ความเป็นไปได้ในการเป็นครัวของโลก (ด้านปศุสัตว์) ของไทย
ความเป็นไปได้ในการเป็นครัวของโลก (ด้านปศุสัตว์) ของไทย
โดย สพ.ญ.บุญญิตา รุจทิฆัมพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านวิชาการอาหารสัตว์
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในปี 2548 รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยประการหนึ่งคือการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งก็ได้มีเสียงตอบรับเห็นด้วยจากทุกภาคส่วน และได้มีความพยายามดำเนินการเรื่อยมา ดังนั้น ในปี 2558 นี้ ซึ่งเป็นปีของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการ เรามาติดตามความก้าวหน้าด้านปศุสัตว์ไทยว่ามีความพร้อมหรือมีความเป็นไปได้ในการเป็นครัวของโลกมากน้อยเพียงใด
ในประเด็นนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ (ในขณะนั้น) ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวจากแหล่งข่าวต่างๆ ไว้ดังนี้ (www.dailynews.co.th/agriculture/242801)
“ภาพรวมการขยายตัวทิศทางปศุสัตว์ (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และอื่นๆ) ที่ทำรายได้หลัก โดยประมาณข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2556 มีมูลค่าการส่งออกรวม 9.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 สำหรับทิศทางแนวโน้มสินค้าปศุสัตว์ในภาพรวมปี 2557 นั้นสดใสทุกตัว โดยไม่ต้องอิงเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นอาหารและที่สำคัญไทยค่อนข้างได้เปรียบและมีจุดแข็ง ผลิตสินค้าได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอื่นๆ ด้วย เนื่องจากภาครัฐและเอกชลของไทยมีความร่วมมือและสอดประสานการทำงานได้เป็นอย่างดี”
การส่งออกสินค้าปศุสัตว์แทบทุกตัวจะขยายตัวตามสัดส่วน ไม่มีแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 สินค้าปศุสัตว์ทุกรายการเรามีศักยภาพเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน ส่วนในภาพรวมตลาดโลกสินค้าสัตว์ปีกไทยมีศักยภาพในการส่งออกอยู่อันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา
“ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านความปลอดภัยของอาหาร กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและกำหนดมาตรฐานและมาตรการต่างๆ เพื่อผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยให้ผู้บริโภคในประเทศ และยังเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตรวจรับรองโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาล สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งภายในและต่างประเทศรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และก้าวสู่การเป็นครัวของโลก”
ความเป็นไปได้ในการเป็นครัวของโลก (ด้านปศุสัตว์) ของไทย
เป็นที่ทราบและประจักษ์กันชัดแจ้งแล้วว่า หนึ่งในภาคเอกชนของไทยระดับแถวหน้าที่มีส่วนร่วมสำคัญของการผลักดันให้เป้าหมาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” หรือ Kitchen of the World ของประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จได้ คือ กลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ดังนั้นเพื่อความชัดเจนและความสมบูรณ์ของบทความนี้ ทีมงานวารสารเกษตรอภิรมย์ซึ่งนำทีมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับ สพ.ญ.บุญญิตา รุจทิฆัมพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านวิชาการอาหารสัตว์ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งท่านให้ข้อมูลในมุมมองต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
สำหรับการเป็นครัวของโลกด้านเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ณ ปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ว่าประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อม เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายและความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน โดยภาครัฐทำหน้าที่วางมาตรฐานการผลิตอาหารคุณภาพ ขณะที่ภาคเอกชนทำหน้าที่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดโลกไม่ใช่แข่งแต่ประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น ตัวอย่างการส่งออกเนื้อไก่ของไทย ซึ่งปัจจุบันส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยตลาดใหญ่คือญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบระบบการผลิตของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเท่านั้นแต่ตรวจมาตรฐานการผลิตทั้งประเทศเพราะสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกกับบริโภคภายในประเทศจะต้องทำในรูปแบบและวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของคุณภาพผลผลิต อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สำหรับการผลิตไก่เนื้อของประเทศไทย ณ วันนี้ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ดังนั้น ถ้าไทยต้องการเป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตต้องมีเป้าหมายเดียวกันและมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงต้องมีการพัฒนาเกษตรกรและทุกภาคส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตให้มีความตื่นตัวและผลักดันไปในทิศทางเดียวเช่นกัน
สำหรับด้านสุกร ประเทศไทยยังส่งออกไม่ได้มาก เนื่องจากมีข้อจำกัดของโรค FMD(โรคปากและเท้าเปื่อย) ซึ่งขณะนี้ได้มีความพยายามอย่างมากเพื่อให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office lnternational des Epizooties; OIE) อนุมัติให้เขต 2 เป็นเขตปลอดโรค FMD ซึ่งการจะทำ FMDFree Zone ได้นั้น ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน การทำเขต 2 ให้เป็น FMD Free Zone นอกจากเพื่อประโยชน์การส่งออกสุกรแล้ว ยังเอื้ออำนวยไปถึงเรื่องของโคด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อดีๆ เป็นโคขุนที่มีคุณภาพออกมาหลายสายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตถ้ามีการสนับสนุนการผลิตอย่างจริงจัง จะสามารถทดแทนการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศและยังสามารถส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียนได้อีกด้วย ควรเน้นระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งและหาโอกาสในการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยก็เป็นมืออาชีพทางด้านการผลิตสัตว์อยู่แล้ว
หลักการ/แนวทางสำหรับการเป็นครัวของโลกด้านปศุสัตว์
จากการที่ประเทศไทยได้ประกาศว่าจะเป็น “Kitchen of the World” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของซีพีเอฟ โดยบริษัทได้ยึดหลักสำคัญในการผลิต ดังนี้
1. มุ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ
2. การผลิตต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อมีต้นทุนที่ต่ำ สามารถแข่งขันในตลาดภายในและนอกประเทศได้
3. อาหารมีความปลอดภัยต่อการบริโภค
4. สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
* ด้านการผลิต
ปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์มีการปรับตัวในการเลี้ยงสัตว์อย่างมาก เช่น การคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ พัฒนาคุณภาพอาหารสัตว์ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ การปรับปรุงโรงเรือนให้สัตว์อยู่สุขสบาย มีระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ดี ทำให้ปัญหาในการผลิตลดลง ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงข้อดีของการลงทุนและความก้าวหน้าในอนาคต
ด้านความปลอดภัยของอาหาร
- ภาครัฐได้มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในการผลิตปศุสัตว์และอาหารให้เป็นสากลมากขึ้น โดยอาศัยหลักเกณฑ์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE) และโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้ออกมาตรฐานต่างๆ มามากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรฐานตามความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ต่อไปอาจเปลี่ยนเป็นมาตรการบังคับมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพอาหารเพื่อการบริโภคและการส่งออก
- ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย เช่น พรบ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ได้ให้รวมน้ำเป็นอาหารสัตว์ด้วย เพื่อให้มีการควบคุมในเรื่องคุณภาพน้ำและห้ามการเติมสารที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์หรือผู้บริโภคให้แก่สัตว์
- มีการศึกษาวิจัยในเรื่องการสะสมของแร่ธาตุ และโลหะหนักจากวัตถุดิบอาหารสัตว์สู่เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อเป็นข้อมูลในการตั้งมาตรฐานของ มกอช. ต่อไป
- มีคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขของประเทศ
- ด้านความปลอดภัยของการผลิตสุกร กรมปศุสัตว์ได้ทำการเก็บข้อมูลจากฟาร์มสุกรขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จากทุกภูมิภาค เพื่อติดตามในเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคและได้ข้อมูลค่อนข้างที่จะไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มฟาร์มที่มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม คือ พบปัญหาเชื้อดื้อยาจากฟาร์มน้อยมาก แต่จะพบการปนเปื้อนของเชื้อระหว่างการขนส่งจากโรงฆ่าไปยังเขียงหรือที่ตลาดซึ่งคงต้องมาให้ความสำคัญในเรื่องการขนส่งมากขึ้น
- ด้านการผลิตไก่เนื้อของประเทศไทยนั้นเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ทั้งทางด้านศักยภาพ คุณภาพและความปลอดภัย ปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกไก่สดได้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องไข้หวัดนกแล้ว และกรมปศุสัตว์มีความเข้มงวดในการติดตามและประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคและประเทศผู้นำเข้าถึงความปลอดภัยของไก่ไทย แต่ต้นทุนในการผลิตเนื้อไก่ของไทยค่อนข้างสูง เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทโปรตีน ในขณะที่เรามีข้อได้เปรียบในเรื่องการผลิตอาหารปรุงสุก ดังนั้น ตลาดไก่ปรุงสุกของไทยจึงยังมีศักยภาพในการขยายต่อไปได้
การปรับตัวของ ซีพีเอฟ เพื่อให้แข่งขันในตลาดอาหารปรุงสุกได้
- มีการศึกษาความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดได้
- มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็ว ทำให้พร้อมที่จะก้าวต่อไป ลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามาดูกระบวนการผลิตมีความมั่นใจในการผลิตของบริษัท
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์เพื่อการพัฒนาการเป็นครัวของโลกด้านปศุสัตว์
- เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดีและถูกต้องต่อการพัฒนาการผลิต การจัดการฟาร์มให้เป็นมาตรฐานซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่ม แต่ผลของการจัดการดูแลที่ดีทำให้สัตว์เจริญเติบโตดี ไม่ป่วยไม่ต้องใช้ยา ต้นทุนจะลดลงไปเอง การผลิตพันธุ์สัตว์ต้องได้มาตรฐานอย่างจริงจัง สัตว์ที่เข้าฟาร์มต้องตรวจสอบให้ดีว่ามาจากแหล่งที่ดีเชื่อถือได้เลี้ยงสัตว์ให้อยู่สุขสบาย ฟาร์มมีระบบการจัดการที่ดีตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเป็นที่ยอมรับของตลาดในด้านคุณภาพและความปลอดภัย
- เกษตรกรผู้ผลิตควรมีการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเพื่อรวมพลัง สร้างความเข้มแข็ง สามารถผลักดันการดำเนินการต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้ตามที่ต้องการ
- คุณภาพของบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินงานฟาร์ม หรือในระบบธุรกิจต้องมีความรู้ความเข้าใจตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานการศึกษาที่อาจจะต้องมีการปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ปรับรูปแบบระบบการเรียนการสอนที่สร้างให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ถึงองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นปัจจุบัน
ขอบคุณวารสารเกษตรอภิรมย์ ฉบับที่ 5 พฤษภาคม - มิภุนายน 2558