเชื้อแช่แข็งในพ่อสุกรไม่ค่อยดีนัก
การผสมโดยใช้น้ำเชื้อสด หรือผสมธรรมชาติ จะมีอัตราการผสมติดสูงถึง 85-90% ส่วนน้ำเชื้อแช่แข็งมีอัตราการผสมติด 40-50% เท่านั้น ทำให้อุตสาหกรรมการผสมเทียมทั้งโลกยอมรับน้ำเชื้อสดมากกว่าน้ำเชื้อแช่แข็ง
แต่ก็ยังมีความพยายามหาแนวทางในการแช่แข็งน้ำเชื้อสุกรให้มีประสิทธิภาพดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งหลายๆ ขั้นตอนการทดลองทำให้น้ำเชื้อแช่แข็งสุกรดีขึ้น ล่าสุดมีอัตราการผสมติดสูงถึง 70% ลูกต่อครอกประมาณ 8-9 ตัว ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ผ่านมา แต่ยังไม่ดีเท่ากับการใช้น้ำเชื้อสดหรือการผสมธรรมชาติ ยังมีช่องว่างให้เราค่อยๆ พัฒนาต่อไป ซึ่งในอนาคตหวังว่าน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรจะเข้ามาทดแทนน้ำเชื้อสดได้ดีขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดทิ้งพ่อแม่พันธุ์มี 2 เรื่อง คือ คัดทิ้งตามเกณฑ์ที่ควรจะคัดทิ้ง หรือคัดทิ้งตามอายุ แม่สุกรโดยทั่วไปจะให้ผลผลิตดีที่สุดในช่วงท้อง 3-5 เมื่อถึงท้อง 5 จะมีการประเมินผลผลิต เมื่อถึงท้อง 6 จะเริ่มทยอยคัดทิ้ง สำหรับพ่อพันธุ์อาจจะอยู่ได้ 3-5 ปี หลังจากนั้นจะดูคุณภาพน้ำเชื้อว่าอยู่เกณฑ์คงที่หรือเริ่มลดลง ถ้าลดลงจะทยอยคัดทิ้ง
มีงานวิจัยเกี่ยวกับการคัดทิ้งพ่อแม่พันธุ์ก่อนวัยอันสมควร ระบุว่าสำหรับปัญหามาจากระบบสืบพันธุ์เป็นอันดับ 1 ปัญหาขาเจ็บเป็นอันดับ 2 สำหรับปัญหาจากระบบสืบพันธุ์แยกย่อยเป็นหลายสาเหตุ เช่น มดลูกเป็นหนอง แท้ง ผสมติดยาก เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ
สำหรับโรคที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ PRRS ทำให้เกิดการแท้ง โดยเฉพาะการแท้งระยะท้าย ทำให้สุขภาพแม่ไม่ดีผสมติดยาก ในขณะที่พ่อพันธุ์ไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าติดโรคนี้ก็สามารถส่งผ่านโรคไปทางน้ำเชื้อทำให้ตัวเมียติดโรคได้
โรคพาร์โวไวรัส ทำให้ตัวอ่อนตายจนถึงคลอด, โรคเซอร์โคไวรัส ไทป์ 2 ทำให้เกิดการตายของตัวอ่อน ถ้ารุนแรงจะทำให้เกิดการแท้งได้
โรคเหล่านี้เป็นไวรัส การป้องกันแนะนำให้เกษตรกรทำวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ต้องมีการเจาะเลือดตรวจสำรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีวัคซีนใดที่ได้ผล 100% ซึ่งสุกรที่เลี้ยงเป็นกลุ่มใหญ่ผลการทำวัคซีนคาดเดายาก
ทั้งนี้ต้องมีการเข้มงวดมาตรการการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เข้มงวดกับรถขนสุกร และไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์มหรือสัมผัสตัวสุกร เพื่อลดความเสี่ยง