DSI GO FORWARD

หลังพบการนำเข้าสุกรผิดกฎหมายจำนวน 2,385 ตู้ ตั้งแต่ปี 2564 DSI ต้องไปต่อ

โดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

          คดีลักลอบนำเข้าสินค้าสุกรโดยไม่รับอนุญาตคืบหน้าอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดเมื่อ 25 ตุลาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI มีการสรุปตัวเลขจำนวนตู้สินค้าสุกรที่ลักลอบนำเข้าตั้งแต่ปี 2564 มีจำนวน 2,385 ตู้ ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงนำไปคำนวณปริมาณโดยน้ำหนักได้ถึง 64,395 เมตริตัน หรือ 64.395 ล้านกิโลกรัม ซึ่งถ้าคูณด้วยราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม จะมีมูลค่าถึง 6,439.5 ล้านบาทเลยที่เดียว คำถามที่สังคมจะต้องตั้งคำถามต่อคือ

          ตามรายงานการลักลอบตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 2,385 ตู้ ได้ยอดนี้มาจากที่ไหน? จะขยายผลอย่างไร? และยอดที่ได้ ถึงปี 2566 หรือไม่? โดยต่อเนื่องจากคำถามที่ว่าได้จากยอดนี้มาจากไหน และได้มาอย่างไร ซึ่งก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าได้มาจากกลุ่มศุลกากร โดยจำนวน 2,385 ตู้ กับความผิดสำเร็จซึ่งชัดเจนว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ 2558 เพราะการนำเข้าสินค้าสุกร น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ให้ข่าวหลายครั้งว่ายังไม่มีการอนุญาตในกรณีของเนื้อสุกร  ซึ่งจะทำให้สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนสุกรและเนื้อสุกรที่เป็นสินค้าต้องกำกัดตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อประกอบในการทำพิธีการศุลกากร

          ดังนั้นจำนวนตู้ตามรายงานแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษจำนวน 2,385 ตู้ จะต้องมีลักษณะการขยายผลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับ

          ตามข่าวมีการรายงานเพิ่มเติมอีกว่าผู้กระทำความผิดประกอบด้วย ชิปปิ้ง ผู้สั่งนำเข้า และ ห้องเย็น

โดยมี  ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุน จึงเกิดคำถามตามมาอีกว่ากลุ่มนี้เข้าข่ายผู้สนับสนุนการกระทำความผิด หรืออาจจะมีทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 หมวด 2 ด้วยหรือไม่  จะมีการเอาผิดกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่? อย่างไร? โดยสามารถแยกได้ดังนี้

  1.        ข้าราชการ  หมายรวมถึงข้าราชการที่ทำหน้าที่ผ่านพิธีการตรวจปล่อย และข้าราชการที่อำนวยความสะดวกในการออกเอกสารการเคลื่อนย้าย แปลงสัญชาติไปสู่จุดจำหน่าย ใช่หรือไม่?
  2.        นักการเมืองท้องถิ่น  เข้าข่ายการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่นกัน ถ้ายังดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จะดำเนินการกลุ่มนี้อย่างไร? เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม
  3.        ผู้มีอิทธิพล กลุ่มนี้จะประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังรวบรวมปราบปรามผู้มีอิทธิพลด้วยหรือไม่? อย่างไร? ตามหน้าสื่อที่เป็นนโยบายเร่งรัดของท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกุล

 

          โยงไปโยงมาทำให้นึกถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการบังคับใช้กฎหมายที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ มีกล่าวไว้ต่อสาธารณะ และได้แนะนำประเด็นการแก้ไข คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ซึ่งการดำเนินคดีสินค้าสุกรลักลอบจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งในเรื่องของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งถ้ามีการพาดพิงถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ ข้าราชการระดับสูง ยิ่งต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพราะเป็นกลุ่มคนที่ต้องตระหนักอย่างยิ่ง ถึงบทบาทและหน้าที่ เพราะตำแหน่งที่ได้รับเป็นการโปรดเกล้าตำแหน่งตามพระราชโองการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

Visitors: 397,127