NACC PACC

จากจี้นำเข้าเนื้อหมูจากสเปน ตรวจสต๊อกทุบราคาหมู ถึงขบวนการลักลอบนำเข้าหมู เกิดอะไรที่กรมปศุสัตว์?

29 กันยายน 2565 ปปท.ปปช.- ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยื่นทั้ง ปปช และ ปปท ร้องเรียนตรวจสอบขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน หลังมีประเด็นสงสัยการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่รัฐ  

            วันนี้ผู้นำกลุ่มชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดยคุณเดือนเด่น ยิ้มแย้ม วันวิสาข์ฟาร์ม คุณอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ ฟาร์มหมูยโสดอทเน็ตและสมาชิกชมรมฯ ได้นำหนังสือเข้ายื่นร้องเรียนประเด็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ต่อทั้ง ป.ป.ท. หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) หลังการแก้ปัญหาเนื้อหมูลักลอบไม่คืบส่อมีขบวนการสมคบคิด

          จากปัญหาการลักลอบนำเข้าสุกรเนื้อสุกรที่มีอย่างต่อเนื่องและหนาแน่นมากขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาและกระจายตัวไปทั่วประเทศ ถึงแม้จะมีข่าวการจับกุมและฝังทำลายแต่เมื่อเทียบกับปริมาณที่กระจายตัวอยู่ในตลาดยังถือว่าต่ำมาก

          ในขณะที่มีการตรวจสอบไปยัง “ท่าเรือแหลมฉบัง” มีข้อมูลว่ามีการนำเข้าถึงเดือนละประมาณ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุที่ 25 ตันต่อตู้เท่ากับ 1 เดือนจะมีการลักลอบนำเข้าถึง 25,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงและกระทบกับความต้องการสุกรขุนเข้าเชือด ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบราคาสุกรหน้าฟาร์ม

          ด่านแรกในการที่จะสกัดด้านการกระทำความผิด คือ กรมศุลกากรโดยมีกรมปศุสัตว์จะเป็นฝ่ายที่ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าซึ่งจะต้องใช้ประกอบกันแต่ปรากฏว่าการหลุดรอดมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากจึงมีการยื่นให้ ปปช.ทำการตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรและกรมปศุสัตว์เพื่อไต่สวนว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่  ที่ผ่านมาการตรวจจับหมูเถื่อนในแต่ละคดีไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้กระทำความผิด และไม่พบแม้แต่คดีเดียวที่ติดตามไปถึงบริษัทผู้นำเข้า ซึ่งจากการตรวจสอบมีบริษัทที่ได้รับการอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกรเพียง 27 บริษัท

          แนวทางในการป้องกันและปราบปรามดังกล่าว ยังไม่มีการสื่อสารอย่างชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติ ที่จะช่วยส่งผลให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมายขึ้นบ้าง

          การยื่นในครั้งนี้ประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันโรค ASF ในสุกร ที่อาจติดมากับหมูเถื่อน กรณียึดจับกุมได้รัฐบาลจะเป็นต้องฝังทำลายหมูเถื่อนตามหลักวิชาการ  แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าจำนวนหมูที่ถูกทำลายและไม่ทราบว่าสอดคล้องกับจำนวนที่ตรวจจับหรือไม่ โดยผู้ยื่นมีความกังวล ต่อการเลี้ยงต่ออาชีพการเลี้ยงสุกรของเกษตรกร ซึ่งอยู่ระหว่างการเพิ่มผลผลิตให้เข้าสู่สภาวะสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค สร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างทั่วถึงจึงมายื่นร้องต่อทั้ง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ดังกล่าว

จากจี้นำเข้าเนื้อหมูจากสเปน ตรวจสต๊อกทุบราคาหมู ถึงขบวนการลักลอบนำเข้าหมู เกิดอะไรที่กรมปศุสัตว์ยุคอธิบดีสรวิศ ธานีโต

              พฤติการณ์แปลกๆ และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิใช่อำนาจของกรมปศุสัตว์ เริ่มจาก

  1. พฤติกรรมแปลกๆ ช่วงกุมภาพันธ์ 2565รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ทำหนังสือลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตามขั้นตอนราชการ เพื่อขอพิจารณาให้อนุญาตนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศสเปน หากไม่นำเข้าอาจมีการลักลอบนำสัตว์จากเพื่อนบ้านและอาจก่อส่งผลให้เกิดโรคระบาดได้ นอกจากนี้ ในหนังสือระบุว่าหากไม่นำเข้าเนื้อหมูจากสเปนอาจกระทบกับการส่งออกไก่ไปสหภาพยุโรป (อียู) ของไทยในปี 2565
    (ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6883599 )

คำถามที่ 1 คือ การจะนำเข้าเนื้อสุกร ทำไมอธิบดีกรมปศุสัตว์ไม่หารือกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ หรือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเลย และเงื่อนไขการนำเข้า คือ การแลกกับการส่งออกไก่เนื้อไปสเปน ทั้งๆ ที่สเปนผลิตไก่เนื้ออันดับ 13 ของ EU-27 มีการส่งออกไก่เนื้อ 15% ของผลผลิตในประเทศ (ข้อมูล 2019 จากhttps://apps.fas.usda.gov/)  

คำถามที่ 2 คือ  ในหนังสือจากอธิบดีที่อ้างว่า “หากไม่นำเข้าอาจมีการลักลอบนำสัตว์จากเพื่อนบ้านและอาจก่อส่งผลให้เกิดโรคระบาดได้การอ้างในหนังสือในฉบับดังกล่าว(ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์) เหมือนมีการรู้อยู่แล้วว่าจะมีการลักลอบนำเนื้อสัตว์จากเพื่อนบ้านเข้ามา? ส่วนการจะสำแดงว่าเป็นสินค้าอาหารทะเล อาหารสัตว์ จะอยู่ในอำนาจกรมประมง หรือ กรมปศุสัตว์ ต่างก็อยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรีทั้งนั้น  

              ดีที่ว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในขณะนั้น ยังยืนยันว่าไม่ให้มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะแนวโน้มราคาหมูลดลงแล้ว สถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

คำถามที่ 3 คือ กรมปศุสัตว์รายงานเสมอปริมาณผลผลิตสุกรไม่ขาดแคลน และต้นทุนการผลิตสูงมีการประชุมร่วมในคณะอนุกรรมการการผลิตของ Pig Board ทุกไตรมาส โดยมี 1 ในกรรมการจากกรมปศุสัตว์ ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยกรมการค้าภายในขอความร่วมมือราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่มีการย่อตัวของราคาก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์  จึงมีคำถามว่ากฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นอำนาจของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  ราคาที่เกินกว่าต้นทุนเล็กน้อยและช่วงสั้น จะเข้ามาแทรกแซงโดยอนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรโดยกรมปศุสัตว์เลยหรือ?  ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบต้นทุนโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลับไม่มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสินค้าปศุสัตว์สูงขึ้น

              ราคาที่ลดลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ วันพระที่ 9 กุมภาพันธ์ ลงมาที่ 94-97 บาทต่อกิโลกรัม และลงมาต่อ 84-88 บาทต่อกิโลกรัมในวันพระที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นผลมาจากการระดมพลเข้าตรวจสต๊อกหมูตามห้องเย็นต่างๆ จนเกิดการระบายสต๊อกออกมาจนกระทบการเข้าจับสุกรขุนหน้าฟาร์ม เช่นเดียวกับที่กำลังจะกระทบจากเนื้อสุกรลักลอบการนำเข้า ในจำนวนเดือนละประมาณ 1,000 ตู้(25,000 ตัน) ที่เป็นเรื่องแปลกที่มีจำนวนใกล้เคียงกับ ประมาณ 25 ล้านกิโลกรัม(25,000 ตัน) ที่เป็นรายงานการตรวจสต๊อกหมูตามห้องเย็นในช่วงกุมภาพันธ์ 2565

คำถามที่ 4 คือ  จำนวนเนื้อสุกรในสต๊อกห้องเย็น 25,000 ตัน เป็นการบริหารสินค้าคงคลังเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศประมาณ 6-7 วัน จากการบริโภคเนื้อสุกรของประเทศประมาณ 4,000 ตันต่อวัน การตรวจในช่วงนั้นให้เหตุผลว่าตรวจการกักตุนสินค้า ทั้งๆ ที่ทุกจุดจำหน่ายเนื้อสุกร เขียง หรือ Shelf หมูในห้างค้าปลีก มีจำหน่ายไม่เคยขาดแคลน จึงเป็นพฤติการณ์และการอ้างแปลกๆ ยุคอธิบดีกรมปศุสัตว์นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ในขณะที่ราคาสุกรขุนย่อตัวหลังการเข้าตรวจสต๊อกท่านสรวิศก็ให้ข่าวว่าเป็นผลจากการตรวจสต๊อก...อ้าว!! สรุปว่าทั้งการอ้างตรวจการกักตุนที่จุดจำหน่ายไม่เคยขาดแคลน และการอ้างว่าราคาสุกรขุนลดลงช่วงนั้นเป็นผลจากการตรวจสต๊อก จึงน่าห่วงบ้านเมืองว่าทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองขาดความเข้าใจ บทบาท อำนาจ หน้าที่ตามกฎหมาย และการใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

              รัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติไว้ว่า  รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” โดยหลักนิติธรรม คือ การใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ การใช้อำนาจนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ เรียกว่า “การใช้อำนาจตามอำเภอใจ”  

              หลังการยื่น ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.โดยชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ คาดว่าภาคปศุสัตว์จะมีการยื่นเอาผิดข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองมากขึ้น ถ้ามีข้อสงสัยการประพฤติมิชอบและใช้อำนาจตามอำเภอใจ   

Visitors: 397,110