นายกหมูฟันธง! อย่าหลงไหลกับ TPP เพราะอเมริกากับแคนาดากำลังดิ้นสุดๆ หลักถูกเกษตรกรทั้งสองประเทศบีบอย่างหนัก

นายกหมูฟันธง! อย่าหลงไหลกับ TPP เพราะอเมริกากับแคนาดากำลังดิ้นสุดๆ หลักถูกเกษตรกรทั้งสองประเทศบีบอย่างหนัก

3 พฤศจิกายน 2558 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ -นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว VoiceTV ถึงการไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกลุ่ม TPP หรือ Trans Pacific Partnership เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมสุกรไทยจะตายทันที

          ทั้งความตกลง TPP และ RCEP จะส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงหรือเป็นศูนย์

          แต่ TPP เป็นความตกลงที่มีเงื่อนไขเข้าทางประเทศใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง ที่มีลักษณะเป็นมากกว่าเขตการค้าเสรี เนื่องจากครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่

  • การส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน ซึ่งประเทศใหญ่จะได้เปรียบเรื่องขนาดของทุนและเทคโนโลยี
  • การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ใช้เป็นข้ออ้างตลอด ซึ่งไทยเราก็โดนข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้ว ประเทศใหญ่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ในขณะที่เรา หรือประเทศในอาเซียนไม่เคยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประเทศอื่น
  • มาตรฐานแรงงาน ที่ไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาส ที่ยังติด Tier 3 ซึ่งถือว่าสหรัฐอเมริกาเล่นเกมส์นี้ เพื่อกีดกันสินค้าประมงไทย เพราะเกษตรกรประมงของสหรัฐแข่งขันกับประเทศแถบเอเชียไม่ได้ ซึ่งประเทศในอาเซียนโดนการจัดลำดับลักษณะนี้ไปหลายประเทศ ซึ่งจุดเริ่มก็เป็นการเข้ามาทำข่าวของนักข่าวสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นไปเริ่มว่าเราใช้แรงงานเด็กก่อน
  • ตลอดจนการปกป้องสิทธิทางปัญญา ที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามีสินค้านวัตกรรมที่ถูกละเมิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตลอด เป็นข้อกำหนดที่ปกป้องประเทศใหญ่ชัดเจน
  • อีกทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขในการลงโทษประเทศที่ฝ่าฝืน นี่ก็สร้างบทลงโทษเข้าทางประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกาอีก

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขเหล่านี้เข้าทางประเทศใหญ่ทั้งหมด ส่วนกรณีที่มองว่าเราอาจถูกประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก้าวหน้ากว่ากรณีไม่เข้าร่วม TPP ซึ่งการมองต้องมองจำนวนประชาชนของไทยที่ต้องเสียหายจากการไปร่วมกับกลุ่มเสรีการค้า เพราะเราเองก็สามารถเลือกได้ในลักษณะที่เป็นข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีได้อยู่แล้ว สรุปคือเราเลือกได้ แต่ถ้าไปตกลงกลุ่มการค้าเสรีในลักษณะ เหมือนเหมาเข่งที่จะต้องตกกระไดพลอยโจน เสียเปรียบกับบ้างประเทศที่มีศักยภาพเหนือกว่ามาก

ในขณะที่อุตสาหกรรมสุกรอเมริกา ที่มีองค์กรอย่าง NPPC หรือ National Pork Producer Council พยายามผลักดัน TPP มาตลอดเพราะการผลิตสุกรในอเมริกากว่า 10 ล้านตันต่อปี บริโภคเอง 8 ล้านตันต่อปี ส่งออกประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี ไทยเรายังส่งออกไม่ได้ ในขณะที่หมูจากสหรัฐอเมริกามีต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก

ข้าวโพดอเมริกาต่อกิโลกรัม 5 บาทต้นๆ ในขณะที่ไทยตอนนี้ประมาณ 8.50 บาท  ต้นทุนกากถั่วเหลืองของอเมริกาตอนนี้ประมาณต่อกิโลกรัม 11.20 บาทในขณะที่ไทย 17.25 บาทต่อกิโลกรัม

และตั้งแต่สิงหาคม 2557 ทั้งอเมริกาและแคนาดาถูกรัสเซียระงับนำเข้าสินค้าเกษตร รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศถูกเกษตรกรและเอกชนบี้อย่างหนักให้ผลักดัน TPP ให้มีประเทศเป้าหมายร่วมให้มากที่สุด โดยเฉพาะในแถบเอเชีย  

เกษตรกรสุกรของแคนาดาที่มี Canadian Pork Council ดูแล ที่ผลิตเนื้อสุกรประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี และส่งออกประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี เกษตรกรเขายิ่งได้รับผลกระทบหนักมากขึ้น หลังถูกรัสเซียตอบโต้การบอยคอต โดยห้ามนำเข้าสินค้าเกษตร แคนาดาก็ถูกเกษตรกรกดดันเช่นกัน

“นี่คือสาเหตุใหญ่ๆ ที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาให้ดีว่าจะมีเกษตรกรไทยล้มตายจากอาชีพไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุกรไทยจะตายก่อนเพื่อน” นายสุรชัยกล่าวฝากถึงรัฐบาลไทย

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย นายสุรชัยแนะให้เลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด เพราะอเมริกายังคงใช้ Ractopamine ที่เป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายไทย ซึ่งถือเป็นเกาะป้องกันการเข้ามาของเนื้อสุกรจากอเมริกา

ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

Visitors: 397,114