อธิบดีกรมปศุสัตว์จับมือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ราชบุรี นครปฐม ปราบการใช้สารเร่งเนื้อแดง พร้อมแผนสนับสนุนวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยอย่างยั่งยืน

15 กรกฎาคม 2558 กรมปศุสัตว์ – อธิบดีกรมปศุสัตว์เห็นชอบกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในกรณีขยายวงปราบปรามผู้ลักลอบใช่สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ในเขต 7 ที่เป็นพื้นที่เลี้ยงสุกรหนาแน่นตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอมา พร้อมแผนแก้ปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยอย่างยั่งยืน

 นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เห็นชอบส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงของผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่เขต 7 นครปฐม-ราชบุรี โดยที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงมาตลอด โดยล่าสุดได้เพิ่มความเข้มงวดในเขต 2 ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผลให้ปริมาณการลักลอบการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการตรวจจับทั้งที่ฟาร์มและโรงเชือด ตามที่มีการเผยแพร่ภาพข่าวการทำลายซากสุกรที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้ามทั้งนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์และห้ามใช้ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ฉบับเดิม พ.ศ.2525 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าจะมีประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องฉบับใหม่ที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558  ในการประชุมครั้งนี้ท่านอธิบดีได้ยกประเด็นการผลิตวัคซีนโรคปากเท้าเปื่อยของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยแบบยั่งยืน โดยให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติทำแผนการให้วัคซีนฟาร์มสุกรทั่วประเทศมานำเสนอต่อกรมปศุสัตว์ด้วย”

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ขอร้องกับผู้เลี้ยงที่ยังลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงเสมอมาว่า ให้ยุติการใช้เพื่อผลดีระยะยาวของผู้เลี้ยงทุกคน เพราะนอกจากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังไม่เป็นผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรโดยรวม ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ร่วมหารือทั้งกับสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย และกรมปศุสัตว์ เพื่อหาวิธีการตรวจสอบการลักลอบใช้ที่สามารถทราบผลได้เร็วขึ้น เพื่อให้ปัญหานี้หมดไปอย่างถาวร ล่าสุดได้ใช้ชุด Test Kit ที่ทั้ง 3 ภาคส่วนได้ร่วมกันไปทดสอบยังประเทศจีน เมื่อปลายปี 2557 ซึ่งได้ผลการตรวจเป็นที่น่าพอใจและมีความรวดเร็ว โดยนำมาตรวจในพื้นที่เขต 2 ภาคตะวันออก เป็นเขตแรก

 "สำหรับการตรวจในพื้นที่เขต 7 นั้น จะยังคงใช้ Test Kit ที่มีประสิทธิภาพสูงนี้เช่นกัน โดยคาดว่าการตรวจในลักษณะเดียวกันจะดำเนินการไปทั่วทั้งประเทศในเร็วๆ นี้" นายสุรชัย กล่าว

 ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ในฐานะตัวแทนผู้เลี้ยงในเขต 7 ภาคตะวันตกที่ได้มีหนังสือเรียกร้องให้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเขตภาคตะวันตกทั้งราชบุรีและนครปฐมกล่าวว่า พอใจกับผลการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเขต 2 ที่ดำเนินการทั้งในระดับฟาร์มและโรงเชือด เพื่อเพิ่มมาตรฐานและช่วยยกระดับคุณภาพในการเลี้ยงสุกรและความปลอดภัยทางอาหารกับเนื้อสุกรไทย ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อผู้เลี้ยง ผู้บริโภค รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการผลิตสุกรที่สร้างความปลอดภัยทางอาหารและความน่าเชื่อถือต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

 ทั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยถือว่ามีมาตรฐานในระดับต้นๆ ทั้งในระดับอาเซียนและเอเชีย ถ้าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เชื่อว่าหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว อนาคตวงการสุกรของไทยจะอยู่ในระดับแถวหน้าได้อย่างแน่นอน./

 

Visitors: 397,127