Official Pig Supply Cut Kick Off

กรมปศุสัตว์ขอรายใหญ่เริ่ม D Day ส่งหมูเข้าโครงการตัดวงจร 27 มิถุนายนนี้ โดยนายกหมูขอให้ร่วมยกระดับราคาเสริมด้วย

17 มิถุนายน 2567 กรมปศุสัตว์ - กรมปศุสัตว์เชิญ 10 รายใหญ่ ฟาร์มสุกร เข้าประชุมจัดสัดส่วนและกำหนดวันเริ่มอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ทันทีหลังวันสุดท้ายของการปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการวันที่ 25 มิถุนายน 2567

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับ 10 ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการตัดวงจรลูกสุกร  โดยประสงค์ให้ทุกบริษัทเริ่มโครงการพร้อมกันในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 นี้ และดำเนินไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 27 กันยายน 2567 ตัวมีจำนวนการตัดอยู่ที่ 5% ของจำนวนแม่พันธุ์ในแต่ละเดือน โดยจะทำการหักตัวเลขที่แต่ละบริษัทส่งเข้าร่วมในช่วงของภาคสมัครใจ โดยจำนวนเป้าหมายทั้งหมดอยู่ที่ 75,000 ตัว แบ่งเป็นเดือนละ 25,000 ตัว โดยให้ภาคบริษัททำแผนส่งลูกหมูเข้าโครงการฯ ภายในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ที่ Email: ext_pig@dld.go.th และจะประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน อีกครั้งก่อนเริ่มส่งลูกสุกร ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567  

คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่มอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เป็นผู้ผลักดันให้มีการประชุมในวันนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนในการจัดสรรจำนวนและกำหนดวันเริ่มอย่างเป็นทางการเพื่อผลที่ได้จะได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประธานที่ประชุมกล่าวเพิ่มเติมหลังจากกำหนดปริมาณตัวเลขของแต่ละฟาร์มในการส่งเข้าร่วมตัดวงจรการผลิตสุกร ซึ่งในประเด็นดังกล่าวกรมปศุสัตว์จะมีการส่งหนังสือแจ้งจำนวนจัดสรร กับทุกฟาร์มอย่างเป็นทางการทั้ง 39 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ในขณะที่ฟาร์มที่เข้าเกณฑ์แต่ยังไม่ได้มีการสมัคร รองอธิบดีจะแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดติดตามขอให้เข้าร่วมกันทุกฟาร์ม

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ยังอยู่ระหว่างการเดินทางในต่างประเทศ ได้ฝากถึงโครงการนี้ขอให้กลุ่มฟาร์มครบวงจรที่เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพในการกำหนดทิศทางของราคาสุกรขุน ให้ช่วยยกระดับราคาขึ้นมาให้เกินกว่าต้นทุน หรือ เป้าหมายอยู่ที่ 80 บาท และก็ขอให้ยืนระยะจนกว่าจะมั่นใจว่ารายย่อยจะได้ราคาที่สามารถอยู่ได้

โดยนายสิทธิพันธ์ได้ฝากถึงกรมปศุสัตว์ให้ช่วยสอดส่องกลุ่มผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์ม อย่าให้มีการกดราคากับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ยังคงเหลืออยู่ โดยสามารถใช้มาตรการในเรื่องของการเคลื่อนย้ายมากำกับดูแลการค้าสุกรหน้าฟาร์มไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน 

โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเดินหน้าการอบรมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสุกร (GAP สุกร) เพื่อให้ผู้ประกอบฟาร์มสุกรทุกขนาดมีความพร้อมที่จะต่อสู้กลับมาประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรใหม่ถึงแม้จะมีปัญหาในเรื่องของการนำสุกรเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามากดดันอย่างต่อเนื่อง

โดยการอบรมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา และวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดขอนแก่น โดยในการจัดทุกครั้งต้องขอขอบพระคุณสำนักงานปศุสัตว์เขต สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ที่จัดวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นวิทยากรในทุกๆ ครั้งของกิจกรรมนี้

Visitors: 470,950