ราคาหมู/Inflation Target/GDP กับทฤษฎี 2 สูง RETURN

ราคาหมู/Inflation Target/GDP กับทฤษฎี 2 สูง RETURN
บทความพิเศษ โดยฝ่ายวิชาการ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

15 มกราคม 2563

          ช่วงนี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศไทยตามราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ปรับตัวสูงขึ้น โดยทั้งประเทศซื้อขายกันระหว่าง 75-80 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับสุกรมีชีวิต ซึ่งเมื่อดูจากต้นทุนที่ คำนวณโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 66.53 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน กำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 12-20% ในขณะที่ราคาสุกรขุนกัมพูชา 100-120 บาท เวียดนาม 130-150 บาท จีน 200 บาทต่อกิโลกรัม จากปัญหาการระบาดของโรค ASF ในสุกร หลายประเทศในขณะนี้ โดยประเทศไทยยังไม่มีการระบาดแต่อย่างใด

          ราคาสุกรมีชีวิตมีขึ้นมีลงตามกลไกของตลาดเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรทั่วไป ในยามลงก็ขาดทุนกันไป ในยามขึ้นก็พอมีกำไรอยู่บ้าง เกษตรกรเลี้ยงสุกรจะเป็นคนที่เก่งเรื่องการบริหารเงินได้เป็นอย่างดี ผลประกอบการจะดูที่ Net Cash Flow ในแต่ละปี  แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับการบริหารเงินของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรคือช่วงเวลาราคาลงต่ำกว่าต้นทุนในอดีต จะใช้เวลาไม่นานนักแต่ปัจจุบันมีผู้ประเมินว่า ลงประมาณ 8-9 เดือน ส่วนเวลาติดบวกจะอยู่ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น

          ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบริหารเงินว่าใครจะบริหารสภาพคล่องในช่วงราคาขายติดลบได้ดีกว่ากัน เพื่อไปเฉลี่ยกับช่วงที่ราคาขายติดบวก  แต่ปัญหามันอยู่ที่เวลาราคาขึ้นจะมีเสียงเรียกร้องจากทางผู้ค้าปลีกเนื้อสุกร ผู้ที่ใช้เนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตอาหาร จะส่งเสียงร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายในซึ่งเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางทีคิดไปคิดมาก็อดน้อยใจแทนผู้เลี้ยงสุกรไม่ได้ประมาณว่า จะไม่ให้มีกำไรกันบ้างหรืออย่างไร?

          ในยามที่เกษตรกรขาดทุนนานๆ เสียงเรียกร้องจากเกษตรกรแทบไม่มีเพราะรู้ว่าไม่มีใครที่จะช่วยเราได้นอกจากตัวเกษตรกรเอง เกษตรผู้เลี้ยงสุกรจึงเป็นนักบริหาร Cash Flow ที่เก่งมากๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับเวลาราคาติดบวกจะมีการเรียกร้องและแรงกดดันต่างๆ นานาออกมาซึ่งก็เป็นปัญหาในลักษณะนี้มาชั่วนาตาปี เรื่องดังกล่าวคงไม่ตำหนิใครทั้งสิ้น เพราะเกษตรกรสุกรไทย ต้องถือ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หรือ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เพราะสภาพเยี่ยงนี้เป็น ตถตา หรือ  “มันก็เป็นอะไรของมันอย่างนี้แหละ”

          จริงๆ ประสงค์ของบทความจะเขียนเปรียบเทียบ กลับ Economic indicator ตัวอื่นๆที่รัฐบาล ใช้ในการควบคุมเศรษฐกิจ คือ Inflation Target กับ GDP

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง  และเป้าหมายสำหรับปี 2563 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3 % แทนการใช้เป้าหมายค่ากลางที่เดิมกำหนดค่ากลาง 2.5 % บวกลบ 1.5% ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2558 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

          สินค้าเนื้อสุกรคือเป็นตัวหนึ่งในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ที่เป็นตัววัดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

          แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลคุมเงินเฟ้อแต่สิ่งที่รัฐบาลอยากได้ก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มี GDP เป็นตัววัด ซึ่งไม่แปลกที่การบริหารของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยเราจะคุ้นชินกับนโยบาย เช็คช่วยชาติ ชิมช้อปใช้ เที่ยวเมืองรอง ทัวร์ 100 บาท ช้อปช่วยชาติ หรืออะไรต่อมิอะไรที่ชอบออกมาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปี

          ชาวบ้านก็คงไม่รู้หรอกว่านโยบายเหล่านี้เพราะอะไรจึงชอบออกช่วงปลายปี  แต่ถ้าให้นักเศรษฐศาสตร์ นักศึกษา จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือการผลักดัน GDP ให้ติดบวก ตามเป้าหมายที่รัฐบาลหรือแม้แต่สถาบันต่างๆ คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเป็นการแสดงฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ

          การออกนโยบายในช่วงใกล้ปิดงบ ถ้าเป็นวงการของการจัดทำงบการเงินหรือแม้แต่การจัดพอร์ตหลักทรัพย์ต่างๆ เขาเรียกว่า Window dressing มีสุภาษิตไทยเช่นกัน ไม่บอกก็คงนึกออกกัน

          ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเป็นมืออาชีพพอจะต้องดำเนินการ ในลักษณะบริหารเศรษฐกิจและการจัดการนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดทั้งปี ก็ต้องชมรัฐบาลปัจจุบันที่ต่อเนื่องกับท่านนายกรัฐมนตรีท่านเดิม กับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่พลเมืองและสื่อมวลชนจะต้องเกาะติดความคืบหน้าของการทำงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว กับ Roadmap ระยะยาวของประเทศ

          ถามว่า GDP คำนวณจากอะไร แน่นอนที่สุดก็คือ สินค้านานาชนิดที่มีในสาระบบของประเทศ โดยใช้จำนวนคูณด้วยราคาสินค้า

          ในช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะระบายอะไรก็แล้วแต่ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หมายความว่ารัฐบาลต้องการที่จะให้ปริมาณการซื้อขายมีปริมาณสูงขึ้น โดยราคายังคงอยู่ในระดับเดิมซึ่งจะทำให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น

          พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงทฤษฎีของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อน คือ ทฤษฎี 2 สูง คือ ค่าแรงงานสูง ราคาสินค้าสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำไมต้องให้ค่าแรงสูง ทำไมต้องให้ราคาสินค้าเกษตรสูง เพราะ 2 ตัวคือรายได้ของพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นฐานรากในระบบเศรษฐกิจจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายของเขาให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวหมุนเศรษฐกิจให้หมุนจากระดับฐานรากขึ้นไปสู่ด้านบน

          ปัญหาการรวยกระจุกจนกระจายเป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข โดยปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาระบบทุนที่ครอบงำเศรษฐกิจไว้จนเกือบหมดจึงเป็นปัญหาของการไม่ขยับเคลื่อนตัวการจับจ่ายหรือแม้แต่เศรษฐกิจระดับราก ซึ่งเป็นต้นทางหนึ่งของเม็ดเงินที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มาจากการประกอบอาชีพของเขา จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเริ่มที่จะมีโครงการเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งด้วยการสนับสนุน SME ต่างๆนานา แต่สิ่งที่รัฐบาลอาจจะดำเนินการบังคับไม่ได้ก็คือ จะทำยังไงที่จะจับมือให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อของกับ SME และผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งพลเมืองของประเทศถูกครอบงำทางจิตวิญญาณหรือพฤติกรรมการบริโภคไปโดยกลุ่มทุนหมดแล้วนั่นแหละ คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องทำ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชนต่างๆ ในการที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายในชุมชนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนระดับล่างมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ทำในลักษณะนี้ อาจจะพูดตรงๆ ว่าฝันไปเลยว่าเศรษฐกิจจะหมุนจากข้างล่างขึ้นข้างบน  ถ้าคุณไม่ไปล้างพฤติกรรมหรือสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนเข้มแข็งและช่วยเหลือกันก่อน

          ราคาสุกรที่สูงขึ้นในบางช่วงที่ถือว่าเป็นช่วงสั้นในแต่ละปี เป็นสิ่งที่จะสร้างเศรษฐกิจเติบโตโดยเกษตรกรร่วม 200,000 ราย จะมีกำลังการจับจ่ายสูงขึ้น เป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการที่จะมาผลักดัน ชิมช้อปใช้ ช็อปช่วยชาติ เบี้ยยังชีพต่างๆ นานาที่สารพัดจะคิดกันขึ้นมา ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น เทียบกับผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาสูงขึ้น ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเป็นไปตาม ทฤษฎี 2 สูง

          เป้าหมายเงินเฟ้อ GDP กับ ความย้อนแย้ง จึงสามารถอธิบายได้ว่ารัฐบาลต้องการเศรษฐกิจที่โตขึ้นโดยมี GDP เป็นตัววัด ในขณะที่เป้าหมายเงินเฟ้อ ก็ Misleading ในบางหน่วยงาน แทนที่จะปล่อยให้ตลาดเป็นไปตามกลไกของมัน ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรเป็นการที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคไม่ให้ต้องมีปัญหาในเรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ในบางช่วงบางเวลา สินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจะเป็นตัวผลักดัน GDP ให้สูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว จึงขอฝากข้อเสนอนี้ให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกลับมาคิดทบทวน 2 เรื่องด้วยกันคือ

     1. อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงขึ้นก็จริงแต่จะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดว่ามันเป็น Seasonal หรือเปล่า หรือแม้แต่การสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร  จะเป็นตัวผลักดันให้ GDP โตตามนั้นเอง นอกจาก GDP โตขึ้นแล้วส่วนหนึ่งก็คือ อำนาจการจับจ่ายจากภาคเกษตรก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้กำลังซื้อสินค้าอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย จะดีกว่าไหมถ้ามาเข้าใจในเรื่องของเงินหมุนเวียนจากฐานรากโดยเกิดจากกลไกของตลาดของมันเอง

     2. บางครั้งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จะต้องคิดและไตร่ตรองลงรายละเอียดให้มาก ถ้าเราคิดแต่แนวทางที่เคยทำเคยปฏิบัติกันตามมาแต่ไม่ลงรายละเอียดในองค์ประกอบของการคำนวณ รัฐบาลอาจเสียโอกาสในการที่จะผลักดันเศรษฐกิจที่เกิดจากกลไกตลาดของสินค้าเกษตร ลงไปอย่างน่าเสียดาย

Visitors: 397,160