การปรับปรุงพันธุ์สุกรของไทยและทิศทางในอนาคต
การปรับปรุงพันธุ์สุกรของไทยและทิศทางในอนาคต
โดย อาจารย์ ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
อาชีพเลี้ยงสุกรถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมายาวนาน การทำฟาร์มสุกรในประเทศยังมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขปริมาณการผลิตสุกรขุนของไทยอยู่ที่ 10.5 ล้านตัว ในปี 2551 เพิ่มเป็น 15.8 ล้านตัว ในปี 2557 อีกทั้งความต้องการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากตัวเลขการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ 12.0 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2551 เพิ่มเป็น 15.0 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2557 ซึ่งการผลิตสุกรในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศถึง 96 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามทิศทางในอนาคตก็มีความเป็นไปได้สูงที่สัดส่วนการส่งออกสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแรงกระตุ้นทั้งจากการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการในปลายปี 2558 และความพยายามแก้ปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยที่มีโครงการนำร่องตั้งแต่ปี 2551 ใน 8 จังหวัด เขต 2 ภาคตะวันออกของประเทศไทย หากสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ก็จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงที่จะเป็นผู้นำในอาเซียน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกร เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์สุกร เรามีสุกรพันธุ์ดีที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงในภูมิภาคนี้ อีกทั้งทำเลที่ตั้งของไทยที่อยู่กึ่งกลางอาเซียน ถือเป็นข้อได้เปรียบในด้านการขนส่ง อาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์
การปรับปรุงพันธุ์สุกรของไทย
กว่าจะมาถึงวันนี้ รูปแบบของการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีอาชีพหลักในการทำนามักจะเลี้ยงสุกรไว้ครอบครัวละ 2-3 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือที่เรียกว่า “หมูออมสิน” เป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้าน ด้วยรำข้าว ปลายข้าว และเศษอาหารต่างๆ ซึ่งการเลี้ยงสุกรในรูปแบบนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็นได้บ้างแต่น้อยมากแล้วในชนบท
ในอดีตประเทศไทยมีความพยายามที่จะปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ได้ประสิทธิภาพและผลผลิตสูงขึ้น โดยการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศ เท่าที่มีบันทึกไว้มีการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศครั้งแรกตั้งแต่ปี 2461 หลังจากนั้นในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐนำโดยกรมปศุสัตว์และบริษัทเอกชนมีการนำเข้าสุกรพันธุ์และน้ำเชื้ออีกหลายครั้ง ทั้งจากไต้หวัน อเมริกา ยุโรป ฯลฯ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ สุกรพันธุ์ลาร์จไวท์ (Large White) แลนเรช (Landrace) และดูรอค (Duroc) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยจะใช้สายแม่เป็นสุกรลูกผสมระหว่างสุกรพันธุ์ลาร์จไวท์และแลนเรช เพื่อให้ได้ลักษณะดีเด่นขึ้น (Heterosis) ด้านการให้ลูกดก และใช้สุกรพันธุ์ดูรอกเป็นสายพ่อซึ่งมีความเด่นเรื่องการเจริญเติบโตและให้เนื้อแดงมาก ซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานในการผลิตสุกรขุนสามสายในประเทศไทย
นอกจากนี้ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์สุกรก็มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังปี 2540 เทคโนโลยีชีวภาพด้านการผสมเทียมได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในฟาร์มสุกร ทำให้ความก้าวหน้าด้านการปรับปรุงพันธุ์สุกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัย เริ่มมีการเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดระบายความร้อนด้วยการระเหยของน้ำหรือ EVAP อีกทั้งมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสามารถใช้คำนวณข้อมูลในงานด้านปรับปรุงพันธุ์ได้รวดเร็วมากขึ้น แม้ว่าช่วงแรกประเทศไทยจะอาศัยการนำเข้าพันธุ์สุกรจากต่างประเทศ แต่ต่อมาเกษตรกรบางราย โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ของไทย มีการปรับตัวพัฒนาสายพันธุ์สุกรของตนเอง มีการสร้างฟาร์มแม่พันธุ์นิวเคลียสขึ้นมา มีการทดสอบพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์สุกรเพื่อทดแทนตัวเอง หลายบริษัททำได้สำเร็จ ถือเป็นการปรับปรุงพันธุ์สุกรอย่างยั่งยืน มีพันธุ์สุกรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง ลดการนำเข้าสุกรพันธุ์จากต่างประเทศ ลดความเสี่ยงที่จะนำโรคระบาดเข้ามา และได้สุกรที่มีลักษณะตรงกับตลาดเป้าหมาย
ความก้าวหน้าด้านปรับปรุงพันธุ์
ที่ผ่านมาวิธีการปรับปรุงพันธุ์สุกรมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคัดเลือกจากลักษณะภายนอก ดูจากข้อมูลจดบันทึก จนมาถึงวิธีที่นิยมใช้ทั่วไปในการปรับปรุงพันธุ์สุกรคือ การประเมินค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์ (estimate breeding value: EBV) วิธีการนี้ใช้ข้อมูลลักษณะปรากฏ (phenotype) ที่วัดได้ เช่น อัตราการเจริญเติบโต เปอร์เซ็นต์เนื้อแดง จำนวนลูกเกิด เป็นต้น ค่า EBV ดังกล่าวจะนำมาคำนวณเป็นค่าดัชนีหรือ Index โดยให้น้ำหนักความสำคัญมากน้อยในแต่ละลักษณะต่างกันไป โดยส่วนใหญ่สุกรสายพ่อ (terminal sire) จะเน้นน้ำหนักที่การเจริญเติบโตและเปอร์เซ็นต์เนื้อแดง ส่วนสุกรสายแม่ (dam line) จะเน้นน้ำหนักที่จำนวนลูกเกิด ในเมืองไทยผู้บริโภคเนื้อสุกรยังคงนิยมบริโภคเนื้อแดงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมนูอาหารส่วนใหญ่ของคนไทยต้องการเนื้อแดงเป็นหลัก และจะใช้เนื้อชิ้นเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด ดังนั้นลักษณะที่ผู้ผลิตสุกรส่วนใหญ่มีแผนการปรับปรุงพันธุ์จึงเน้นเรื่องคุณภาพซาก และการให้เนื้อแดงมาก เพราะจะได้ราคาดีขายง่าย ผู้ผลิตสุกรจึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสุกรพ่อพันธุ์ที่โตดี มีรูปร่างสวย มีกล้ามเนื้อมากเพื่อหวังจะให้ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูก อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้บริโภคบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือผู้ที่มีรายได้สูง เริ่มให้ความสนใจอาหารต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสเต็กแบบตะวันตก หรืออาหารสไตล์ญี่ปุ่น เกาหลี ที่ต้องการเนื้อที่มีคุณภาพต่างออกไปอีกแบบ เช่น ต้องการเนื้อที่มีความนุ่ม มีความชุ่มฉ่ำ มีไขมันแทรกมากขึ้น ทำให้เรื่องคุณภาพเนื้อก็อีกเป็นลักษณะที่ผู้ผลิตสุกรบางรายให้ความสนใจในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งผู้เลี้ยงบางรายมีการลงทุนสร้างฝูงสุกรเฉพาะสำหรับตอบสนองตลาดประเภทนี้
ในอดีตหากต้องการปรับปรุงลักษณะที่มีค่าอัตราพันธุกรรมต่ำ หรือเป็นลักษณะวัดผลได้ยาก เช่นคุณภาพเนื้อ ลักษณะสุขภาพสัตว์ วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบเดิมอาจมีความแม่นยำในการประเมินพันธุกรรมลดลง จึงมีการประยุกต์ใช้หลักพันธุศาสตร์โมเลกุลที่ศึกษาลงลึกเกี่ยวกับยีน หรือ DNA มีการค้นหาเครื่องหมายทางพันธุกรรมมาช่วยในการคัดเลือกตัวสัตว์ร่วมด้วย (marker assisted selection; MAS) อีกทั้งมีงานวิจัยมากมายศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่ง quantitative trait loci หรือ QTL และ functional candidate gene เพื่อหาเครื่องหมายพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับลักษณะทางเศรษฐกิจต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการประยุกต์ใช้การคัดเลือกด้วยยีนในสุกรในการเลี้ยงระดับอุตสาหกรรม คือ การคัดเลือกให้สุกรปลอดจากภาวะไวจากความเครียด (porcine stress syndrome) โดยสุกรก่อนที่จะถูกคัดเลือกเป็นสุกรพันธุ์จะถูกเจาะเลือดเพื่อตรวจ DNA ว่ามีตำแหน่งบ่งบอกว่าเป็นภาวะไวต่อความเครียดหรือไม่ ถ้ามีก็จะถูกคัดทิ้งตามโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ที่วางไว้ อย่างไรก็ตามลักษณะทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น คุณภาพเนื้อ การให้ลูกดก ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยยีนคู่เดียวหรือพันธุกรรมตำแหน่งเดียว ดังนั้นในช่วง 10 ปี มานี้ จึงมีการศึกษาการใช้ข้อมูล single nucleotide polymorphism (SNP) ทั้งจีโนม (genome) อย่างมาก จากเครื่องมือที่เรียกว่า SNP chip ที่บรรจุเครื่องหมายพันธุกรรมของสุกรไว้มากกว่า 60,000 ตำแหน่งในทุกๆ โครโมโซม นำมาใช้ในการวิเคราะห์ จนกระทั่งสามารถประเมินค่าการผสมพันธุ์ (genomic estimate breeding value; GEBV) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและร่นระยะเวลาในการคัดเลือกลักษณะทางเศรษฐกิจหรือลักษณะที่สนใจต่างๆ ซึ่งวิธีการ genomic selection นี้ มีการศึกษาและถูกนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ World Congress on Genetics Applied to Livestock Production (WCGALP 2014) ครั้งที่ 10 ที่ประเทศแคนาดาอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการศึกษาในระดับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนบางแห่ง
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถใช้คำนวณข้อมูลที่มีมากมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความรู้ด้านชีววิทยาระดับโมเลกุลที่สามารถประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ได้ ทำให้หลายลักษณะที่ปรับปรุงได้ยากในอดีตมีโอกาสที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในเวลาที่ลดลง แต่ก็ต้องอาศัยการลงทุน และอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งความรู้หรือเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์บางเรื่องยังอยู่ในขั้นทดลองในศูนย์วิจัยหรือในมหาวิทยาลัย แต่ในมุมของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-กลาง-รายใหญ่ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งต้องมีการศึกษาให้เข้าใจให้ถ่องแท้ ศึกษาความคุ้มค่า และวางแผนเป้าหมายการปรับปรุงพันธุ์ให้ชัดเจน
ทิศทางในอนาคตของการปรับปรุงพันธุ์สุกร
เทคโนโลยีด้านการปรับปรุงพันธุ์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะต้องตามเทคโนโลยีเสมอไป เพียงแต่รู้เท่าทันเทคโนโลยีและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการปรับปรุงพันธุ์ของฟาร์ม เหมาะสมกับสถานการณ์ ความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ การสำรวจตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะตลาดปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องปรับปรุงพันธุ์สุกรอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาตลาดใหญ่ของการขายเนื้อสุกรของประเทศไทยคือตลาดสด ผู้บริโภคต้องการเนื้อสุกรที่มีเนื้อแดงมาก มีมันน้อยๆ ต่อมาสัดส่วนการขายเนื้อสุกรเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคารมีเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย ต้องการเนื้อสุกรที่มีความสะอาดปลอดภัย อีกทั้งเราจะเห็นว่ามีร้ายอาหารปิ้งย่างสไตส์ญี่ปุ่น-เกาหลีมากขึ้นในปัจจุบัน คนนิยมทานเนื้อวัว รวมทั้งเนื้อสุกรที่มีไขมันแทรกมากขึ้น ผู้ผลิตสุกรที่มีการปรับปรุงพันธุ์สุกรไว้รองรับก็จะสามารถผลิตสุกรที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้
ทิศทางในอนาคต ประชากรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7,200 ล้านคน ในปี 2556 เป็น 9,600 ในปี 2593 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65 ล้านคนต่อปี เมืองมีการขยายตัว พื้นที่ทางการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มขาดแคลนและราคาแพงขึ้นต่อไป ผู้ผลิตสุกรต้องมีการปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์สุกรในลักษณะที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารให้ดีขึ้น เพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนลูกเกิด-ลูกหย่านม เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ (economic important traits) ที่กระทบต่อฟาร์มโดยตรง
นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ ที่จะมีความสำคัญและท้าทายผู้เลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป ดังจะเห็นได้จากกระแสผู้บริโภคที่เรียกร้องให้เลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์แต่ผู้ผลิตสุกรของไทยก็อยู่ในความเสี่ยงต่อโรคระบาดอยู่ตลอดเวลา เช่น ในปี 2551-2552 พบการระบาดของโรคท้องร่วงรุนแรงหรือ PED ลูกสุกรเสียหายกว่า 1 ล้านตัว ต่อมาปี 2553-2554 มีการระบาดของโรค PRRS สุกรพันธ์เสียหายกว่า 50,000 ตัว เป็นต้น ดังนั้นเป็นเรื่องท้าทายต่อไปที่นักปรับปรุงพันธุ์จะต้องหาทางปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีสุขภาพดี มีความทนทานหรือต้านทานโรคได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และที่สำคัญก็จะป้องกันไม่ให้ความก้าวหน้าทางพันธุกรรมหยุดชะงักหรือล่าช้าไปอีกหากเกิดโรคระบาดในฟาร์มสุกรพันธุ์ อีกทั้งกระแสสวัสดิภาพสัตว์ที่เห็นได้จากกฎหมายของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ระบุให้ผู้เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ต้องเลี้ยงสุกรอุ้มท้องในคอกรวม ตั้งแต่ปี 2556 และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ แผนการออกกฎหมายห้ามการตอนลูกสุกรเพศผู้ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยเหตุนี้นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามหาวิธีการคัดเลือกสุกรที่ไม่มีความก้าวร้าวในแม่สุกรอุ้มท้อง และหาทางคัดเลือกสุกรเพศผู้ที่มีกลิ่นเพศผู้ลดลงอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ โดยการใช้เทคโนโลยีล่าสุดทางด้านพันธุศาสตร์โมเลกุลที่มีอยู่ในขณะนี้
จากภาพรวมการปรับปรุงพันธุ์สุกรของไทย ผู้เลี้ยงที่มีพันธุ์สุกรดีสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน ประเทศไทยมีสายพันธุ์สุกรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน มีคุณภาพของผลผลิตเนื้อสุกรตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสส่งออกหรือไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น หากสามารถแก้ไขปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยได้ซึ่งสิ่งที่ท้าทายต่อไป ในอนาคตนอกจากจะเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความกังวลด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกระแสสังคมต่อไปในอนาคต เกษตรกรที่สามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้าใจ คุ้มค่าและมีเป้าหมายชัดเจน จะสามารถเป็นผู้ผลิตสุกรที่แข่งขันอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
- วุฒิชัย เคนไชยวงศ์, มนต์ชัย ดวงจินดา และวุฒิไกร บุญคุ้ม. 2555. แนวทางการปรับปรุงพันธุ์เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ของสุกรในประเทศไทย. แก่นเกษตร 40:387-400.
- สัจจา ระหว่างสุข. 2556. กระบวนทรรศน์ใหม่ในการผลิตสัตว์. ว.วิทย. กษ. 44:1 (พิเศษ): 25-30.
- สัตว์เศรษฐกิจ ปักษ์หลัง มีนาคม 2558 “ทิศทางการพัฒนาปศุสัตว์ไทยในอนาคต”
- http://www.thaiswine.org
- http://www.animallaw.com/Model-Law-Gestation-Crates.cfm
6.https://www.pig333.com/what_the_experts_say/current-situation-of-the-castration-of-piglets-in-europe_6284
-
ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร
ประวัติการศึกษา
ปริญญาเอก Dr.Agr. (Agricultural Sciences) University of Bonn, Bonn, Germany, 2553
ปริญญาโท วท.ม. (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549
ปริญญาตรี วท.บ. (เกษตรศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546
ประสบการณ์ทำงาน
ปัจจุบัน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ผู้ชำนาญการอาวุโส ด้านปรับปรุงพันธุ์ สายธุรกิจสุกร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ประสบการณ์ด้านการสอน / ฝึกอบรม
The Pig Production Training Course Bygholm Agriculture College, Horsens, Denmark
Innovation Development (CPF Farm) Training and Coaching Program (TRIZ)
ธุรกิจไก่ครบวงจร บริษัท กรุงเทพ โปรดิ๊วส์ จำกัด
ผลงานทางวิชาการ / งานวิจัย
Ronald M. Brunner; Tiranun Srikanchai; Eduard Murani; Klaus Wimmers; Siriluck Ponsuksili. (2012). “Genes with expression levels correlating to drip loss prove association of their polymorphism with water holding capacity of pork,” Mol. Biol. Rep. 39(1):97-107p.
Tiranun Srikanchai. (2010). “Analysis of functional candidate genes for meat quality and carcass traits in pigs,” Dissertation, Landwirtschaftliche Fakultät, Rheinische Friedrich-Wilhelms-Universität Bonn, Bonn, Germany. 136p.
Tiranun Srikanchai; Eduard Murani; Chirawath Phatsara; Manfred Schwerin; Karl Schellander; Siriluck Ponsuksili; Klaus Wimmers. (2010). “Association of ZYX polymorphisms with carcass and meat quality traits in commercial pigs,” Meat Sci. 84(1):159-164p.
Tiranun Srikanchai; Eduard Murani; Klaus Wimmers; Siriluck Ponsuksili. (2010). “Four loci differentially expressed in muscle tissue depending on water-holding capacity are associated with meat quality in commercial pig herds,” Mol. Biol. Rep. 37(1):595-601p.
Eduard Murani; Siriluck Ponsuksili; Tiranun Srikanchai; Steffen Maak; Klaus Wimmers. (2009). “Expression of the porcine adrenergic receptor beta 2 gene in longissimus dorsi muscle is affected by cis-regulatory DNA variation,” Anim. Genet. 40(1):80-89p.
Tiranun Srikanchai; Eduard Murani; Klaus Wimmers; Siriluck Ponsuksili. (2008). “Association of ZYX polymorphism with carcass and meat quality traits in pigs,” German Society for Animal Production e.V. (DGfZ), 17–18 September 2008, University of Bonn, Bonn, Germany.
Sanchai Jaturasitha; Tiranun Srikanchai; Sebastian Chakeredza; Udo ter Meulen; Michael Wicke. (2008). “Backfat characteristics of barrows and gilts fed on Tuna oil supplemented diets during the growing-finishing periods,” Asian-Aust. J. Anim. Sci. 21(8):1214-1219p.
Siriluck Ponsuksili; Elisabeth Jonas; Eduard Murani; Chirawath Phatsara; Tiranun Srikanchai; Christina Walz; Manfred Schwerin; Karl Schellander; Klaus Wimmers. (2008). “Trait correlated expression combined with expression QTL analysis reveals biological pathways and candidate genes affecting water holding capacity of muscle,” BMC Genomics. 31(9):367p.
Sanchai Jaturasitha; Tiranun Srikanchai; Michael Kreuzer; Michael Wicke. (2008). “Differences in carcass and meat characteristics between chicken indigenous to northern Thailand (Black-boned and Thai native) and imported extensive breeds (Bresse and Rhode Island red),” Poult. Sci. 87(1):160-169p.
Sanchai Jaturasitha; Tiranun Srikanchai; Michael Kreuzer. (2007). “Efficiency of Tuna oil to modify meat quality and fatty acid profile in pork as affected by gender and slaughter weight,” J. Appl. Anim. Res. 32(2):125-131p.
Sanchai Jaturasitha; Tiranun Srikanchai; Puntipa Phongpiachan; Viboon Rattanapanon; Michael Kreuzer. (2006). “Importance of sex and slaughter weight for the effect of tuna oil on the omega-3 concentration of M. longissimus dorsi l,” Tierernaehrungsforschung zwischen wissenschaftlichem Anspruch und praktischer Relevanz, 10 May 2006, ETH Zurich, Zurich, Switzerland, 171-174p.
Sanchai Jaturasitha; Tiranun Srikanchai; Puntipa Phongpiachan; Sebastian Chakeredza; Udo ter Meulen. (2005). “Effect of gender and slaughter weight on pork quality of swine received Tuna oil during growing and finishing period,” Deutscher Tropentag : The Global Food and Product Chain– Dynamics, Innovations, Conflicts, Strategies, 11 - 13 October 2005, University of Hohenheim, Hohenheim, Germany.
ถิรนันท์ ศรีกัญชัย. (2549). ผลของน้ำมันปลาทูน่าต่อคุณภาพเนื้อและไขมันของสุกรรุ่น – ขุนที่น้ำหนักฆ่าต่างกัน. วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ถิรนันท์ ศรีกัญชัย, สัญชัย จตุรสิทธา, ชวลิต แต้ภักดี, พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ และวิบูลย์ รัตนาปนนท์. (2549). การเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 ในไส้กรอกเวียนนา ด้วยการเสริมน้ำมันปลาทูน่าในอาหารสุกร. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 44 : สาขาสัตว์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์. กรุงเทพฯ, หน้า 45-52.
ศุภศิษฏ์ บุญนวล, ถิรนันท์ ศรีกัญชัย, สัญชัย จตุรสิทธา, เพ็ญศรี จูงศิริวัฒน์ และเทพฤทธิ์ ทับบุญมี. (2549). ผลของอาหารน้ำมันปลาทูน่า เพศ และน้ำหนักฆ่า ของสุกรรุ่น-ขุนต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์กุนเชียง. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 44 : สาขาสัตว์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์. กรุงเทพฯ, หน้า29-36.
อัจฉรา ขยัน, ถิรนันท์ ศรีกัญชัย, สัญชัย จตุรสิทธา, พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ และวิบูลย์ รัตนาปนนท์. (2548). คุณค่าการบริโภคของผลิตภัณฑ์เบคอนจากสุกรที่เลี้ยงด้วยน้ำมันปลาทูน่า. เรื่องเต็มการประชุมวิชาการสาขาสัตวบาล/สัตวศาสตร์/สัตวแพทย์ ครั้งที่ 5 “การผลิตสัตว์อย่างยั่งยืน,14-15 พฤศจิกายน 2548, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่,หน้า 349-404.
ถิรนันท์ ศรีกัญชัย, สัญชัย จตุรสิทธา, พันทิพา พงษ์เพียจันทร์, วิบูลย์ รัตนาปนนท์. (2548). ผลของอาหารที่มีน้ำมันปลา เพศ และน้ำหนักฆ่าต่างกันต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพซากของสุกรรุ่น-ขุน. วิทยาสารกำแพงแสน ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 2548 หน้า20-31.