GDP Q1 2024 Agri - 3.5%

GDP Q1/67 การบริโภคภาคเอกชนไม่มีปัญหา อย่ากดราคาภาคปศุสัตว์วัตถุดิบตั้งต้น จนเป็นสาเหตุหนึ่ง GDP ภาคเกษตรติดลบ กระทบ GDP รวม และหนี้สินภาคครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

21 พฤษภาคม 2567 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - หลังสภาพัฒน์ประกาศ GDP Q1/2567 นายกหมูชี้การกดราคาหมูและสินค้าปศุสัตว์ ทำ GDP ภาคเกษตรติดลบและโตต่ำ ตลอดช่วง 4 ไตรมาส ตั้งแต่ Q2/2566 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนบวกสูงตลอด

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มองตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 โดยเฉพาะ GDP ภาคเกษตรที่ติดลบถึง -3.5% ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ไตรมาสของปี 2566 กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรและภาคปศุสัตว์ได้ติดตามตัวเลข GDP ภาคเกษตรมาโดยตลอด ซึ่งมีตัวเลขอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นไตรมาส 1/2566 ที่บวกสูงสุด สอดคล้องราคาสุกรขุนที่ยังสูงใกล้เคียงต้นทุนการผลิตในช่วงนั้น ไล่เรียงมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ที่ GDP ภาคเกษตรต่ำลงตลอด ดังนั้นการดูแลราคาสินค้าภาคเกษตรทั้งหมด ที่เป็นตัวคูณปริมาณการผลิต จะส่งผลดีต่อทั้งการวัดผลงานรัฐบาลเชิงตัวเลข และการได้รับผลดีในรูปเม็ดเงินจากเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาขายที่สูงกว่าต้นทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนลงด้วย

 

เมื่อเทียบกับการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ออกข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับความต้องการบริโภคในกลุ่มของ Food service ที่มีสินค้าเนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบหลักมีการเติบโตอย่างสูงมาก   ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเข้าเชือดของกรมปศุสัตว์ที่ ทำ New High Record ในเดือนล่าสุดเมษายน 2567 ถึง 64,000 ตัวต่อวัน  ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการผลิตสุกรในปัจจุบันที่ฟาร์มขนาดเล็ก และขนาดย่อยต่างหยุดการเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก โดยมีฟาร์มระดับกลางลดกำลังการผลิตลงไป 20-50% จึงจำเป็นที่จะต้อง เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดตัวเลขการขอเข้าเชือด ที่ผ่านระบบ E-Movement ของกรมปศุสัตว์ว่ามีการเข้ามาแปลงสัญชาติหรือเปล่า เพราะการยื่นแสดงความประสงค์ขอเข้าเชือดเป็นการขอผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งอาจจะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับ

 

เชื่อมโยงกับจากการเข้าตรวจการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรที่เขตปลอดอากร ถึงแม้จะมีการจับกุมผู้บริหารของ 2 บริษัท ในเขตปลอดอากรที่จังหวัดนนทบุรีแล้วก็ตาม แต่ไม่ปรากฏการอายัดสินค้าดังกล่าว ในขณะเดียวกันจากข่าวการตรวจสอบปริมาณซื้อขายย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 ของเขตปลอดอากรดังกล่าวมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เป็นการประเมินโดยพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งสามารถประเมิน เป็นจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึงประมาณ 7,200 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่เป็นตัวเลขนำเข้าตั้งแต่ปี 2563-2566 เมื่อรวมตัวเลขย้อนหลังตามเลขคดีพิเศษที่ 126/2566 ที่เป็นนำการนำเข้าของ 10 บริษัท ที่มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วนั้น มีจำนวนถึง 2,388 ตู้ จากจำนวนใบขน 2,385 ใบขน ซึ่งรวมแล้วมีจำนวน ประมาณ 10,000 ตู้ สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามการเติบโต ของ GDP การบริโภคภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป ไม่ได้ติดขัดในเรื่องของราคาสินค้าซึ่งมีการนำเสนออยู่ตลอดว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากเนื้อหมูเมื่อไปเป็นสินค้าอาหารพร้อมรับประทานจะมีราคาสูงขึ้น 5 - 8 เท่าจากราคาเนื้อสุกร และสูงขึ้น 10-12 เท่าเมื่อเทียบกับ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม

 

ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจบ้านเมืองแบบเก่าๆ ที่ขาดความเป็นมืออาชีพในการวางโครงสร้าง การจัดสรรการเข้าถึงเศรษฐกิจ และการวางภาพประเทศว่าจะเน้นอุตสาหกรรมอะไร จะเดินหน้าในทิศทางไหน จึงมักเอาราคา หมู ไก่ ไข่ มาโจมตีกันทางการเมืองว่าแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ ทำให้มีการมากดราคาสินค้าภาคปศุสัตว์ ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะนี้มาร่วม 30 ปี โดยการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในนานาประเทศ ต่างมุ่งไปที่การพัฒนาอาชีพ การเข้าถึงรายได้ของทุกกลุ่ม และการพัฒนารูปแบบการประกอบอาชีพ การตลาด ของพลเมืองให้เข้ากับยุคสมัยเป็นหลัก ไม่ใช่แก้ปัญหาปากท้องโดยการมาคุมราคาสินค้าของภาคผู้ผลิต หรือราคาสินค้าเกษตร ซึ่งมันสะท้อนจากอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วง 5 ปีย้อนหลังของประเทศไทยที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน นายสิทธิพันธ์ ฝากข้อคิดให้กับคณะรัฐบาล

Visitors: 470,950