กำไรที่หาได้ง่ายจากระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) จริงหรือ?
กำไรที่หาได้ง่ายจากระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) จริงหรือ?
โดย น.สพ.มงคล ลำไย (หมอเอก)
พอได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคในสุกรต่างๆ ท่านจะเห็นว่าสุดท้าย แนวทางป้องกันโรคเหล่านั้นเหมือนกันหมดก็คือ ระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) พูดง่ายน่ะครับ!! แต่ถ้าเราจะทำให้เกิดขึ้นจริงจัง มันก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป บางครั้งเจ้าของฟาร์มอาจมองไม่เห็นภาพว่ามันสำคัญแค่ไหน ช่วยลดต้นทุนค่ายา วัคซีน วิตามิน เกลือแร่ ในทางอ้อมได้อย่างไร จึงมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร รวมไปถึงคนปฏิบัติงานระดับพนักงาน ดังนั้นเราต้องเริ่มทำความเข้าใจกันก่อนเลยว่า
“ระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity)” มันคืออะไร ทำอย่างไร สำคัญแค่ไหน???
ระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) คือ การกำหนดกฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติสำหรับฟาร์ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไม่ว่าจะมาจากภายนอกฟาร์มเข้าสู่ภายในฟาร์ม หรือป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระหว่างหน่วยงานการผลิตกันเองภายในฟาร์ม ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลาเกิดโรคใหม่ขึ้นในฟาร์ม มักจะเริ่มจากที่มีการระบาดของเชื้อโรคภายนอกฟาร์มก่อนเป็นอันดับแรก ฟาร์มที่มีระบบป้องกันทางชีวภาพที่ไม่ดีพอ สุดท้ายโรคระบาดที่อยู่ภายนอกฟาร์มก็จะเข้ามาภายในฟาร์ม และพบว่าส่วนใหญ่เวลาเชื้อโรคเข้ามาก็มักจะเริ่มเกิดที่หน่วยการผลิตใดผลิตหนึ่งก่อน เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยมักจะเกิดโรคในหน่วยสุกรขุนใหญ่ ถ้าการวางระบบป้องกันทางชีวภาพภายในฟาร์มไม่ดีพอ ก็จะพบว่ามีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกหน่วยการผลิตภายในฟาร์ม ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะจุดเสี่ยงที่สำคัญที่ท่านเจ้าของฟาร์มต้องระวังเป็นพิเศษ และกลับไปดูฟาร์มตัวเองก่อนว่ามีมาตรการที่เข้มงวดพอหรือยัง
จุดที่ 1 เล้าขาย คือจุดที่เสี่ยงที่สุดแล้วที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม ผลจากการศึกษาข้อมูลหลายๆ ที่พบว่าเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มผ่านทางเล้าขายมากกว่า 90% เนื่องมาจากรถลูกค้าที่มาซื้อสุกร โดยเฉพาะรถซื้อสุกรคัดทิ้ง รถลูกค้าเหล่านี้ก็จะซื้อสุกรหลายแหล่งซึ่งจะเป็นคนนำพาเชื้อโรคมายังเล้าขายของท่าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระหว่างที่มีการขึ้นสุกร ลูกค้าก็จะฉีดน้ำให้สุกรเพื่อลดความร้อน ความเครียด น้ำที่ฉีดล้างก็จะชะล้างสิ่งสกปรกต่างๆ บนรถลูกค้าไหลลงมาบนที่พื้นเล้าขายของฟาร์ม นั่นหมายความว่ามันอาจจะมีเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นๆ ปะปนกับน้ำที่ลูกค้าฉีดล้างมาด้วย พนักงานเล้าขายก็อาจไปเหยียบน้ำที่ปนเปื่อยพาขึ้นไปบนเล้าขาย ขณะเดียวกันพนักงานขนย้ายสุกรของฝ่ายผลิตก็มาสัมผัสที่เล้าขาย นำพาเชื้อโรคเข้าไปในโซนผลิต โรคระบาดก็เกิดการปะทุใจกลางโซนผลิต ดังนั้น การจัดการของเล้าขายสำคัญมากที่สุดที่จะเป็นตัวตัดวงจรของเชื้อโรคก่อนที่เชื้อโรคจะแพร่ผ่านเข้าไปในโซนผลิต รายละเอียดที่ต้องไปจัดการมีดังนี้
1. เล้าขายต้องแยกจากส่วนผลิตให้ชัดเจน มีรั้วกั้นขอบเขตมิดชิด พื้นที่จอดรถลูกค้าต้องเป็นพื้นปูนซีเมนต์ แสงแดดส่องถึง มีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำที่ซะล้างไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ พื้นปูจะแห้งเร็วและง่ายต่อการทำความสะอาด
2. ประตูทางเข้าเล้าขายควรแยกออกจากประตูทางเข้า-ออกฟาร์ม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื้อโรคจากรถลูกค้าจะปนเปื้อนกับรถของฟาร์ม เช่น รถพนักงาน รถขนส่งปัจจัยการผลิต รถขนส่งอาหาร
3. ต้องมีระบบพ่นยาฆ่าเชื้อโรคก่อนที่รถลูกค้าจะผ่านเข้ารั้วมาสู่เล้าขาย และต้องพ่นให้ทั่วรถรวมถึงกรงจับสัตว์ด้วย อาจจะทำเป็นอุโมงค์พ่นยาฆ่าเชื้อ เหมือนกับจุดเข้า-ออกฟาร์มเลยจะดีมาก เล้าขายบางที่จะมีสะพานส่งหมูยื่นออกไปนอกฟาร์มเลย และให้รถลูกค้าเข้ามารอรับสุกร ซึ่งจอดรถอยู่นอกฟาร์ม
4. พนักงานเล้าขายต้องมีการตรวจเช็ค และบันทึกว่ารถลูกค้าล้างทำความสะอาดมาหรือไม่ มีสุกรจากฟาร์มอื่นติดรถมาด้วยหรือไม่ ถ้าพบว่ามี ต้องไปทำความเข้าใจกับลูกค้าเรื่องการป้องกันโรค รถลูกค้าต้องไม่มีสุกรอื่นติดมาด้วย
5. ห้ามลูกค้าขึ้นบนเล้าขายของฟาร์มโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เพราะจะเสี่ยงมากๆ กับการปนเปื้อน
6. หลังจากขายสุกรเสร็จในแต่ละวัน ต้องล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งให้ทั่วบริเวณ พนักงานขายต้องล้างทำความสะอาด และจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อรองเท้าบู๊ททุกครั้ง
7. พนักงานเล้าขายห้ามเข้าไปในส่วนของฝ่ายผลิตโดยเด็ดขาด และพนักงานขนย้ายสุกรของฝ่ายผลิตห้ามลงมาสัมผัสกับพื้นเล้าขายโดยเด็ดขาด ต้อนสุกรให้ลงจากรถเท่านั้น ต้องแยกส่วนกันให้ชัดเจน จุดนี้แหละที่จะนำพาเชื้อโรคเข้าฟาร์มถ้าไม่ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด
8. รถขนย้ายสุกรฝ่ายผลิตที่มาส่งสุกรที่เล้าขายก็ต้องมีการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคให้ทั่วก่อนกลับเข้าไปในฝ่ายผลิตอีกครั้ง บางฟาร์มทำเป็นอุโมงค์พ่นยาฆ่าเชื้อชั้นนอก (เข้า-ออกฟาร์ม) และชั้นใน (เข้า-ออกโซนผลิตสุกร)
9. สุกรที่ขนมาไว้ที่เล้าขายแล้ว ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม เช่น คัดทิ้งผิดตัว ห้ามนำกลับเข้าไปในโซนผลิตโดยเด็ดขาด
10. ต้องมีคนสุ่มตรวจเช็คการทำงานบนเล้าขายอย่างสม่ำเสมอ ว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ยาฆ่าเชื้อละลายในอัตราส่วนที่ถูกต้องหรือไม่
จุดที่ 2 การเข้า-ออกหน้าฟาร์ม ต้องมีระบบพ่นยาฆ่าเชื้อโรคทั้งคน และรถ บางฟาร์มทำเป็นอุโมงค์พ่นยาฆ่าเชื้อจะดีมาก บันทึกการเข้า-ออก ถ้าเป็นบุคคลภายนอกก็ต้องมีรองเท้าบู๊ทให้เปลี่ยน และจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์ม กรณีที่มีข่าวการระบาดของโรครอบนอกฟาร์มต้องงดการเข้าเยี่ยมของบุคคลภายนอก และควบคุมคนในฟาร์มให้มีการเข้า-ออกฟาร์มให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของคนที่ออกไปนอกฟาร์มซึ่งอาจจะไปสัมผัสกับเชื้อโรค และนำเชื้อโรคที่มีการระบาดอยู่ภายนอกฟาร์มเข้ามาในฟาร์มได้
จุดที่ 3 โซนของการเลี้ยงสุกร (ฝ่ายผลิต)
1. ต้องมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และอาบน้ำก่อนเข้าไปในโซนการเลี้ยงสุกร
2. ต้องมีอ่างจุ่มยาฆ่าเชื้อโรค และมีฝาปิด หน้าโรงเรือนทุกหลัง และเปลี่ยนถ่ายยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์
3. รองเท้าบู๊ทที่ใช้งานบนโรงเรือน กับรองเท้าบู๊ทที่ใช้งานนอกโรงเรือน ควรแยกจากกัน อาจแยกโดยใช้สีที่ต่างกัน ป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค ไข่พยาธิที่อยู่ตามใบหญ้า เข้าสู่โรงเรือนสุกร
4. ต้องไม่มีสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ อยู่ในโชนการผลิตสุกร เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคที่จะแพร่ระบาดมาสู่สุกร
5. ต้องมีการกำจัดสัตว์พาหนะนำโรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น นก หนู แมลงสาบ โดยเฉพาะนก ชอบที่จะเข้ามากินอาหารสุกร เท้าของนกอาจจะไปเหยียบมูลสุกรจากฟาร์มอื่นๆ แล้วปนเปื้อนมาสู่ฟาร์มท่าน สำหรับโรงเรือนเปิดต้องใช้ตาข่ายคลุมป้องกัน
6. บ่อทิ้งซากต้องมีฝาปิดมิดชิด ป้องกันการเข้ามาของสัตว์ชนิดอื่นที่เข้ามากินซาก เช่น สุนัข แมว นก
7. พนักงานขนย้ายสุกรห้ามเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานประจำโรงเรือนในการต้อนสุกรขึ้นรถ
8. รองเท้าบู๊ทพนักงานขนย้าย รถขนย้ายภายในฟาร์มต้องมีการล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งเมื่อเสร็จงานในแต่ละวัน
9. อุปกรณ์ต่างๆ ก็ใช้ในโรงเรือนต้องได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด
10. ต้องมีคนสุ่มตรวจเช็คการทำงานของฝ่ายผลิตอย่างสม่ำเสมอ ว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ยาฆ่าเชื้อละลายในอัตราส่วนที่ถูกต้องหรือไม่
จะเห็นได้ว่าหลายๆ เรื่องมันไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคยชินที่ยากจะเปลี่ยนมาให้ทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนนิสัยกันไม่ได้ เจ้าของฟาร์ม ผู้จัดการฟาร์มต้องเป็นต้นแบบ และออกมาตรการกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่องไม่มีอะไรเกินความสามารถคนที่จะปฏิบัติได้ เพียงแต่เราต้องรณรงค์ช่วยกันให้ทุกคนรู้ว่ามันสำคัญอย่างไร เวลาเกิดโรคระบาดเข้าฟาร์ม ฟาร์มเสียหายเท่าไหร่ ทุกคนต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ค่ายา วัคซีน วิตามิน เกลือแร่ ต้องเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าไหร่ ค่าเสียโอกาสที่ไม่มีลูกสุกรเลี้ยงขายเป็นสุกรขุนอีกเท่าไหร่ การลงทุนกับระบบ Biosecurity บางฟาร์มอาจจะดูว่าเยอะ ไม่เห็นมีอะไรคืนกลับมา แต่อย่าลืมว่าถ้าโรคไม่เข้าฟาร์มเลย โอกาสที่ท่านจะมีสุกรขาย ทำกำไรได้มากกว่าฟาร์มที่เป็นโรคแล้วไม่จบสิ้นสักที ยกตัวอย่างเช่น โรค PED, APP, PRRS, FMD โรคยอดฮิตที่วนเวียนกันเป็นในรอบ 2-3 ปีนี้ หลายฟาร์มเสียหายเยอะ ถึงขั้นเลิกเลี้ยงกันไปเลยก็มี ดังนั้น ต้องกลับไปดูฟาร์มของท่าน ว่าตรงไหนคือจุดอ่อน ช่องโหว่ รีบกลับไปปรับปรุง และวางมาตรการ การป้องกันโรคแบบนี้จะยั่งยืน แลถาวร ตัดวงจรเชื้อโรคตั้งแต่ต้น ส่วนการใช้ยา วัคซีน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มีแต่ต้นทุนที่สูง และอาจมีสารตกค้างต่อผู้บริโภคด้วย
ที่มา : TSVA Newsletter ฉบับที่ 31 : 2558 : 1686-2244