SAT Reply MOC Minister
นายกสมาคมหมูแย้ง รมว.พิชัย อ้างหมูบราซิลถูกทั้งๆที่เสียใต้โต๊ะ ทำไมหมูไทยแพง แนะพิชัยถ้าจะรื้อการเอื้อกลุ่มทุน ให้แก้โครงสร้างราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นอันดับแรก
18 กันยายน 2567 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แย้งรัฐมนตรีพาณิชย์นายพิชัย หมูไทยแพง มาจากนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงที่สุดในโลก
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติแก้ข้อสงสัยให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่อ้างช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์สื่อว่าเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าจากประเทศบราซิลทำไมถูก ทั้งๆ ที่เสียค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะรายทาง และมาวางขายในตลาดเมืองไทยมีราคาถูกกว่าหมูในประเทศ โดยไปอ้างถึงการบริหารจัดการซึ่งน่าจะมีการปรับปรุงเพื่อให้หมูไทยมีราคาต้นทุนที่ถูกลง
จากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงนายพิชัย นอกจากไม่รู้ว่าราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรในตลาดราคาต่ำมากที่ยังคงทำให้เกษตรกรขาดทุนแล้ว ยังไม่ทราบรายละเอียดถึงโครงสร้างต้นทุนการผลิตสุกรของประเทศไทยที่มีส่วน 65-70% มาจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ทั้งกลุ่มพืชโปรตีน ได้แก่กากถั่วเหลืองซึ่งมีการบวกกำไรเกินกว่าเหตุปัจจุบันบวกถึง 7-8 บาทต่อกิโลกรัมทำให้ต้นทุนจากประเทศบราซิลอยู่ที่ 11-12 บาทมาอยู่ที่เมืองไทย 19-20 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์กลุ่มโปรตีนของไทยเป็นกลุ่มที่สูงที่สุดในโลก
ในขณะที่ราคาข้าวโพดอาหารสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ไม่ได้มีการตั้งราคาตามโครงสร้างตามประกาศกรมการค้าภายในในเรื่องของการหักน้ำหนักตามช่วงความชื้น ซึ่งราคาที่ถูกต้องปัจจุบันไม่ควรเกิน 10 บาทต่อกิโลกรัม ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีราคาถึง 12 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ทั้งๆ ที่กลุ่มอาหารสัตว์และกลุ่มปศุสัตว์ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมาตั้งแต่การรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ต่ำกว่า 8 บาทในช่วงแรกของการมีประกาศมาตรการส่วน 3 ต่อ 1
จนขยับมาจนอยู่ที่ 9 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2567 ในกลุ่มของความชื้นไม่เกินกว่า 14.5 เปอร์เซ็นต์ จนมีการขอเพิ่มเรื่อยๆมาอยู่ที่ 9.80 บาทกรณีราคาขั้นต่ำที่จะรับซื้อจากผู้รวบรวม ซึ่งผลประโยชน์สุดท้ายไม่แน่ใจว่าตกถึงเกษตรกรหรือไม่ เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ว่าราคาตกต่ำ ในขณะที่ราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์ถึงแม้จะย่อตัวก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ประมาณ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม
ในขณะที่ราคาข้าวโพดต่างประเทศอ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัม
และนี่คือสาเหตุหลักที่นายพิชัยจะต้องเข้าไปดูโครงสร้างการกำหนดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ถือว่าแตะต้องไม่ได้มาเป็นเวลา 7 ปี โดยในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) คือ มาตรการสร้างปัจจัยบวกให้การกำหนดราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอาหารสัตว์สูงอย่างมีเงื่อนงำ
ประเด็นการขอให้มีการแก้ปัญหาราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการยื่นขอจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมารับเรื่องและตั้งคณะกรรมการร่วมและมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ เพื่อแก้ปัญหาโดยข้อเสนอทั้งหมดได้นำเสนอในที่ประชุมแต่ไม่มีการตอบรับอะไรออกมาทั้งสิ้น
จึงเป็นปัญหาใหญ่เพราะกลุ่มเกษตรกรรายย่อยก็มีการเรียกร้องเรื่องราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงเกินควรมาตลอด ทั้งการร้องเรื่องข้าวโพดอาหารสัตว์แพงของผู้เลี้ยงจากราชบุรี และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงจากเกษตรกรนครปฐม ซึ่งคาดว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อยน่าจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น การยื่นร้องเรียนการประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากการไม่ได้รับคำตอบหรือการแก้ไข ในกรณีเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ในเร็วๆนี้ เช่นกัน