Expand the Free Zone Case

DSI สานรับขยายผลอาชญากร Free Zone ตามข้อกังวลของผู้เลี้ยงสุกรแต่ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ได้งบทำคดีเพิ่มเติมก่อนเดินทางรวบรวมพยานหลักฐาน 7 ประเทศ ในปีนี้

4 มิถุนายน 2567 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง - พ.ต.ต.ณฐพล เผยข้อกังวลของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ในภารกิจที่ DSI กำลังติดตามอยู่ แต่ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ได้  โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการทำคดี วางแผนเดินทาง 7 ประเทศแรก รวบรวมพยานหลักฐานคดีหมูเถื่อนภายในปีนี้

พ.ต.ต ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าชุดสอบสวนคดีหมูเถื่อน และนายดิเรก คชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมร่วมแถลงรายละเอียด 17 ตู้คอนเทนเนอร์สุกรเถื่อน ที่เก็บรายละเอียดทางคดีไว้เรียบร้อยแล้วเตรียมส่งมอบกรมปศุสัตว์เพื่อทำลาย

นายฐิติพงศ์ คำผุย ผอ.ส่วนบริการศุลกากร 1 ได้ให้รายละเอียด 17 ตู้คอนเทนเนอร์เนื้อสุกรตกค้างซึ่งบางรายมีใบอนุญาต บางรายไม่มีใบอนุญาตนำเข้า โดยมีทั้งตู้ตกค้างไม่ยื่นใบขน เป็นของผ่านแดนตกค้าง บางส่วนเป็นของผ่านแดนจากฮ่องกง ไป สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งตู้ตกค้างดังกล่าวเป็นภาระต่อกลุ่มสายเรือที่มีค่าใช้จ่ายตกประมาณวันละ 1,500 บาท ในการประชุมครั้งนี้ DSI มาเป็นพยานเพื่อให้กรมศุลกากรส่งมอบกรมปศุสัตว์นำไปทำลาย หลังจากที่ได้นำไปขยายผลเป็นข้อมูลทางคดีเรียบร้อยแล้ว

พ.ต.ต.ณฐพล ได้กล่าวว่าตู้สินค้าตกค้างทั้งหมดมีผู้กระทำความผิด 3 บริษัท ที่ดำเนินคดีไปแล้ว และ 7 บริษัทที่ยังไม่เคยดำเนินคดี โดยสำนวนที่มีผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปัจจุบันมี 10 สำนวน ทำสำนวนเสร็จไป 6 คดีส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.แล้ว โดยคาดว่าอีก 4 สำนวนจะทำคดีแล้วเสร็จ ภายในปีนี้

กรณีและคดีพิเศษ 126/2566 ที่เป็นตัวเลขการนำเข้าเนื้อสุกรอย่างผิดกฎหมายจำนวน 2,388 ตู้ ปัจจุบัน DSI ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อจะเดินทางไปรวบรวมพยานหลักฐานในต่างประเทศจำนวน 7 ประเทศ ภายในปี 2567 โดยเริ่มจากปีงบประมาณ 2568 หรือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 

โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวมีกำหนดที่จะเข้าพบสถานทูตบราซิลในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 นี้ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นสินค้านำเข้าจากประเทศบราซิลพบเอกสารปลอมแปลงมากที่สุด

ตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ให้รายละเอียดข้อกังวลของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ สรุปได้เป็น 6 ข้อโดยได้ทำเป็นหนังสือให้ขยายผลทั้ง 6 ข้อ ลงนามโดยนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมีนายวันชัย อัศวพันธนิมิตร กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องการขยายผลดังกล่าว

หลังจากที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการสรุป 6 ประเด็นข้อเรียกร้อง ให้ขยายผล พ.ต.ต.ณฐพลได้ตอบในที่ประชุมว่าข้อกังวลของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขยายผลเกือบทั้งหมดแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากต้องมีพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการในการขอความร่วมมือผ่าน mage ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความชัดเจนและนำหลักฐานมาสนับสนุนข้อกังวลของสมาคมได้อย่างแน่นอน

โดยข้อกังวล 6 ข้อของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกอบไปด้วย

  1. ปริมาณการซื้อ-ขายสินค้าสุกรในเขตปลอดอากร ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้มีการนำสินค้าประเภทซากสัตว์ ประเภทสุกร เครื่องในโค ตีนไก่ เข้ามาในประเทศไทย รวมจำนวน 3,469 ตู้(อัพเดทวันนี้โดย พ.ต.ต.ณฐพล เพิ่มเป็นจำนวน 5,900 ตู้) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเลขคดีพิเศษ 126/2566 ที่มีการนำเข้าช่วงปี 2564-2566 จำนวน 2,388 ตู้ จาก 2,385 ใบขนสินค้าขาเข้า ที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นย้อนหลัง ซึ่งต้องขยายผลในลักษณะเดียวกันกับที่เป็นความผิดต่างกรรม และมีจำนวนครั้งของการกระทำความผิดสูงมาก
  1. จำนวนลูกค้าผู้ซื้อต่อในประเทศไทยจากผู้กระทำความผิดในเขตปลอดอากรดังกล่าว จากประมาณ 100 ราย ของกลุ่มบริษัทในเขตปลอดอากรดังกล่าว ยังไม่มีการขยายผลแต่อย่างใด โดยพนักงานสอบสวนได้เก็บหลักฐานดังกล่าวมาไว้ในวันที่นำหมายเข้าตรวจ โดยพนักงานสอบสวนประเมินปริมาณการซื้อขาย 3 ปีย้อนหลัง มีจำนวนถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในจำนวนลูกค้ามียอดซื้อขายสะสมสูงถึง 6,000 ล้านบาท โดยลูกค้าในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เช่นกัน ที่สามารถนำมาดำเนินคดี และยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน เพราะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสุกรไทยอย่างมาก
  1. การกระจายสินค้าผิดกฎหมายในเขตอากรดังกล่าว จะกระทำในลักษณะของการนำสินค้าออกไปยังประเทศที่ 3 แต่ใช้การขนย้ายกลับเข้าประเทศ ในลักษณะกองทัพมด นำไปกระจายตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ  จึงควรจะมีการขยายผลนำรายชื่อห้องเย็นในเครือข่าย มาตรวจสอบว่ารับรู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งน่าจะติดตามได้ไม่ยาก หลังมีการขึ้นทะเบียนห้องเย็น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ตามโครงการการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการห้องเย็นตั้งแต่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นไป ตามนโยบายการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่มีกรอบเวลาที่สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
  1. ยังไม่มีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงการขออนุญาตประกอบการเป็นเขตปลอดอากร ซึ่งเป็นอำนาจการอนุมัติของอธิบดีกรมศุลกากร  และสืบสวน สอบสวนกระบวนการตรวจสอบ หลังการได้รับการอนุมัติเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิด ตามวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตดังกล่าว
  2. ในการนำหมายเข้าตรวจบริษัทผู้กระทำความผิดในเขตปลอดอากรดังกล่าว ไม่ปรากฏการอายัดสินค้าในเขตปลอดอากรที่มีจำนวนสูงมาก ซึ่งคาดว่าสินค้าใน    เขตปลอดอากรดังกล่าว จะยังคงมีการปล่อยออกสู่ตลาดและกดดันราคาสุกรขุน ที่เป็นการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยอย่างต่อเนื่อง
  1. จากรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา ได้รายงานการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้บริหารสตรีท่านหนึ่งของบริษัทในกลุ่มที่เป็นเขตปลอดอากร มีความเชื่อมโยงถึงนายด่านกักกันท่านหนึ่ง (ของกรมปศุสัตว์)  จึงขอทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบข้าราชการท่านนี้ เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียต่อกรมปศุสัตว์โดยรวม เพราะสำนวนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดที่ส่งไปยัง ปปช. 5 สำนวน (59,101,104,105 และ 106/2566) ยังไม่มีรายงานข่าวความคืบหน้า การทำความเห็น หรือ ส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ ซึ่งการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นความเสี่ยงต่อเนื่อง จากการอำนวยความสะดวกให้เกิดการกระทำความผิดที่จะกระทบถึงตลาดสุกรไทย

 

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้กล่าวขอบคุณสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในช่วงการลงพื้นที่เปิด 17 ตู้ตกค้าง กรณียื่นข้อเรียกร้องให้การขยายผล ซึ่งปกติที่พนักงานสอบสวนก็จะหาประเด็นในการขยายผลกันอยู่แล้ว แต่ถ้าภาคเอกชนได้มีการส่งข้อกังวล และแนะนำให้ขยายผลในประเด็นต่างๆ ก็จะเป็นการทำงานร่วมกันที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

Visitors: 470,946