สมาคมหมูยื่นกรมเจรจาการค้าแล้ว แจงเหตุผลคัดค้านหมูเข้ากรอบการเจรจา เพื่อเป็นหลังพิงให้คณะผู้เจรจา FTA ไทยอียู กรณีอียูยื่นขอ

สมาคมหมูยื่นกรมเจรจาการค้าแล้ว แจงเหตุผลคัดค้านหมูเข้ากรอบการเจรจา เพื่อเป็นหลังพิงให้คณะผู้เจรจา FTA ไทยอียู กรณีอียูยื่นขอ

25 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยื่นไม่เห็นผลดีกับการมีสินค้าสุกรเข้าเป็นสินค้าในกรอบการเจรจา ถึงแม้เป็นช่วงการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยจะมีการสรุปเพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาในปี 2563

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานที่ประชุมสรุปแนวทางเพื่อการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย สหภาพยุโรป โดยหัวข้อประชุมวันนี้เน้นไปที่ 18 ข้อหลักตามกรอบ WTO เช่น การค้าสินค้า พิธีการศุลกากร ถิ่นกำเนิด มาตรการเยียวยาการค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การค้า การลงทุน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ พาณิชย์อีเลกโทรนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ฯลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมากและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุม โดยประธานได้กล่าวขอบคุณที่ทุกภาคส่วนมีความปรารถนาดีต่อประเทศ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะนำไปเป็นข้อสรุปผลการศึกษา โดยจะไปพิจารณาให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คุณกรรณิการ์ กิตติเวชกุล จาก FTA Watch ได้แนะนำในที่ประชุมว่าขาดหายไป เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย หลังจากที่ได้ให้ข้อมูลไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 ถึงเหตุผลต่างๆ ที่ไม่ควรมีสินค้าสุกรเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาการค้าเสรีไทย อียูในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือเป็นทางการหลังการประชุมโดยมีประธานที่ประชุม นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้รับหนังสือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ลงนามโดยนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

คุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวกับท่านอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่าในหนังสือในวันนี้เพื่อขอยื่นเป็นทางการ โดยเป็นข้อมูลเดียวกับที่ให้ไว้ในการประชุมเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นเสมือนหลังพิงให้กับคณะผู้เจรจาในระหว่างการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 เพราะมั่นใจว่าถึงแม้ไทยจะไม่บรรจุสินค้าสุกรลงไว้ในกรอบการเจรจาก็ตาม แต่คาดว่าจะมีหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปยกสินค้าสุกรเพื่อการเจรจาแน่นอน เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรอันดับหนึ่งของโลก โดยปี 2563 USDA ประมาณการณ์ว่าสหภาพยุโรปจะมีประมาณการผลิตเนื้อสุกรที่ 24.4 ล้านตัน มีปริมาณการส่งออกเนื้อสุกร 3.9 ล้านตัน 

โดยรายละเอียดผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” ที่ได้ร่วมมือกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ทำการศึกษา โดยพบว่า การทำเอฟทีเอไทย-อียู โดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้งสองฝ่าย จะส่งผลให้

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น 1.63%
  • อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41%
  • การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43%
  • การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42%
  • การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74%

ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน เป็นต้น

สำหรับในด้านการส่งออก สาขาที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และต้องเตรียมการปรับตัว เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น และยังมีประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของภาคประชาสังคม ที่จะต้องเตรียมการรับมือด้วย

ประธานที่ประชุมกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดังกล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยกรอบการเจรจาที่ลงรายละเอียดถึงกลุ่มสินค้าต่างๆ โดยในระยะต่อไปอาจจะมีการลงรายละเอียดเป็นราย Sector ก่อน โดยยังไม่ลงรายละเอียดสินค้าเช่นกัน ทีมเจรจาจะแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ตามการเจรจาเพื่อรักษาโอกาสการแข่งขัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการแข่งขันระยะยาว สำหรับความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีความคืบหน้าไปแล้วประกอบด้วย Singapore-EU Vietnam-EU Indonesia-EU และ Philippine-EU ซึ่งผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องสามารถหามาศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบได้  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เคลื่อนไหวแล้ว ชาวหมูเตรียมยื่นพาณิชย์ไม่เห็นผลดีกับการนำหมูเข้ากรอบการเจรจา FTA THAI EU

FTA THAI-EU 2020 ต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้หมูไทยอีก

 

Visitors: 397,167