Pork Retail Price Support Consumer
การตั้งราคาปลีกหมูเนื้อแดง 1.7 เท่าจากราคาสุกรหน้าฟาร์ม เป็นสัดส่วนที่ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภคดูแลกัน เพื่อสนองนโยบายรัฐในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
9 มกราคม 2568 – สมาคมหมูหวังทั้งห่วงโซ่ดูแลกันทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยจัดสัดส่วนการตั้งราคาขายปลีกชิ้นส่วนเนื้อแดงส่วนสะโพกและเนื้อไหล่ ที่ 1.7 เท่าของราคาต้นทุนการผลิตสุกรขุนหน้าฟาร์ม จากสถิติที่ผ่านมาห้างค้าส่ง-ค้าปลีกได้ปรับเกณฑ์การตั้งราคาขายปลีกชิ้นส่วนเนื้อแดงส่วนสะโพกและเนื้อไหล่ เป็นชิ้นส่วนที่มีมากที่สุดในสุกร 1 ตัว และมีการตั้งราคาต่ำที่สุดเพื่อสนองนโยบายดูแลผู้บริโภคของรัฐบาล ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
นายสัตวแพทย์ สุทัศน์ ตั้งธโนปจัย กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาชิ้นส่วนหมูเนื้อแดงส่วนเนื้อสะโพกและเนื้อไหล่ สัดส่วนราคาขายปลีกปัจจุบัน อยู่ที่ 1.7 เท่าของราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม เป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บสถิติการตั้งราคาจำหน่ายปลีกของห้างค้าส่ง - ค้าปลีก ซึ่งชิ้นส่วนเนื้อแดงส่วนเนื้อสะโพกและเนื้อไหล่ เป็นชิ้นส่วนที่มีมากที่สุดในสุกร 1 ตัว ซึ่งถือว่าสินค้าเนื้อสุกรได้สนองนโยบายการดูแลผู้บริโภคด้วยดีเสมอมา เช่น การตรึงราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงปี 2565
นายสัตวแพทย์ สุทัศน์ กล่าวอีกว่า การตั้งราคาจำหน่ายปลีกเนื้อหมูในอดีต จะมีเกณฑ์ที่ใช้และทราบกันโดยทั่วไป คือ ราคาสุกรมีชีวิต 1 กิโลกรัม คูณ 2 เท่า จะได้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง 1 กิโลกรัม เช่น ต้นทุนการผลิตสุกรขุน ไตรมาสที่ 4/2567 อยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท การคำนวณราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง ดังนี้
แต่ปัจจุบันราคาจำหน่ายปลีกห้างค้าส่ง ค้าปลีก สะโพก เนื้อไหล่ อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 115 บาท เมื่อคำนวณกลับ จะสะท้อนให้เห็นว่าราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม อยู่ที่กิโลกรัมละ 68 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรขาดทุนกิโลกรัมละ 7 บาท หรือ 700 บาทต่อตัว (กรณีสุกร 1 ตัว มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม)
หากห้างค้าส่ง - ค้าปลีก สามารถช่วยลดความสูญเสียให้เกษตรกรได้ โดยการยกระดับราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงชิ้นส่วนส่วนเนื้อสะโพกและเนื้อไหล่ ให้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 127.50 บาท เพราะการกำหนดราคาขายปลีกที่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกนั้น จะเป็นตัวสะท้อนราคาต้นทางที่ผู้ค้ารับซื้อหน้าฟาร์ม หากมีการปรับราคามาอยู่ในจุดที่เหมาะสมจะมีผลช่วยเกษตรกรให้มีการปรับฐานราคาหน้าฟาร์มมาอยู่ในระดับที่อยู่ได้ ไม่ขาดทุน
ในขณะเดียวกันการปรับเกณฑ์คำนวณราคาขายจาก 2 เท่ามาเป็น 1.7 เท่า ก็ส่งผลให้ราคาปลายทางผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป นายสัตวแพทย์ สุทัศน์ กล่าว