Smallholder pig farmers to Parliament

รายย่อยอีสานให้ข้อมูลกรรมาธิการเกษตรวันนี้ก่อนเสวนาเวทีใหญ่ 22 ธันวาคมที่ร้อยเอ็ด

14 ธันวาคม 2566 รัฐสภา - ประธานชมรมผู้เลี้ยงรายย่อยอีสานให้ข้อมูลกรรมาธิการเกษตรพร้อมข้อแนะนำการแก้ปัญหาหมูเถื่อนและแนวทางแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

          นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานการประชุมในวันนี้ มีคณะกรรมการร่วมประมาณ 30 ท่าน

          นายเดือนเด่น ยิ้มแย้มประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงศ์ ร่วมแจงสภาพการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรในภาคอีสาน ปัญหาที่ประสบในปัจจุบัน   พร้อมแจ้งปัญหาการเข้ามาของหมูเถื่อนและแนวทางแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ

          นายอุดมศักดิ์เป็นผู้นำเสนอรายละเอียดสภาพการประกอบอาชีพในภาคอีสาน โดยให้รายละเอียดว่าการเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในภาคปศุสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่มีความแพร่หลาย ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี

          ตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน การประกอบอาชีพดำเนินไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากปัญหาหมูเถื่อนและหมูถูกจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาหมูเถื่อนให้พุ่งเป้าไปที่การตรวจปล่อยจากด่านกรมศุลกากรเป็นหลัก เนื่องจากการดำเนินคดีของ DSI เป็นเพียงการเริ่มต้นตามคดีจากตู้สินค้าสุกรตกค้าง 161 ตู้ แล้วขยายผล โดยล่าสุดมีการทำสำนวนและส่งให้กับ ปป.ช. ไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีข้าราชการที่เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการประมาณ 10 รายชื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างรอสำนวนส่งกลับจาก ปปช.ซึ่งตามข่าวอาจจะมีการชี้มูลกลับมาด้วย  โดยตามลำดับขั้นตอนจะมีการส่งต่ออัยการแผนกคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว

          ช่วงหนึ่งนายอุดมศักดิ์ได้พูดถึงจะมีการทำข้อเสนอในการจำกัดเกี่ยวกับการขยายตลาดของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากฟาร์มครบวงจรเพื่อเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Board  โดยล่าสุดคุณเดินเด่น ยิ้มแย้ม กับ คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงศ์ ได้เข้าเป็นคณะกรรมการใน Pig Board แล้ว ซึ่งจะร่วมกันผลักดันโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับวงการสุกรต่อไป ซึ่งเดิมทั้งสองท่านได้ร่วมในคณะอนุกรรมการต่างๆ ของ Pig Board อยู่แล้ว

          กรณีการแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ทั้งคุณเดือนเด่น และคุณอุดมศักดิ์ ได้กล่าวถึงที่ผ่านมามีการขอให้นำกฎหมายมาใช้ ซึ่งมติดังกล่าวผ่านการเห็นชอบของ Pig Board ไปแล้วแต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังแสดงท่าทีบ่ายเบี่ยง จึงได้ฝากประเด็นดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยผลักดัน

          โดยได้แนะนำแนวทาง ในกรณีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำดังกล่าวสามารถที่จะกระทำในลักษณะขอความร่วมมือทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ค้าหน้าฟาร์ม ห้างค้าส่ง ห้างค้าปลีก และผู้จำหน่ายเนื้อสุกร เพื่อปรับระดับราคาตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางอยู่ในระดับต้นทุนก็จะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะฟื้นขึ้นมาได้

          นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ 1 ในคณะกรรมาธิการได้สอบถามเกี่ยวกับความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการกับปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ก็ได้รับคำตอบว่ามีอยู่ 2 ประการคือ การเชื่อมโยงวัตถุดิบอาหารสัตว์ และการชดเชยดอกเบี้ยให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งในทางปฏิบัติการกำหนดราคาตามโครงสร้างต้นทุนจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันระดับราคาอาหารที่มีเนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบมีการปรับราคาขึ้นสูงและอยู่ในระดับราคาที่เนื้อหมูที่กิโลกรัมละ 200 บาทที่เคยสูงสุดในช่วงปี 2565  การปรับระดับราคาหน้าฟาร์มที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และให้สอดคล้องกับราคาปลีกเนื้อสุกรก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด

          ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการประชุมเสวนาประจำปี 2566 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในเวทีดังกล่าวจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนงานราชการ ทั้งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคนใหม่ นายกสมาคมนักอาหารสัตว์ไทย และผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล เข้าร่วมเสวนา ซึ่งจะเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจส่งท้ายปีนี้ สามารถนำเรื่องราวที่ได้ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการเกษตรในวันนี้ นำไปขยายผลกับระดับท้องถิ่น และนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อช่วยกันผลักดันต่อไป

Visitors: 397,162