E Movement over Feed Consumption
ปิดยอดอาหารหมูขุนทั้งประเทศ ปี 2567 4.825 ล้านตัน รองรับผลผลิตหมูขุน 19.23 ล้านตัว ค้านตัวเลขของกรมปศุสัตว์เข้าเชือดที่ 23.46 ล้านตัว ถึง 4.23 ล้านตัว
16 มกราคม 2568 ข้อสงสัยของผู้เลี้ยงสุกรไทยยิ่งมากขึ้น กับ ตัวเลขการเข้าเชือดจริง ปี 2567 สูงกว่าผลผลิตอาหารสุกรที่รองรับสุกรขุนได้เพียง 19.2 ล้านตัวเท่านั้น ที่ 4,825,527 ตัน คิดเป็นการกินอาหารที่ 251 กิโลกรัมต่อสุกร 1 ตัว ที่น้ำหนักสุกรเฉลี่ย 110 กิโลกรัมต่อตัว
นายสัตวแพทย์สุทัศน์ ตั้งธโนปจัย กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ตั้งข้อสงสัยในประเด็นรายละเอียดของตัวเลขเข้าเชือด ที่สูงมากเฉลี่ย 1.94 ล้านตัวต่อเดือน หรือ 64,000 ตัวต่อวัน ว่ามีความผิดปกติในรายละเอียดของตัวเลขหรือเปล่า อย่างไร เพราะปัจจุบันผู้เลี้ยงรายย่อยหยุดเลี้ยงไปเป็นจำนวนมากและกำลังเกิดผลกระทบกับผู้เลี้ยงรายกลางในระดับ 1,000-2,000 แม่พันธุ์สุกร ที่ทะยอยลดกำลังการผลิตลงมา โดยมีฟาร์มเป็นจำนวนมากที่หยุดประกอบกิจการไปแล้ว เช่นเดียวกับรายย่อย
ที่ประชุมคณะที่ปรึกษา Pig Board ที่กรมปศุสัตว์ เมื่อ 15 มกราคม 2568 ผู้เข้าร่วมประชุมยอมรับตัวเลขของกรมปศุสัตว์ที่แสดงตัวเลขเข้าเชือดในแต่ละวัน ที่ต้องมีการขอใบอาชญาบัตรเพื่อการนำสุกรเข้าเชือด แต่ในรายละเอียดอาจมีการสวมสิทธิ์
นายสัตวแพทย์อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณะที่ปรึกษา ได้หยิบยกปรากฏการณ์ที่เกิดกับโรงเชือดแห่งหนึ่งที่ DSI เข้าตรวจสอบ โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าในอดีตโรงเชือดทั่วไปจะมีการขอใบอาชญาบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม เช่น ขอ 2 ใบแต่เชือด 10 ตัว ซึ่งน่าจะแตกต่างกับปัจจุบัน เช่น ขอ 10 ใบ แต่เชือด 2 ตัว โดยส่วนต่างน่าจะมีลักษณะคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงชำแหละที่อ้างถึง
นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ได้ตั้งข้อสังเกตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ว่ามีการมาซื้อสุกรน้อยลง โรงเชือดน้อยลง แต่ในตลาดมีเนื้อสุกรจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีการนำสุกรฟอกขาวมาจำหน่าย เช่นกัน
คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ได้ยกตัวอย่างโรงเชือดรายใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ที่เคยเชือดประมาณ 2,900 ตัวต่อวัน ปัจจุบันเชือดเพียงประมาณ 900 ตัวต่อวัน เช่นกัน ไม่สอดคล้องกับตัวเลขของ E Movement ที่กระโดดอย่างในปัจจุบัน
ตามรายงานตัวเลข "ตารางประมาณการประชากรสัตว์ ปริมาณอาหารสัตว์ และการใช้วัตถุดิบ” ปี 2567 ที่มีการทบทวนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้สรุปตัวเลขปริมาณอาหารสัตว์ที่ใช้สำหรับสุกรขุนจำนวน 4,825,527 ตัน โดยมีการกินอาหารต่อสุกรขุน 1 ตัวที่ 251 กิโลกรัม โดยการเลี้ยงสุกรขุนทั้งประเทศเฉลี่ยในปัจจุบันจะออกจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 110 กิโลกรัม โดยจำนวนอาหารสุกรขุนดังกล่าวเมื่อคิดย้อนกลับมาที่สุกรขุน จะเป็นผลผลิตสุกรขุนอยู่ที่ 19.23 ล้านตัว น้อยกว่าตัวเลขเข้าเชือดทั้งปี 2567 ของกรมปศุสัตว์ถึง 4.23 ล้านตัว โดยมีการสรุปปริมาณการผลิตสุกรขุนปี 2567 เป็น 23.46 ล้านตัว เฉลี่ย 1.94 ล้านตัวต่อเดือน หรือ 64,000 ตัวต่อวัน
เมื่อคำนวณสัดส่วนชิ้นส่วนหลักของสุกรที่ 50% ต่อตัวที่ 110 กิโลกรัม จะมีจำนวนประมาณ 4.23 ล้านตัว x 55 กิโลกรัม เท่ากับ 232.65 ล้านกิโลกรัม หรือ 232,650 ตัน หรือ 9,306 ตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับปี 2567 ที่จำเป็นต้องรีบสร้างความกระจ่างต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ ที่หยุดการเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก เพราะราคาตกต่ำจากราคาเนื้อสุกรลักลอบ และภาวะโรคระบาดในบางพื้นที่
นายสัตวแพทย์สุทัศน์ ให้ข้อสังเกตและขอให้ภาครัฐแจงรายละเอียดของที่มาที่ไปของตัวเลขดังกล่าว หลังการประชุมคณะอนุกรรมการผลิต การตลาด เมื่อ 24 ธันวาคม 2567 รับทราบและจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอ Pig Board ต่อไป โดยมีนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานทั้ง 2 การประชุม เช่นเดียวกับการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ Pig Board เมื่อ 15 มกราคม 2568