Pig Production Cost Q2 2566

ต้นทุนการเลี้ยงสุกรไตรมาส 2 เบาลงตามต้นทุนลูกสุกรพันธุ์ เฉลี่ย 96.52 ต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 90.57 บาทต่อกิโลกรัม

10 พฤษภาคม 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร - คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรประชุมคาดการณ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 96.52 จากค่าเฉลี่ยไตรมาส 1 ปรับปรุง ที่ 100.99 บาทต่อกิโลกรัม

              คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรได้คาดการณ์ ต้นทุนการผลิตสุกรประจำไตรมาสที่ 2 เฉลี่ยที่ 96.52 บาทต่อกิโลกรัม เป็นผลมาจากต้นทุนลูกสุกรพันธุ์ปรับตัวลงตามราคาสุกรขุนที่มีราคาลดลงกว่า 30% จากราคาต้นทุนของไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566

                            สรุปการคำนวนต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่ 1  และคาดการณ์ไตรมาสที่ 2 ปี 2566

อัตราการสูญเสียจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีอัตราที่ 10% ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566

              คุณสมพร กมลพรสิน คณะอนุกรรมการจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ฝากข้อคิดกับที่ประชุมไว้กรณีการคาดการณ์ต่างๆ ที่คณะอนุกรรมการร่วมทำงานแต่ละไตรมาส เป็นเพียงแค่ต้นทุน แต่ราคาตลาดที่ผ่านมาไม่สะท้อนต้นทุนแต่ประการใด เพราะปัจจุบันราคาตลาดสุกรขุนต่ำกว่าต้นทุนกว่า 30% ซึ่งที่ประชุมบันทึกข้อสังเกตุเพื่อนำไปต่อยอดหารือกับหน่วยงานที่ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง   

              ราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มยังคงได้รับแรงกดดันจาก Supply ส่วนเกินในตลาด ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังไม่มีทางท่าทีที่จะอ่อนตัวลง หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวยื่นต่อรัฐบาลในการปรับแก้ไขต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์จะให้คำตอบในการแก้ไขตามที่ร้องขอภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขส่วนต่างที่สูงเกินควร จะเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเกษตรกร โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก และรายย่อย ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีศักยภาพในการนำเข้ากากถั่วเหลืองด้วยตัวเอง ที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม(CIF ) + อากรขาเข้า 2% ในขณะที่ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าไซโลอาหารสัตว์ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงสุกรทุกระดับต้องแบกภาระทั้งในรูป การผสมอาหารเอง หรือ ราคาจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นตามต้นทุนอาหารสัตว์ข้าวโพดเม็ด กากถั่วเหลือง และผลพลอยได้จากข้าว  

              ราคากากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้ายังคงเป็นปัญหาต่อภาคปศุสัตว์ที่มีการเรียกร้องเมื่อ 9 พฤษภาคม จากกลุ่มสุกรโคเนื้อ และโคนม โดยปัจจุบัน กากถั่วเหลือง ยังไม่ได้มีการบัญญัติเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งหลังจากสิ้นเดือนนี้ ถ้าคำตอบออกมาแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ น่าจะมีการเสนอให้กากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจในการปรับโครงสร้างของราคาให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

              หลายสัปดาห์ที่ผ่านมากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้า มีการตั้งราคาจำหน่ายที่ 24 บาท 2 สัปดาห์นี้ย่อตัวลงมาอยู่ที่ 23.80 บาทและ 23.60 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ากากถั่วเหลืองนำเข้า ประมาณ 7-8 บาท ทั้งๆ ที่เป็นผลผลิตผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในกลุ่มทอด และแปรรูปอาหารในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในน้ำมันพืช และส่วนที่เหลือบรรจุขวดจำหน่ายปลีกสำหรับภาคครัวเรือน

แนวทางการดำเนินงานต่อหลังจากมีการชุมนุมของเกษตรกรทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

1.สมาคมผู้เลี้ยงได้ประสานกรมศุลกากรเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566 ให้ขึ้นบัญชี RED LINE กับกลุ่มผู้นำเข้าเนื้อสุกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากรยินดีที่จะดำเนินการให้โดยให้ประสานกรมปศุสัตว์ด้วยการส่งหนังสือแจ้งทั้งสองหน่วยงาน

2. จะส่งหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ ในการออกคำสั่งให้ห้องเย็นที่รับฝากสินค้าเนื้อสัตว์ ให้รายงานจำนวนสินค้ารับฝากคงค้างที่มีลักษณะต้องสงสัย ว่าจะเป็นสินค้าเนื้อสุกรนำเข้าจากต่างประเทศโดยไม่รับอนุญาตเพื่อการลงพื้นที่ตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งรายงานความเคลื่อนไหวย้อนหลังของการรับฝาก เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1-2 ปีย้อนหลัง

3.หลังจากยื่นหนังสือวันที่ 9 พฤษภาคม ข้อเรียกร้องข้อ 2 กับ กระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง 3 ข้อย่อย สมาคมจะเตรียมร่างโครงสร้างเสนอการกำหนดราคาสุกรและเนื้อสุกร ต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ให้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสินค้าควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าบริการ สอดคล้องกับการทำงานของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ยั่งยืน ต่ออุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ ที่สามารถนำไปใช้กับสินค้าปศุสัตว์ทุกชนิด ที่จะไม่ให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือขาดความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่ Ministry of Commerce ทั่วโลกถือปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังเป็นจุดอ่อน ซึ่งจะทำให้การเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของไทย (GDP) มีทิศทางที่ดีและมีอัตราการเติบโตต่อปีใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นอันดับแรก

Visitors: 397,168