TFMA Reply Corn Seasonal Down
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แจงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับลดตามวัฏจักร หลังมีการหยุดรับซื้อของสมาคมการค้าพืชไร่ จี้พาณิชย์รื้อนโยบาย หนุนให้ปศุสัตว์ขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเอื้อพ่อค้าข้าวโพด
21 กันยายน 2567 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย - พรศิลป์ แจงรายละเอียดให้สื่อปศุสัตว์อาหารสัตว์เข้าใจเส้นทางของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีขึ้นมีลงตามวัฏจักร และ อุปสงค์ อุปทาน
คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เชิญสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ร่วมฟังการนำเสนอความเข้าใจรายละเอียดถึงอุตสาหกรรมข้าวโพดและอาหารสัตว์ ณ ที่ทำการของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ถนนสาทร ณ ห้องประชุมสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อาคารไทยซีซี ทาวเวอร์ ห้อง 170 ชั้น 17 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567
สืบเนื่องมาจากการรวมตัวของเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดที่จังหวัดเพชรบูรณ์กรณีการหยุดรับซื้อของสมาคมพืชไร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยการประท้วงอ้างว่าถูกกดราคารับซื้อจากโรงงานอาหารสัตว์
โดยข้อเรียกร้องของเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 9 ข้อประกอบไปด้วย
- เสนอราคาประกันความชื้น 30% ที่ 8 บาทต่อกิโลกรัม ที่เพชรบูรณ์
- ไม่ให้ปรับลงราคาเร็วเกินไปโดยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์แจ้งปรับปรุงราคาล่วงหน้า 1 สัปดาห์ต่อครั้ง
- เสนอปรับเปลี่ยนช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านจากเดิมกุมภาพันธ์ ถึง สิงหาคมเปลี่ยนเป็นกุมภาพันธ์ ถึง กรกฎาคม เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับข้าวโพดของประเทศไทย
- ให้ตรวจสอบเอกสารการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากผู้ผลิตอาหารสัตว์ ว่าซื้อจากเกษตรกรไทยจำนวนเท่าไหร่ต่อปี เพื่อให้เห็นผลผลิตจริงของเกษตรกรไทย
- ให้หน่วยงานสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปรับเปลี่ยนต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามจริงที่ 6,125 บาทต่อไร่ และผลผลิตของเกษตรกรความชื้น 14.5% ใหม่ มีผลต่อโควตานำเข้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดในประเทศไทยเพื่อไม่ให้เกินความต้องการใช้ในประเทศ
- ให้สนับสนุนการผลิตข้าวโพด แก่เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท แบบเดียวกับข้าว เพื่อกระตุ้นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ
- ให้ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านเดือนกันยายน ยังคงมีการนำข้าวโพดเข้ามาขายทับซ้อนกับเกษตรกรไทยทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ชะลอการซื้อข้าวโพดเกษตรกรไทย
- ห้ามยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1
- นำเสนอ ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรตรวจสอบความต้องการใช้ในโหมดคาร์โบไฮเดรตมีเกินความต้องการใช้จริงหรือไม่ ผลพวงมาจากการนำเข้าเกินความต้องการทำให้ราคาข้าวโพดประเทศไทยตกต่ำ
คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล และคุณอรรถพล ชินภูวดล ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ร่วมกันนำเสนอและตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยประเด็นหลักคือไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมทางเลือกของพืชคาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีการกระทำในลักษณะที่ตอบรับคำเรียกร้องของสมาคมการค้าพืชไร่ มาตลอด หลังจากช่วงที่มีมาตรการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อข้าวโพดในประเทศเพื่อใช้สิทธิ์ซื้อข้าวสาลีหรือ มาตรการ 3 ต่อ 1 ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยเฉพาะมาตรการ 3 ต่อ 1 ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขผลผลิตข้าวโพดในประเทศ กับ ปริมาณความต้องการใช้ ทำได้ยากเนื่องจากถ้าดูสัดส่วนของผลผลิตที่ได้ของประเทศที่อยู่ในระดับประมาณ 4.8-5.0 ล้านตันเทียบกับส่วนที่ขาดอีกประมาณ 3.2 ถึง 3.4 ล้านตัน จากปริมาณความต้องการรวมประมาณ 8.2-8.4 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน สัดส่วนที่จะต้องเป็นการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากผู้ผลิตในประเทศไทยก็ไม่สามารถทำได้ตามสัดส่วนดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งจากการประเมินตัวเลขคุณพรศิลป์ ประเมินว่าได้เพียงประมาณ 1.6 ต่อ 1 ส่วนเท่านั้นเอง
ปริมาณนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนม่าร์ เฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตัน จากการผลิตทั้งประเทศประมาณ 3.0 ล้านตันต่อปี ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณนำเข้าจากประเทศเมียนม่าร์ 1.5 ล้านตันเข้ามาสวมโครงสร้างราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งการตั้งราคาเสมือนเป็นข้าวโพดนำเข้าตามกรอบ WTO บวกด้วยภาษี 20% และค่าใช้จ่ายในการนำเข้า เพราะมีการปรับขึ้นลงตามราคาข้าวโพดในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เพาะปลูกในประเทศล้วนๆ ซึ่งก็มีคำถามตามมาอีกว่าทำไมกระทรวงพาณิชย์ไม่มากำกับราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์ ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เสมอๆ
โดยดูเหมือนว่าจำนวนเหล่านี้มาสวมมาตรการ 3 ต่อ 1 หรือไม่ ได้รับคำตอบจากคุณพรศิลป์ว่าเมล็ดข้าวโพดเมื่อเข้ามาเมืองไทยแล้วมันก็ไม่สามารถที่จะดูออกว่าเป็นมาจากการนำเข้าจากเมียนมาร์ หรือ เป็นข้าวโพดที่ผลิตในประเทศไทย
ประเด็นการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารสัตว์ สมาคมฯ ประสงค์ให้ทางรัฐบาลปล่อยให้มีการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ โดยปลอดอากรขาเข้าตามกรอบ WTO เช่น จากสหรัฐอเมริกา บราซิล เพื่อมาผลิตอาหารสัตว์ ปัจจุบันอากรขาเข้าข้าวโพดตามกรอบ WTO มีอากรขาเข้า 20% สำหรับโควต้า 54,700 ตันแรก หลังจากนั้นอากรขาเข้าเป็น 73% โดยภาคเอกชนทั้งอาหารสัตว์ และปศุสัตว์ ให้ความร่วมมือที่จะรับซื้อราคาข้าวโพดให้แก่ชาวไร่ข้าวโพดตามที่ตกลงเสมอตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่อนุญาต โดยปัจจุบันราคาข้าวโพดต่างประเทศมีราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่า Premium ที่เป็นค่าระวาง ค่าจัดการของผู้ส่งออก ประมาณ USD 60-80 ต่อตัน (2.00-2.80 บาทต่อกิโลกรัม) รวมค่าขนส่งจากท่าเรือถึงโรงงานอาหารสัตว์ ประมาณ 0.40-0.50 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งสิ้นประมาณ 7.40-9.30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะไม่สามารถกดดันราคาเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดแต่ประการใด
การแถลงข่าวยังเน้นไปที่การไม่เผาซังตอข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว ที่จะสร้างปัญหาฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matterwith Diameter of Less Than 2.5 Micron เป็นฝุ่นละออง ขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน)ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด แม้ EU CBAN (Carbon Border Adjustment Mechanism) จะยังไม่บังคับใช้แต่ก็ต้องเตรียมตัวไว้ก่อน โดยมาตรการจะมีความสำคัญมาก แม้ FTA Thai-EU จะเริ่มบังคับใช้แล้วก็ตาม ก็จะมีการปรับภาษีนำเข้าเพิ่มเป็นหมวดๆ ไป คุณพรศิลป์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ประเด็นสำคัญที่อยากให้รัฐบาลเร่ง คือ การปรับแก้นโยบายของรัฐบาลให้มีนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ ภายใต้กรอบข้อตกลง ตามองค์การการค้าโลก ซึ่งได้กำหนดจำนวนโควตาไว้ที่ 54,700 ตัน มีอัตราภาษีโควตา 20% และหากนำเข้านอกโควตา จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 73% โดยขอให้เป็นปลอดอากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตภาคปศุสัตว์ของไทยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่สูงจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามมากนัก ที่ปัจจุบันนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตต้นทุนต่ำ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนติน่า รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะอยู่ที่ 8-9 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น
คุณสุทัศน์ ตั้งธโนปจัย กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติซึ่งได้เข้าร่วมการนำเสนอข้อมูลให้กับสื่อมวลชน เช่นกัน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับซื้อข้าวโพดของฟาร์มสุกรที่มีการผสมอาหารเอง ก็ไม่เคยหยุดการรับซื้อ เพราะการเลี้ยงสุกรต้องใช้ข้าวโพดต่อเนื่องในการเป็นอาหารของสุกร โดยในแง่ของราคารับซื้อก็ปล่อยให้เป็นไปตามตลาด จึงเป็นความชัดเจนอย่างยิ่งที่ไม่มีการกดดันเรื่องราคาข้าวโพดแต่ประการใด โดยเป็นไปตาม Demand Supply ของตลาดเช่นเดียวกับราคาสุกรซึ่งปัจจุบันเกษตรกรขาดทุนมาเป็นปีที่ 3 ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาของต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่รัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการเปิดช่องให้มีการนำเข้าวัตถุดิบในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นเพื่อจะเป็นการรักษาระดับราคาวัตถุดิบภายในประเทศไม่ให้สูงเกินอย่างที่ผ่านมา
กรณีการส่งหนังสือ เรื่อง ข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ไทย ถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 นั้น ยังไม่มีการตอบกลับจากนางสาวแพทองธาร หรือ หน่วยงานรัฐใดๆ
ในขณะที่ประเด็นการขอเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์และปศุสัตว์ถึง 5 พรรคการเมืองหลัก ลงวันที่ตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดตอบรับคำขอพบซึ่งประกอบไปด้วย
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคก้าวไกล(ในขณะนั้น)
- พรรคพลังประชารัฐ
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
ซึ่งข้อมูลในการประกอบอาชีพของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และภาคปศุสัตว์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องรับรู้ถึงปัญหาและข้อจำกัด ในการปิดกั้นการเติบโตตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรับแก้ไขแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของไทยต่ำลง ตลอดจนการสร้างผลกระทบต่อต้นทุนของภาคปศุสัตว์อย่างมาก