Pig Production Cost Q2 2565

ต้นทุนสุกรขุน Q2/2565 พุ่ง 98.81 ตามราคาพันธุ์สุกร ข้าวโพด กากถั่วเหลือง

18 มีนาคม 2565  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนประเมินตามคาด ต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 กระโดดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่ซื้อลูกสุกรเข้าขุน

              การประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนเพื่อพิจารณาการคาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่ 2/2565 มีการปรับปรุงต้นทุนการผลิตไตรมาส 1/2565 และคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไตรมาส 2/2565 ดังนี้   

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยง

ค่าพันธุ์สัตว์
              กรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงขุนของไตรมาส 2/2565 เป็นช่วงที่ราคาลูกสุกรพันธุ์สูงมาก 2,700-3,700 บาท ทำให้ต้นทุนตั้งต้นเข้าขุนสูง ในระดับที่ไม่ต่างกันทั้ง เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน 2565 ต้นทุนการขุนครบ 100 กิโลกรัมจึงได้รับการคาดการณ์อยู่ในระดับสูงที่ใกล้เคียงกัน

ค่าอาหารสัตว์
              เป็นค่าใช้จ่ายที่กล่าวถึงทั้งกลุ่มปศุสัตว์อย่างยาวนานตลอดปี 2564 ยาวมาจนถึงปี 2565 โดยหลักจะเป็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสุกรใช้ประมาณ 25% ของสูตรอาหารสัตว์ ที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวในช่วง 12.50-13.00 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน โดยต้นปี 2564 เริ่มที่ระดับราคาประมาณกิโลกรัมละ 9.20 บาท แล้วขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาประมาณ 40% 

              กากถั่วเหลือง โดยสุกรใช้ประมาณ 20% ของสูตรอาหารสัตว์ ที่ปัจจุบันสัปดาห์ล่าสุดสัปดาห์ที่ 14-18 มีนาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 23.00 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นปี 2564 เริ่มที่ระดับราคาประมาณกิโลกรัมละ 19.40 บาท แล้วขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาประมาณ 18.50% 

              มติที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่  และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยและผลไม้ โดยที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกมาตรการ 3:1  ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว และให้นำเข้าข้าวสาลีได้เสรีจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดยังไม่ออกสู่ตลาดและต้องนำเข้าภายใต้โควต้าที่กำหนดเท่านั้น ในขณะที่ราคาข้าวสาลีในตลาดโลก  WheatCBOT ล่าสุด 18 มีนาคม 2565  USD 10.4475/Bushel เทียบเท่า 12.723 บาทต่อกิโลกรัมที่ยังไม่รวมค่าขนส่ง  ก็ไม่ได้ต่างจากราคาข้าวโพดในประเทศแต่ประการใด  

              เรื่องนี้ภาครัฐ ยังต้องกำหนดรายละเอียดนำเข้าและวันที่เริ่มนำเข้าซึ่งต้องใช้เวลา ซึ่งยังถูกจำกัดด้วยโควต้านำเข้าและระยะเวลา เพื่อปกป้องชาวไร่ข้าวโพด แต่อย่าทิ้งเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไว้ข้างหลัง ให้แบกภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสุงขึ้นแรงมากในปีนี้ ขณะที่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ถูกวางกฎเกณฑ์กึ่งบังคับให้ซื้อในส่วนของต้นทุนการผลิต แต่กลับควบคุมราคาจำหน่ายผลผลิตที่แทบไม่มีมาร์จิ้น

Visitors: 396,913