DOF Not Reply SAT Question

กรมประมง ชี้แจงสมาคมหมูไม่ตรงคำถาม กรณีการออกใบอนุญาตนำเข้าปลาแช่แข็งประกอบการสำแดงเท็จ 1,405 ใบ ปี 64-66 ทั้งๆ ที่สินค้าคือ “หมูเถื่อน” หลังถามไป 6 เดือน

2 กันยายน 2567 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - 6 เดือนผ่านไปกรมประมงตอบหนังสือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ไม่ตรงคำถาม ว่าการสำแดงเท็จเป็นปลาแช่แข็ง โดยมีใบอนุญาตปลอมจำนวน 1,405 ใบ ช่วงปี 2564-2566 เชื่อมโยงเจ้าหน้าที่กรมประมงอย่างไร

          ตามหนังสือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มีการเชื่อมโยงการนำเข้าเนื้อสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เป็นการสำแดงเท็จในช่วงระหว่างปี 2564 ถึง 2566 ที่มีจำนวนถึง 2,385 ใบขน มีการสำแดงเท็จเป็นปลาแช่แข็งจำนวน 1,405 ใบขน เท่ากับมีการออกใบอนุญาตนำเข้าปลาสูงถึง 1405 ครั้งเช่นกัน

          ในประเด็นที่มีการออกใบอนุญาตนำเข้าปลาที่ต้องมีเอกสารประกอบอย่างรัดกุม ดังนี้

          กลับไม่มีการตอบในประเด็นดังกล่าวแต่ประการใดว่าพบการทำทุจริตของเจ้าหน้าที่กรมประมงหรือไม่อย่างไร ทั้งๆที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว และเปิดเผยโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นทางสาธารณะอยู่แล้ว โดยคำถามของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีดังต่อไปนี้

                   “ตามคดีพิเศษที่126/2566กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการแจ้งจำนวนการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกรจากต่างประเทศในช่วงปี2564-2566 จาก10 บริษัทตามคดีพิเศษที่59/2566 มีจำนวนการลักลอบนำเข้าทั้งสิ้นตามจำนวน2,385 ใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน1,405 ใบขนที่มีการขอออกใบอนุญาตนำเข้าปลาเพื่อมาประกอบในShipping Document มาประกอบการสำแดงเท็จเป็นสินค้าปลาแช่แข็งโดยสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เป็นสินค้าเนื้อสุกร (ลักลอบ) ที่มีความผิดสำเร็จแล้วโดยมีระบบFSW หรือFisheries Single Windowที่อธิบดีกรมประมงได้แถลงข่าวเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์2567 ถึงความรัดกุมซึ่งในรายละเอียดเอกสารประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้าปลาที่มีขั้นตอนของเอกสารประกอบไว้เป็นจำนวนมากที่ยากต่อการทุจริตจึงเห็นว่าน่าจะสามารถสืบสวนหาผู้กระทำความผิดในกรมประมงได้ 

                จึงใคร่ขอท่านรัฐมนตรีว่าการฯในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมงโปรดพิจารณาสั่งการเพื่ออำนวยความสะดวกสนับสนุนเอกสารหลักฐานต่างๆเพื่อขยายผลถึงการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานของรัฐมาลงโทษเพื่อป้องกันการกระทำความผิดดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกและสนับสนุนกระบวนการสืบสวนเร่งหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด”

          โดยกรมประมงให้คำตอบมาในลักษณะที่ต่างช่วงเวลากับช่วงเวลาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีคำถามไป โดยตอบภารกิจต่างๆ ของปีปัจจุบัน ไม่ตรงกับคำถามความผิดสำเร็จจำนวน 1,405 ใบอนุญาต ระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้  

  1. กรมประมงได้ดำเนินการร่วมกับกรมปศสัตว์ และชุดเฉพาะกิจพญานาคราช ในการตรวจสอบเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของผู้นำเข้าจำนวน 3 ราย ที่ยื่นผ่านระบบเชื่อมโยงคำขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ต (Fisheries Single Window - FSW) และพบว่าผู้นำเข้า จำนวน 3 ราย ได้ทำการปลอมแปลงข้อมูลในสำเนาใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) และได้ดำเนินการแจ้งความกับผู้นำเข้าทั้ง 3 ราย จำนวน 20 คดี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
  1. ประมงได้มีคำสั่ง ที่ 82/2567 ลงวันที่ 30 มกราคม 2567 เรื่อง จัดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วยผู้แทนจากกองกฎหมาย กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กองวิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันปัญหาการนำเข้า ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย และกำหนดแนวทางดำเนินคดีตามกฎหมายกับกระทำความผิดรวมถึงแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาและป้องกันการนำเข้า ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น
  2. กรมประมงได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อตรวจสอบเอกสารใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ซึ่งออกโดยหน่วยงาน Ministry of Agriculture, Livestock and FoodSupply (MAPA) ที่ใช้ประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ หรือ ผลิตภัตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยกรมประมงได้รับการตอบกลับจากสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารประกอบการนำเข้าที่กรมประมงได้รับจากผู้นำเข้าอีก จำนวน 15 ประเทศ หากได้รับการยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม กรมประมงจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมกับผู้กระทำความผิด
  3. กรมประมง โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้าของผู้นำเข้า จำนวน 3 ราย เพื่อดำเนินการร้องทุกข์กข์กล่าวโทษ กับผู้นำเข้าที่มีการใช้เอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปลอม โดยได้ดำเนินการแจ้งความแล้ว จำนวน 307 คดี และอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและรอการยืนยันข้อมูลจากประเทศผู้ส่งออกเพิ่มเติม ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ได้มีการประสานข้อมูลและการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการแจ้งความแก่ผู้กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ชุดเฉพาะกิจพญานาคราชและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
  4. ความคืบหน้าผลการตรวจสอบการกระทำผิดทางวินัยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าซากสัตว์ผิดกฎหมาย ขอเรียนว่า กรมประมงได้มีคำสั่ง ที่ 715/2564 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงได้ประชุมกำหนดประเด็นแนวทาง และวางแผนแนวทางการสอบสวนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
  5. กรมประมงได้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลและเอกสารการนำเข้าของผู้นำเข้าที่อยู่ระหว่างสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ และมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกันและปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย

          จากการตอบของกรมประมงจะมีเพียงข้อ 5 และข้อ 6 ที่เกี่ยวกับการสืบหาความจริงโดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และการส่งข้อมูลและเอกสารการนำเข้าของผู้นำเข้าที่อยู่ระหว่างการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

          อย่างไรก็ตามสำหรับสำนวนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำความผิดจนถึงปัจจุบันมีอยู่ทุกสำนวนคดีพิเศษที่พนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จแล้วทั้งนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดเชื่อมโยงการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรช่วงปี 2564-2566 ซึ่งกรมประมงไม่ได้ตอบคำถามที่เชื่อมโยงการออกใบอนุญาตนำเข้าปลาแช่แข็ง ช่วงปี 2564-2566 จำนวน 1,405 ใบ ที่นำไปประกอบการสำแดงเท็จ กับ สินค้าหมูเถื่อน ว่ามีข้าราชการกรมประมงเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในช่วงดังกล่าวนี้ ประการใด? อย่างไร? และไม่มีการสำเนาหนังสือตอบถึง รมว.ยุติธรรม และ รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

          เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการอุตสาหกรรมสุกรของไทย และผลการตรวจสอบและการทำงานของรัฐบาลทั้ง 2 ชุดที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้าจากการร่วมกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องดังกล่าวแต่ประการใด แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการในลักษณะสืบหาข้อเท็จจริง ทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตร และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง  มีแต่การทำงานของพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น ที่สำนวนที่ดำเนินการเสร็จที่ได้ส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งเรื่องนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะดำเนินการส่งหนังสือเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Visitors: 470,944