สมาคมผู้เลี้ยงสุกรยืนยันคัดค้าน CPTPP ที่เสี่ยงสูงมากกับห่วงโซ่เกษตรของไทย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรยืนยันคัดค้าน CPTPP ที่เสี่ยงสูงมากกับห่วงโซ่เกษตรของไทย

13 กรกฎาคม 2563 รัฐสภา - คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้รายละเอียดที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงฯ (CPTPP) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ที่รัฐสภายืนยันว่าภาคเกษตรปศุสัตว์เราสู้ไม่ได้และจะเกิดผลเสียหายรุนแรง

คุณนิพัฒน์ ได้ให้รายละเอียดต่อที่ประชุมว่า “ผู้เลี้ยงสุกรโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยันมุ่งมั่นในการคัดค้านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต่างภูมิภาคนี้ มาตั้งแต่ช่วงปี 2558-2559 ที่ยังเป็น TPP อยู่  เนื่องจากมีผลกระทบชัดเจน กับเกษตรกรผุ้เลี้ยงประมาณ 200,000 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยถึงรายกลาง ตั้งแต่ไม่ถึง 10 ตัว จนถึงไม่เกิน 500 ตัว มีเพียง 5-10% ที่เป็นรายใหญ่

การเลี้ยงสุกรเป็นเกษตรกรรมตั้งต้นของห่วงโซ่ด้านอาหารสัตว์  เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำข้าว ปลายข้าว และการที่ต้องดูแลเกษตรกรพืชอาหารสัตว์ เช่น กรมการค้าภายในขอความร่วมมือซื้อข้าวโพดไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ผู้เลี้ยงสุกรปฏิบัติมากว่า 3 ฤดูกาล ในขณะที่ราคาจำหน่ายสุกรขุนก็ขอความร่วมมือไม่ให้ขายสูง เท่ากับ ผู้เลี้ยงสุกรต้องดูแลเกษตรต้นน้ำ และผู้บริโภคปลายน้ำ ซึ่งทีมเจรจาต้องเข้าใจบริบทนี้ เพราะเรายังมี RCEP ที่เป็นภูมิภาคเดียวกัน  

ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของประเทศแคนาดา 1 ในสมาชิก CPTPP จากทวีปอเมริกาเหนือ จากปัจจัยต้นทุนอาหารสัตว์ที่ผลิตเป็นไร่ขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐเศษๆ หรือประมาณ 39 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยอยู่ที่ 65-71 บาทต่อกิโลกรัม  โดยแคนาดาส่งออกเนื้อสุกรเป็นหลัก ประมาณ 70% ของการผลิตทั้งประเทศ โดยในปี 2562 ส่งออกจำนวน 1.37 ล้านตัน จากการผลิตทั้งประเทศ 2.0 ล้านตัน

ไทยยังคงส่งออกสุกรได้เพียง 5% จากการผลิตทั้งหมด ที่รวมทั้งการส่งออกสุกรมีชีวิตและแปรรูป เพราะข้อจำกัดที่ถูกตีตราว่าเป็นพื้นที่การระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย  ในขณะที่การเจรจา CPTPP ใช้วิธี Negative List กับภาคบริการอย่างเดียวที่จะได้สิทธิ์ในการที่จะเลือกได้ว่าจะเอาอะไรเข้า และไม่เอาอะไรเข้า จึงเป็นความเสี่ยงแบบสามารถทำลายโครงสร้างการเกษตรทั้งระบบของไทยได้ ที่จะเป็นการทำลายโครงสร้างทางสังคมการเกษตรของประเทศด้วย

ยืนยันว่าภาคเกษตรปศุสัตว์เราสู้ไม่ได้และจะเกิดผลเสียหายรุนแรง คุณนิพัฒน์กล่าวทิ้งทายต่อคณะอนุกรรมาธิการ

CPTPP : Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

  1. จาก TPP เป็น CPTPP มีอะไรเปลี่ยนไป
    • ขนาดของเศรษฐกิจและการค้าของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% วัดจากผลรวมของ GDP ประเทศสมาชิก ในขณะที่ RCEP มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 31% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นกลุ่มหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคเดียวกันที่มีสภาพการผลิต สภาพสังคมที่คล้ายกัน จะมีความเอื้อเฟื้อทางเศรษฐกิจมากกว่า CPTPP ที่มีเม็กซิโก แคนาดา เปรู ชิลี ต่างภูมิภาค โดย 9 ใน 11 ของประเทศสมาชิก มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกันอยู่แล้ว
    • ขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15% ทำให้ CPTPP เสียตำแหน่งข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไป (ขนาดการค้า = Import + Export ของประเทศสมาชิก)
    • CPTPP ระงับข้อบัญญัติ (provision) 22 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ เป็นต้น การระงับข้อตกลงที่ว่านี้ทำให้ CPTPP ดูผ่อนปรนและเข้มงวดน้อยกว่า TPP แต่ประเทศสมาชิกอาจพิจารณานำข้อตกลงที่ระงับไปกลับมาใช้ใหม่ก็ได้
    • กรอบการเจรจาสำหรับภาคบริการCPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative List หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ สันนิษฐานว่าระหว่าง 11 ประเทศสมาชิกยกเงื่อนไขการเจรจานี้ขึ้นมาเพื่อปกป้องธุรกิจภาคบริการของระหว่างประเทศสมาชิก ถ้าไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกก็สามารถใช้เงื่อนการเจรจาแบบ Negative List นี้ได้ แต่เงื่อนไขนี้ไม่ได้เปิดกับสินค้าภาคเกษตร จึงเกิดสิ่งที่กังวล คือ สินค้าสุกรจากแคนาดาที่ผลิตสุกรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก จะเข้ามาทำลายห่วงโซ่สินค้าสุกรและที่ต่อเนื่องทั้งระบบ
    • อุตสาหกรรมเกษตรCPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

 

ผลกระทบ ต่อภาคการผลิตสุกรของไทย กรณีประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก CPTPP

     ในช่วงปี 2558-2559 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP สาเหตุหลักของโครงสร้างการผลิตสุกรของไทยนั้น มีต้นทุนการผลิตสูง  ภาคปศุสัตว์มีภาระต้องดูแลเกษตรพืชอาหารสัตว์ภายในประเทศ ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับ สหรัฐอเมริกา และแคนนาดา ที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกร อันดับ 2 และ 3 ของโลก ตามลำดับ โดยต้นปี 2560 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ได้ถอนสหรัฐอเมริกาออกจาก TPP กลุ่มภาคีนี้เลยชะลอบทบาทลงไป

     CPTPP มีเงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative List ในกรอบการเจรจาสำหรับภาคบริการ ที่ให้สิทธิสมาชิกเลือกได้ว่าจะไม่นำกรอบการค้าใดๆ เข้าร่วมเฉพาะประเทศ ไม่ได้เปิดกับสินค้าภาคเกษตร จึงเกิดสิ่งที่กังวล คือ สินค้าสุกรจากแคนาดา ที่ผลิตสุกรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก จะเข้ามาทำลายห่วงโซ่สินค้าสุกร และเกษตรพืชอาหารสัตว์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

     อุตสาหกรรมเกษตร ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสุกร จากแคนาดา  แคนาดาคือประเทศยักษ์ใหญ่ อันดับ 3 รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ส่งออกเนื้อสุกรมากที่สุดในโลก โดยสถิติเมื่อปี 2562 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ส่งออกเนื้อสุกรรวมกัน 3.15 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 2.81 ล้านตัน และแคนาดาส่งออก 1.37 ล้านตัน จากผลผลิตสุกรของแคนาดาปี 2562 ที่ประมาณ 2.0 ล้านตัน เท่ากับผลผลิตเกือบ 70% ของการผลิตทั้งหมดเพื่อการส่งออกCanada Pork International ดูแลการค้าระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกับ Canadian Pork Council และ Canadian Meat Council โดยมีรัฐบาล Canada ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นเศรษฐกิจหลักหนึ่งของประเทศ ที่มีผลต่อห่วงโซ่พืชเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับสหรัฐอเมริกา และไทย โดยแคนาดาผลิตข้าวสาลีมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

                                                i.     ข้าวสาลี Wheat      25-30 ล้านตันต่อปี

                                              ii.     คาโนล่า Canola     14-16 ล้านตันต่อปี

                                            iii.     ข้าวโพด Corn         10-12 ล้านตันต่อปี

ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกรของแคนาดาจากปัจจัยที่มีพืชอาหารสัตว์เชิงอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้แคนาดาทำต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ต่ำมาก ที่กิโลกรัมละประมาณ 39 บาท ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรไทยไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 65-71 บาทต่อกิโลกรัม (ต้นทุนการผลิตสุกร-คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร (PigBoard) 12 พค.2563) เป็นผลจากผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องรองรับเกษตรกรพืชไร่ เช่น ข้าวโพดที่ราคาปัจจุบัน (สัปดาห์ที่ 28/2563) ของไทย 9.25-9.40 บาทต่อกิโลกรัม ในจำนวนประมาณ 1.4-1.5 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ตลาดชิคาโกราคาข้าวโพดประมาณ 4 บาทต่อกิโลกรัม การเลี้ยงสุกรยังใช้ผลพลอยได้จากข้าวอีกกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี สร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกรข้าวโพด และผู้ปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 

  • การเข้าร่วม CPTPP จะสร้างความเสียหายให้เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร 200,000 ครัวเรือน และตลอดห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด และผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้

 

มูลค่าทางเศรษฐิกที่เสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และห่วงโซ่การผลิต

 

ผลผลิตสุกรต่อปีกว่า

20 ล้านตัว คูณ 7,500 บาท/ตัว

150,000

ล้านบาท

ธุรกิจอาหารสัตว์

ผลผลิตสุกร คุณ ต้นทุนการผลิต 7,000 คูณต้นทุนอาหาร 70%

98,000

ล้านบาท

เกษตรกรข้าวโพด

1.325 ล้านตัน คูณ 9,250 บาท/ตัน

12,256

ล้านบาท

ผลพลอยได้จากข้าว

ปลายข้าว 1.47 ล้านตัน คูณ 12,500 บาท/ตัน

18,375

ล้านบาท

ธุรกิจเวชภัณฑ์สุกร (40%)

การใช้เวชภัณฑ์สัตว์ทั้งระบบ 40,000 ล้านบาท/ปี

16,000

ล้านบาท

รวมทั้งระบบ

294,631

ล้านบาท

  1. จากการศึกษาความเป็นไปได้ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นการนำเสนอเพียงข้อดี ซึ่งมิได้แสดงรายละเอียดที่มาที่ไปของตัวเลข และเป็นเป็นไปในเชิงการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ซึ่งการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีการกีดกันและแข่งขันสูง ไม่สามารถมาวิเคราะห์และสรุปตัวเลขในลักษณะคล้ายบัญญัติไตรยางค์ได้ และไม่นำข้อเสียมาหักกลบ ซึ่งจะเป็นผลเสียของภาคเกษตรกรรมที่มีประชากรเกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่จะไปซ้ำเติมปัญหาช่องว่างรายได้ หรือ “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่กำลังเป็นปัญหาหนักของรัฐบาลไทยที่ยังทางแก้ไขไม่ได้ และเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะที่จะต้องกู้มาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเสมอๆ โดยปัญหาช่องว่างรายได้กำลังเป็นปัญหาทั้งอาเซียนในขณะนี้   โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มีการนำเสนอตัวเลขดังนี้

- กรณีไทยเข้าร่วม GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.12% หรือคิดเป็นเงิน

13,323

ล้านบาท

- เงินในการลุงทุนจะเพิ่มขึ้น 5.14% หรือคิดเป็นเงิน

148,240

ล้านบาท

- การส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 3.47% หรือคิดเป็นเงิน

271,340

ล้านบาท

- เงินที่ได้จากการจ้างงานจะมากขึ้นถึง

73,730

ล้านบาท

  1. คาดว่าการศึกษาในครั้งนี้จะไม่ได้นำสถานการณ์การระบาด และหลังการระบาด COVID-19 มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา (เนื่องจากตัวเลขที่ภาครัฐประเมินเป็นช่วงก่อนการระบาด COVID-19)
  2. กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไทย ขอคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือขอไม่นำสินค้าปศุสัตว์เข้าไปในกรอบการเจรจา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเสียหายต่อห่วงโซ่เกษตรกรรมของประเทศ เพราะจะไปทำลายโครงสร้างการประกอบอาชีพของประชากรในประเทศ และที่สำคัญนานาประเทศต่างรักษาโครงสร้างเกษตรกรรมไว้ นอกเหนือจากการเป็นเสาหลักของประเทศแล้ว ยังเป็นการรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

 

Visitors: 397,162