Small Holder Pig Farm TCCT

ประธานรายย่อยหมูอีสานฝากกรมการค้าภายในใช้กฎหมายแก้วิกฤตหมู ตามมติ Pig Board เรื่องขายตามโครงสร้างต้นทุนอย่างจริงจัง

1พฤศจิกายน 2566 ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – นายเดือนเด่นแจงหนทางเดียวแก้วิกฤตหมูครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ ใช้ อำนาจ กกร.ขายสุกรหน้าฟาร์มตามโครงสร้างต้นทุน ปิดห้องเย็น เร่งตรวจซุกหมูเถื่อน หลังประชุมรอบบูรณาการที่สำนักงานการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เมื่อ 30 ตุลาคม 2566

นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า วันนี้ชมรมได้ส่งเบาะแสให้แก่พันตำรวจตรี ณฐพล  ดิษยธรรม ผู้อำนวยการศูนย์สอบสวนคดีอาญาพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษเลขที่ 59/2566 ที่ได้รับไว้ในที่ประชุมที่สำนักงานการแข่งขันทางการค้า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นอีกเส้นทางหนึ่งของสินค้าเนื้อสุกรลักลอบตั้งแต่การตรวจปล่อยสู่จุดจำหน่าย ที่เป็นสัดส่วนที่ใหญ่พอๆ กับ กลุ่มขายตรงร้านอาหาร ตลาดสด 

ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นประธานการประชุมในวันดังกล่าว  ด้วยชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรนครปฐมได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้าเมื่อ 20 กันยายน 2566 โดยคำร้องเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประสบปัญหาราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาเป็นระยะเวลานาน อันมีสาเหตุมาจากบริษัทผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่หลายบริษัทมีการขยายการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีการกำหนดราคาขายเนื้อสุกรในราคาต่ำกว่าโครงสร้างต้นทุนจนส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย

 
ตลอดจนปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมายเข้ามาขายในราคาต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก โดยการประชุมยังไม่มีการเรียกผู้ประกอบการครบวงจร เพื่อบูรณาการความร่วมมืออันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่อไปในชั้นสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้เชิญผู้ร้อง พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมปศุสัตว์ และกรมการค้าภายใน เข้าให้ข้อมูลในเบื้องต้น

ที่ประชุมให้ พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 สรุปคดีซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เข้าตรวจดำเนินคดีผู้กระทำผิดที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายต่ออีก 14 จุด โดยจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงินเพิ่มเติม

ผู้แทนกรมการค้าภายในได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการการดูแลของกรมฯ โดยกำกับดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม และจัดการความสมดุล ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอย่างสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งผู้เลี้ยงรายย่อยได้แย้งในกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรขายขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่มีการออกมาแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความเป็นธรรมแต่ประการใด โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการยื่นแนวทางแก้ไขโดยใช้อำนาจ กกร.ตั้งแต่มิถุนายน 2566 ซึ่งความเสียหายมีมาตั้งแต่

  • ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรชนิดซื้อลูกอยู่ที่ประมาณ 96 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม หรือขาดทุน 3,600 บาทต่อตัว ทั้งระบบ 50,000 ตัวต่อ หรือขาดทุนวันละ 150 ล้านบาท หรือ 4,500 ล้านบาทต่อเดือน
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรชนิดซื้อลูกอยู่ที่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม หรือขาดทุน 2,000 บาทต่อตัว ทั้งระบบ 50,000 ตัวต่อ หรือขาดทุนวันละ 100 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน

เปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ตามข่าวหน้าสื่อสาธารณะเมื่อ 26 ตุลาคม 2566 ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ นบขพ. ออกมาแก้ปัญหาทันที กระทรวงพาณิชย์ออกหลายมาตรการทันที ช่วยพยุงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ในระดับประมาณ 8.50-9.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวโพดของชาวไร่ช้าวโพดมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ 4,500-5,000 บาท ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 720 กิโลกรัม หรือ 6.25-6.94 บาทต่อกิโลกรัม กระทรวงพาณิชย์อาจต้องพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง หรือการกำหนดราคารับซื้อ ซึ่งการเป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เช่นเดียวกับสุกรและเนื้อสุกร ก็ควรได้รับการกำกับดูแลให้เหมือนกัน

ซึ่งปัญหาที่เกิดกับวงการสุกรไทยในครั้งนี้ใหญ่หลวงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้น ประกอบกับตลาดยังคงมีซัพพลายส่วนเกินจากสินค้าสุกรนอกกฎหมายที่เข้ามาแทรกตลอดเวลา ทำให้ตลาดมีทางเลือกจากผู้กระทำความผิดที่ยังคงมีสินค้ากระจายตัวตามห้องเย็นต่างๆ อีกมากมาย จากการให้รายละเอียดของ พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ต่อที่ประชุมในวันดังกล่าว  

สรุป 3 มาตรการที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยนำเสนอตามมติ Pig Board เพื่อใช้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน กับ วิกฤตหมูในครั้งนี้

  1. ให้ใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ 2542 มาตรา 25(1)(2)(4) กำหนดราคาซื้อหน้าฟาร์มไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ทั่วราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อลดการขาดสภาพคล่องกระแสเงินสด กับฟาร์มสุกรทั่วประเทศ 
  2. ระงับการปล่อยสินค้าหมูแช่แข็งจากห้องเย็นเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากนั้นค่อยๆ ทะยอยออกเริ่มจาก 5-10% และดูปริมาณซัพพลายในตลาดประกอบ
  3. ระยะเวลา 90 วันของการปิดห้องเย็นขอให้ กรมปศุสัตว์และกรมการค้าภายในพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจเพื่อกวาดล้างกระบวนการนำเข้าสุกรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หมดสิ้นไป

          ตามข้อเสนอดังกล่าว ที่ประชุมในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ขอให้ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำรายละเอียดให้กรมการค้าภายใน ในที่ประชุมที่กรมปศุสัตว์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งขอให้กรมการค้าภายใน ใช้อำนาจ กกร.เพื่อแก้ไขวิกฤตให้ผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน 

 

Visitors: 397,113