สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัดเร่งหากำไร 30% จากโรงตัดแต่งและเขียงหมู

สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด

เร่งหากำไร 30% จากโรงตัดแต่งและเขียงหมู

 

        น.สพ.วิวัฒน์  พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของสหกรณ์ฯ ว่า เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเดิมเป็นชมรมผู้เลี้ยงสุกรอำเภอโพธาราม จังหวัด ราชบุรี และสมาชิกรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม ควรจัดตั้งเป็นองค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงดำริตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2555 ด้วยความคิดเห็นของสมาชิกกว่า 40 ราย เป็นเอกฉันท์ โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ ต้องการสร้างความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อต่อรองกับบริษัทรายใหญ่และซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์รวมถึงเวชภัณฑ์ในราคาถูกลง ช่วยลดต้นทุนในการผลิต หาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกันพร้อมกับเดินหน้ารุกตลาดมากขึ้น

        “ตลาด” เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และอุตสาหกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าอดีตที่ผ่านมาวงการปศุสัตว์อย่างการเลี้ยงสุกร ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ต่างหาทางออกให้กับฟาร์มของตน เพื่อประคองอาชีพให้สามารถอยู่รอดได้ในวงการ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

        จากการสำรวจปัญหาส่วนใหญ่ของสมาชิก พบว่ามี 3 ส่วนที่สหกรณ์ฯ ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ

        1.  ประสิทธิภาพการผลิต  สหกรณ์ฯ ได้หารือถึงแนวทางการดูแลและจัดการให้สุกรมีอัตราการเสียหายน้อยที่สุด และสุกรจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เกิดโรคขึ้นในฟาร์ม

        2.  ลดต้นทุนการผลิต  ได้แก่วัตถุดิบอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยการซื้อของร่วมกันในนามสหกรณ์ฯ ในปริมาณมากเพื่อต่อรองราคา โดยทางสหกรณ์ฯ จะบวกเพิ่มเพียง 0.5-1% เท่านั้น เพื่อเป็นผลกำไรให้แก่สหกรณ์ฯ

        3.  ตลาด  เดิมเกษตรกรต้องหาตลาดเอง อาจจะมีปัญหาการแย่งคู่ค้ากัน เป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกหรือเกษตรกรบางรายต้องยอมจำหน่ายสุกรขุนให้พ่อค้าคนกลางในราคาถูกลง เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนค่าอาหาร

        จากปัญหาดังกล่าวทางสหกรณ์ฯ และสมาชิกได้หาทางออกโดยสร้างโครงการ “The Farm Thailand” ขึ้นในลักษณะนำสินค้าทางการเกษตรทั้งเกษตรกรรมและปศุสัตว์มารวมกัน ซึ่งเป็นสินค้าคัดสรรระดับมาตรฐานจนถึงระดับพรีเมียมให้บริการแก่ผู้บริโภค โดยร่วมมือกับหน่วยงานหรือสหกรณ์อื่นในการทำตลาด และตั้งราคา เช่นสุกรหน้าฟาร์มราคา 60 บาท/กก. ราคาเนื้อแดงควรจะอยู่ที่ 120 บาท/กก. หากราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ 70 บาท/กก. ราคาเนื้อแดงก็จะอยู่ที่ 140 บาท/กก. เป็นต้น ซึ่งราคาเนื้อชำแหละจะคูณสองจากราคาสุกรหน้าฟาร์ม สาเหตุที่ผู้บริโภคต้องบริโภคเนื้อสุกรที่มีราคาแพง เพราะมีการบิดเบือนกลไกทางตลาด ซึ่งทางสหกรณ์ฯ มีความประสงค์ในการลดช่องว่างดังกล่าว โดยสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายส่งตรงจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งโครงการ The farm Thailand คาดว่าจะเปิดตัวในปลายปี พ.ศ.2558 นี้

        “The farm Thailand แบรนด์นี้จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงหมูตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราหวังไว้ว่าจะเป็นจุดสนใจ และทางสหกรณ์ฯ จะเป็นผู้สะท้อนราคาสินค้าที่มาจากเกษตรกร และจะเป็นผู้รักษาสมดุลราคาด้วยตนเอง ที่สำคัญสินค้าทุกชิ้นต้องเป็นสินค้าปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าเนื้อสุกรของสหกรณ์ฯ ปลอดสารเร่งเนื้อแดงแน่นอน”

        การบริหารงานสหกรณ์ประธานจะเป็นผู้ดูแล โดยแบ่งงานให้แก่รองประธานทั้ง 6 ท่านดูแลในแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เช่นฝ่ายจัดซื้อ-จำหน่ายเวชภัณฑ์ ฝ่ายพัฒนาหลังงานหรือไบโอแก๊ส ฝ่ายดูแลจำนวนสมาชิกคัดกรองสมาชิก และฝ่ายการตลาด เป็นต้น

        จากการจัดตั้งสหกรณ์ฯ 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตตามลำดับ จากยอดจำหน่ายในปี พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 29 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2556 มียอดจำหน่ายประมาณ 40 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 มียอดจำหน่ายประมาณ 60 กว่าล้านบาท และในปี พ.ศ. 2558 ในครึ่งปีแรกมียอดจำหน่ายถึง 230 ล้านบาท คาดว่าเมื่อครบสิ้นปี พ.ศ. 2558 จะมียอดจำหน่ายถึง 400 ล้านบาท ถือว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด คาดว่าอีก 2 ปี น่าจะมียอดจำหน่ายถึง 1,000 ล้านบาท จากการสังเกตมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีฟาร์มเข้าร่วมสหกรณ์ 40 ฟาร์มและเกษตรกรมีความสนใจสมัครเข้าร่วมมากขึ้น และความร่วมมือของสมาชิกค่อนข้างดี มาร่วมการประชุม รับมติที่ประชุม ออกเสียงการประชุม เสนอแนะและนำไปปฏิบัติ

        ด้านความมั่นคงของสหกรณ์ฯ จะดูจากยอดจำหน่ายเป็นหลัก ส่วนกำไรในปีแรกเพียง 1 เดือนกว่าๆ กำไร 1 แสนกว่าบาท ในปีที่ 2 มีกำไร 4.9 แสนบาท ส่วนปีที่ 3 มีกำไร 4.6 แสนบาท คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2558 สหกรณ์ฯ จะมีกำไรประมาณ 7-8 แสนบาท สาเหตุที่ยอดจำหน่ายและกำไรไม่สัมพันธ์ เพราะสหกรณ์ฯ ไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากสมาชิก ซึ่งหน่วยงานราชการก็เห็นด้วยกับหลักการบริหารดังกล่าว

        ด้านการส่งเสริม  ปัจจุบันสมาชิกหลายสถานภาพ หลายการศึกษา และมีหลายความเชื่อ สำหรับฟาร์มที่ก่อตั้งมา 40-50 ปี จะเชื่อวัฒนธรรมการเลี้ยงแบบเดิมๆ หลายฟาร์มมีการผลัดเปลี่ยนให้ลูกชายรับหน้าที่บริหารฟาร์ม แต่อำนาจและการตัดสินใจยังอยู่ที่คุณพ่อ หน้าที่ของสหกรณ์ คือทำวิจัยและพัฒนาให้เกษตรกรเห็นเพื่อพิจารณาตัดสินใจด้วยตนเอง และมีการจัดทำ “คลินิกสหกรณ์” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาขั้นตอนสุดท้าย โดยการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาทางด้านการเงิน

        ซึ่งมีหลักการดังนี้ สมาชิกต้องประเมินสินทรัพย์ทั้งหมด (สินทรัพย์ที่มีหนี้สิน+ทุน) ในแต่ละปีสมาชิกสามารถลดหนี้ไปได้เท่าไหร่ มีกำไรสุทธิหรือขาดทุนเท่าไหร่ ซึ่งสมาชิกหลายรายไม่คิดตรงส่วนนี้ ทำให้ไม่ทราบถึงสถานะภาพของตนเอง ซึ่งแผนพัฒนาก็จะกลับย้อยไปยัง 3 ขั้นตอนการแก้ปัญหาคือ 1. ประสิทธิภาพการผลิต 2. ลดต้นทุนการผลิต 3. ตลาด โดยจะดูว่าสมาชิกมีข้อจำกัดหรือจุดบกพร่องส่วนไหนที่เป็นสาเหตุทำให้การเลี้ยงไม่บรรลุเป้าหมาย และทำการแก้ไข

        “จุดเด่นที่สำคัญของสหกรณ์ฯ อยู่ที่ตัวตนของสมาชิก ผมมีความรู้สึกว่าสมาชิกรักกัน จริงใจต่อกัน รองลงมาคือวิธีการทำงาน เรามีตกลงกันภายใต้คำปฏิญาณ ซื่อสัตย์ สุจริต ทุ่มเท เสียสละ การทำงานของแต่ละฝ่ายเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนการทำงาน”

        ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือประเทศไทยมีการเพิ่มปริมาณแม่พันธุ์สุกรมาก ทั้งบริษัทใหญ่และผู้เลี้ยงอิสระโดยไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง ประกอบกับมีจำนวนสุกรมากขึ้นการดูแลจึงไม่ทั่วถึง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งการเพิ่มแม่พันธุ์จำนวนมากทำให้เกิดการสูญเสีย จะเห็นว่าปัจจุบันจำนวนผลผลิตเมื่อเทียบกับแม่พันธุ์พบว่ามีปริมาณน้อยกว่า เนื่องจากเกิดความเสียหายมากนั่นเอง สถานการณ์ครึ่งปีหลังยังคงทรงตัวเท่ากับครึ่งปีแรก

        หากการเลี้ยงสุกรมีผลผลิตดีเมื่อเทียบกับจำนวนแม่พันธุ์ จะทำให้สุกรราคาตกต่ำ ภาคการส่งออกก็ต้องเตรียมการไว้เพื่อหาเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมของแต่ละประเทศ ซึ่งเกิดจากผลกระทบของโลกทั้งยุโรป อเมริกา และปัญหาของยูเครนกับรัสเซีย ทำให้กำลังการบริโภคของประชากรโลกลดลง ส่งผลให้การส่งออกมีปัญหา

        สาเหตุที่สหกรณ์ฯ ยังดำเนินการรุกตลาดในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะมีแนวคิดที่ว่า “ถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำตอนที่เศรษฐกิจกิจทรงตัว เพราะถ้าเราทำตอนนี้เศรษฐกิจดีทุกอย่างก็จะดีไปหมด อย่าลืมว่าธุรกิจมีวงจรของมัน ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีเราไม่ได้เร่งรัดในการทำตลาด แต่เราทำไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นงานปกติที่เราทำอยู่แล้ว ในเศรษฐกิจลักษณะนี้หากเทียบกับธุรกิจอื่นแล้ว ธุรกิจเลี้ยงสุกรถือว่าอยู่ได้กว่าหลายๆ ธุรกิจประธานวิวัฒน์แสดงความเห็น และแสดงความเห็นอีกว่า “ถ้าเราไม่ทำตัวเองให้แข็งแกร่ง เราก็จะเข้าสู่ประวัติศาสตร์ของการแข่งขันที่ไม่มีอะไรเป็นต่อ เราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างจุดแข็งให้ตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะไม่ช้าหรือเร็วก็ต้องทำอยู่ดี ถ้าเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ถือว่ายังไม่สาย”

        ด้านการกำจัดของเสียได้มีการประชุมคลินิกสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สรุปได้ว่าการกำจัดของเสียจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือนำไปผลิตเป็นไบโอแก๊ส และส่วนที่เป็นกากมูลจะนำไปผลิตปุ๋ยจำหน่าย

        เป้าหมายในอนาคตทางสหกรณ์ฯ จะมีการสร้างโรงตัดแต่งชิ้นเนื้อเพื่อให้สอดคล้องกับตลาด ปัจจุบันอยู่ในช่วงศึกษาดูงานโรงตัดแต่ง เพื่อจะได้ทราบการบริหารงานและจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน เนื่องจากกำไร 15% อยู่ที่โรงตัดแต่ง และอีก 15% อยู่ที่เขียง สหกรณ์ฯ และจะทำเขียงเองโดยส่งเนื้อให้กับตัวแทนจำหน่ายรับช่วงต่อ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ ส่วนหนึ่งจะตัดแต่งเพื่อนำเข้าโครงการ The farm Thailand จากนั้นชิ้นเนื้อที่เหลือจากการตัดแต่งจะนำไปแปรรูปเป็น ฮอทด็อก ไส้กรอก กุนเชียง และทำโรงเจียวน้ำมัน ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์มีความต้องการในปริมาณสูง ซึ่งทางสหกรณ์มีนโยบายทำของเสียกลายเป็นศูนย์ และมีคติว่า ไม่แช่เย็น ไม่เก็บ ไม่เหลือ ถ้าหากว่าเหลือไม่ควรเกิน 1%

        “วงการสุกรหรือสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องสู้กันที่ต้นทุน ลดต้นทุนให้ต่ำโดยการร่วมมือกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เพราะเราไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมากเหมือนบริษัทรายใหญ่ และด้านการตลาดบริษัทใหญ่ก็นำแทบทุกพื้นที่ รวมถึงการส่งออกด้วย เมื่อมีการรวมกลุ่มกันเราจะมีความแข็งแรงมากขึ้น และมีอำนาจต่อรองทางการตลาด ซึ่งจะว่าเห็นรูปแบบสหกรณ์เป็นการรวมกลุ่มที่ได้ผลชัดเจนที่สุด”

 

 

ขอขอบคุณนิตยสารสัตว์บก

 

       

Visitors: 397,126