ต้นทุนการเลี้ยงหมูไตรมาส 3 พุ่ง 68.56 บาท

ต้นทุนการเลี้ยงหมูไตรมาส 3 พุ่ง 68.56 บาท ไก่เนื้อแบกต้นทุนอาหาร รัฐประกันราคาข้าวและปาล์มน้ำมัน ไร้แววข้าวโพด หลังภาคปศุสัตว์โดนมัดมือ “รับประกันราคาซ่อนรูป” หลายฤดูการผลิต

6 กันยายน 2562 กรุงเทพฯ – ต้นทุนพันธุ์สุกร อาหารสัตว์ ดันต้นทุนหมูโดย สศก. ประเมินไตรมาส 3 แตะ 68.56 บาทต่อกิโลกรัม ภาคปศุสัตว์เตรียมหารือหาทางออก กับภาระการรับประกันราคา “ซ่อนรูป” ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขั้นต่ำ 8 บาทต่อกิโลกรัมมานานหลายฤดูกาล แต่สุดท้าย คือ ภาระภาคปศุสัตว์ไทย

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป ครั้งที่ 1/2562 เมื่อ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคอาหารสัตว์ ภาคปศุสัตว์ สุกร ไก่พันธุ์ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ โคนม และเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ โดยมี ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานที่ประชุม

          สมาคมฯ ได้รายงาน“มาตรการป้องกันโรค ASF โดยคุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคมฯ เป็นผู้นำเสนอซึ่งปัจจุบันโรค ASF ในสุกร กำลังล้อมรอบประเทศไทย กับ การร่วมแรงร่วมใจของผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย ถึงแม้จะมีการระบาดรอบบ้านในเอเชียประกอบด้วย จีน มองโกเลีย ฮ่องกง เกาหลีเหนือ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และล่าสุด เมียนมาร์

          ในการนำเสนอของภาคปศุสัตว์อื่นๆ กับปัญหาที่คล้ายกัน คือ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูง โดยเฉพาะไก่เนื้อของไทยที่สามารถเปิดตลาดที่ประเทศจีนได้ แต่แทบไม่เหลือส่วนต่าง กับการที่ต้องแข่งขันราคาเพื่อรักษาตลาด กับ คู่แข่งหลายประเทศที่มีส่วนประกอบวัตถุดิบต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่าไทยมาก

          ปัญหาและอุปสรรคการผลิตไก่เนื้อส่งออกหลัก คือ  ต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ของไทยต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์จำพวกข้าวโพด และกากถั่วเหลืองแพงกว่าคู่แข่งทำให้เสียเปรียบการแข่งขัน ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก สหรัฐอเมริกา บราซิล อาเจนติน่า ในราคาต้นทุนเฉลี่ย 4.5-5.0 บาทต่อกิโลกรัม  จึงมีโอกาสที่ไทยจะถูกแย่งตลาดไก่เนื้อไปในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งมากในปัจจุบัน

          สำหรับต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยสูงขึ้นตามลำดับ และมีต้นทุนในการเฝ้าระวังป้องกัน ASF ในสุกร สูงขึ้นจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร รอบบ้านในขณะนี้  โดยต้นทุนการเลี้ยงสุกรตามการคำนวณของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นดังนี้

จะเห็นได้ว่าระดับต้นทุนในระดับนี้(ไตรมาสที่ 3/2562 ที่ 68.56 บาท สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วไป) เทียบกับระดับราคาตลาดของการขายโดยเฉลี่ย ที่ไม่แน่นอน ประกอบกับภาวะโรค ASF กดดัน เพิ่มต้นทุนเฝ้าระวังทั้งระบบ ส่งผลผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อยร่วม 180,000 ราย ประกอบอาชีพยากลำบากมากขึ้น

          จากการประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน ปี 2562/2563 วงเงิน 34,873 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าว วงเงิน 21,495 ล้านบา และโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันวงเงิน 13,378 ล้านบท ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติทั้ง 2 โครงการเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรปลูกข้าวและปาล์มในภาวะราคาตกต่ำ ป้องกันความเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ และเพื่อให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ

          โครงการการประกันราคาทั้งเกษตรกรปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน จะสามารถสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาการขอความร่วมมือให้ภาคปศุสัตว์ประกันราคา (แบบซ่อนรูป) ข้าวโพดที่นานเกินไปจนกลายเป็นหน้าที่ สร้างความไม่เป็นธรรมต่อสังคมยุคประชารัฐ ที่ประชาชนและรัฐบาลต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

          จริงอยู่ว่า...เป็นการขอความร่วมมือ กับ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ภาคปศุสัตว์เป็นผู้จ่ายราคาอาหารสัตว์ ก็เท่ากับว่าราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ต่ำสุด 8 บาทต่อกิโลกรัม ที่ราคาประกันที่ภาคปศุสัตว์ต้องจ่ายแบบถูกมัดมือชก มานานนับปี โดยเกษตรกรส่วนหนึ่งผสมอาหารเองก็อยู่ในภาระนี้ เช่นกัน การขอความร่วมมือรับซื้อขั้นต่ำ จะต้องมีระยะเวลาชัดเจนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดปรับตัว ไม่ใช่ลากยาวในลักษณะนี้ การ Fixed Floor Price แต่ Open ไม่มี Cap Price  ยิ่งสร้างความเป็นธรรมอย่างยิ่ง

          การขอความร่วมมือในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการนำวิธีการนี้มาจากบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 25(1)

          มาตรา 25 เมื่อได้มีการประกาศกำหนดสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา 24 แล้วให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1)   กำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม ให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนดหรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง

          การใช้อำนาจที่จะไปกำหนดให้กลุ่มใดรับซื้อที่ราคาไม่ต่ำกว่าราคาใดราคาหนึ่ง พระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่าให้กำหนดเวลาสิ้นสุด ให้ทำเป็นประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “กกร.”  คณะกรรมการประกอบด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองประธานกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รองประธานกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินแปดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กรรมการ

การใช้อำนาจของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำเป็นประกาศตามความจําเป็นแก่พฤติการณ์แห่งกรณี โดยคำนึงภาระของผู้ปฏิบัติโดยต้องระบุถึงเหตุผล และผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามประกาศไว้ด้วย ประกาศดังกล่าวให้มีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ระบุไว้ในประกาศตาม (4) และเมื่อได้มีประกาศแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

          จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 27 สิงหาคม 2562 ที่ไม่มีรายการข้าวโพดลงไปด้วย น่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่โรงงานอาหารสัตว์มารับประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ซึ่งถือว่าไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่งต่อภาคปศุสัตว์ เพราะอาหารสัตว์จากโรงงานอาหารสัตว์ ก็จะมาสู่การบริโภคของภาคปศุสัตว์อยู่ดี และภาคปศุสัตว์ส่วนหนึ่งผสมอาหารเอง ก็ต้องเข้าเงื่อนไขขอความร่วมมือเช่นกัน

          ภาคปศุสัตว์ทั้งหมดน่าจะมีการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ต่อภาครัฐ เพื่อชี้แจงวิธีการที่ถูกต้องเป็นธรรมถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          อย่างไรก็ตามผู้แทนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่เข้าร่วมประชุม กับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รายงานกรณีขอให้สภาหอการค้าประสานตรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาปม CODEX ครั้งที่ 35 โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะทำหนังสือถึงสภาหอฯ เพื่อประสานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยน่าจะมีการหารือกรณีไทยเปิดตลาดหมูให้ญี่ปุ่นด้วย

(ข่าวหมูญี่ปุ่นhttps://www.japantimes.co.jp/news/2019/08/09/business/japanese-pig-farmers-cleared-ship-pork-thailand/ )

          ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มเนื้อสุกร การผลิตภายในไม่เพียงพออยู่แล้ว การเจรจาไม่สามารถอ้างการค้าต่างตอบแทนกรณีสุกรแปรรูปของไทยส่งไปญี่ปุ่นได้ เพราะไทยเสียดุลการค้าให้ญี่ปุ่น กว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากสินค้าอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น เครื่องยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ สินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (ตามเอกสารตัวเลขนำเข้า-ส่งออกรายปี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น)

Visitors: 397,168