หมูอีสานตลอดห่วงโซ่ร่วมระดมความเห็น หวังสร้างเศรษฐกิจแบ่งปันวงการสุกรอีสาน เป็นต้นแบบทั้ง 6 ภูมิภาค
หมูอีสานตลอดห่วงโซ่ร่วมระดมความเห็น หวังสร้างเศรษฐกิจแบ่งปันวงการสุกรอีสาน เป็นต้นแบบทั้ง 6 ภูมิภาค
21 พฤษภาคม 2562 ขอนแก่น – รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ขึ้นอีสานเปิดการประชุมระดมสมอง ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ หวังภาครัฐเอกชนร่วมดันพื้นที่บริหารจัดการตัวเอง และดัน Cluster สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับภูมิภาค
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานที่ประชุมร่วมด้วยแนวคิดการบริหารจัดการสุกร 6 ภาค ที่สืบเนื่องมาจากนโยบายที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ โดยการสานรับของกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในรายภาค ส่งเสริมการผลิตและจำหน่าย ลดต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งสร้างสมดุลให้กับกลไกการตลาดโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยใช้หลัก public-private-partnership ซึ่งเป็นขั้นตอนของสำรวจและระดมความเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมสุกรในระดับภาค
ทั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อหาจุดแข็งที่ควรส่งเสริม และจุดอ่อนของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เมื่อทราบปัญหาในระดับท้องที่ กรมปศุสัตว์จะสามารถดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตรงจุด
รองอธิบดีได้เน้นย้ำให้ดำเนินงานภายในกลุ่มอย่างเข้มแข็ง และมีกองทุนเพื่อบริหารจัดการภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้แนะนำแนวทางของกองทุนพัฒนาธุรกิจสุกรไทย ที่ได้มีการนำเสนอในที่ประชุมกรมปศุสัตว์แล้วโดยสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย โดยนายสัตว์แพทย์นพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย มาปรับใช้เป็นรายภูมิภาคซึ่งจะมีความคล่องตัวขึ้น จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการ Demand Supply การผลิตและการตลาด โดยสามารถกันไว้กรณีมีการชดเชยเพิ่มเติมโดยภาคเอกชน นอกเหนือจากการชดเชยภาครัฐตามพระราชบัญญัติ เพื่อจูงใจให้มีการแจ้งในกรณีเกิดข้อสงสัยการติดเชื้อของการระบาด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มของผู้ประกอบการ นำไปสู่การสร้างเสริมมาตรฐานการผลิตจนสามารถเป็นสินค้าปศุสัตว์ ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแบ่งปันในภูมิภาค และแปรรูปส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ในที่สุด ซึ่งเป็นแนวนโยบายระยะยาวที่ต้องลงมือลงแรงอย่างตั้งใจยาวนาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตามแนวทาง 3 P หรือ public-private-partnership
การนำเข้าและส่งออกสุกรมีชีวิตและซากในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 3 และ 4 ปี 2561 มีการส่งออกสุกรมีชีวิตทางด่านกักกันสัตว์จังหวัดเลยมากที่สุด เป็นลูกสุกรขุนคละเพศ ไปประเทศลาว จำนวน 23,634 ตัว ส่งออกซากสุกรทางด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานีมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเนื้อสุกรไปประเทศลาว จำนวน 1,363 ตัน
สรุปรายงานกลุ่ม ผู้ประกอบการต้นน้ำ ในธุรกิจสุกร วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค (SWOT analysis) ธุรกิจสุกรในภาคอีสาน จากเกษตรกรผู้เลี้ยง
จุดแข็ง :-
- มีมาตรฐานการผลิตสุกรสูงขึ้นจากมาตรฐานฟาร์มที่ภาครัฐกำหนด และมาตรการอื่นๆ ที่สนับสนุนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และมีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยมาก
- ใกล้แหล่งผลิตพลังงานกลุ่มคาร์โบไฮเดรต กับอาหารสัตว์ กลุ่มข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลายข้าว สำหรับเกษตรกรที่ผสมอาหารเอง
- มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทุกกลุ่มมีเอกภาพ สามัคคี ให้ความร่วมมือในทุกๆ เรื่องด้านการประกอบอาชีพ
จุดอ่อน : -
- ต้นทุนอาหารสัตว์สูงสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ใช้อาหารจากโรงงานอาหารสัตว์
- ราคาสุกรขุนผันผวนสูง แต่โดยรวมยังถือว่าเป็นการประกอบอาชีพที่ดี
- ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่ารายย่อย ภายใต้การแข่งขันเสรี
- การผลิตสุกรขาดกติกาในการควบคุม ขาดการแบ่งปันจัดสรรการผลิต ทำให้ผู้มีความสามารถขยายการผลิตโดยไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุม
โอกาส : -
- ยังมีการเลี้ยงไม่หนาแน่นควบคุมป้องกันโรคง่าย การผลิตยังน้อยกว่าความต้องการในพื้นที่
- ใกล้ตลาดส่งออกทั้ง สปป.ลาว กัมพูชาเวียดนาม และ จีนที่ตลาดยังมีความต้องการสูง
- ในพื้นที่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรสูง หมูยอ แหนม หม่ำ ไส้กรอก ฯลฯ
อุปสรรค : -
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งภาวะกลิ่น น้ำเสีย ถึงแม้กรมควบคุมมลพิษมีเกณฑ์ในการควบคุม กลิ่น น้ำ ผ่านเกณฑ์ แต่ชุมชนยังคงมีการร้องเรียนเสมอ บางส่วนใช้มวลชนสัมพันธ์แก้ปัญหา
- กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายแทรกแซงกลไกตลาดโดยเฉพาะกรมการค้าภายใน สร้างปัญหาในการประกอบอาชีพ เพราะไม่เคยมีมาตรการอะไรช่วงราคาตกต่ำ
- การนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจากนอกเขตเข้ามาแข่งขันในพื้นที่ไม่มีการควบคุม
- ปัญหาการนำเข้าเครื่องในสุกรจากต่างประเทศสร้างผลกระทบต่อราคาสุกรในประเทศ
- อุปสรรคเรื่องโรคระบาดอยากให้ภาครัฐเข้มงวดเรื่องการป้องกันโรคในภาพรวมให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ในลักษณะสร้างความตระหนักรู้ของผู้ทำมีโอกาสกระทำความผิดให้พึงระวังให้มากขึ้น
สรุปรายงานกลุ่ม กลุ่มกลางน้ำ กลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์
โรงฆ่าสัตว์
- ปริมาณโรงฆ่าสัตว์ถูกกฎหมายในพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ขนาดของสุกรที่เข้าทำการฆ่า รวมถึงการฆ่าลูกหมูที่ไปทำหมูหันยังไม่มีกฎหมายรองรับถูกต้อง
- ด้านมาตรฐานยังมีจำนวนมากที่ต้องปรับปรุง
- กฎหมายกำหนดให้โรงฆ่าสัตว์มีพนักงานตรวจโรค แต่ยังขาดพนักงานตรวจโรคที่ทำงานตามเวลาส่วนใหญ่ใช้บริการของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งจะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาทำงาน
โรงตัดแต่งซาก
- ปัญหาที่ตรวจพบกับโรงตัดแต่งซาก หรือ ที่เรียกว่าโรงงานแปรรูป กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมให้กรมปศุสัตว์ไปดูแลในเรื่องของโรงงานตัดแต่งซาก ครอบคลุมแค่โรงฆ่า การกำกับดูแลโรงงานตัดแต่งแปรรูปจะอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยากให้มีกฎหมาย หรือประสานงาน ให้อำนาจร่วมเข้าถึงเข้าไปกำกับดูแลโรงงานแปรรูปตัดแต่งด้วย
ห้องเย็น
- การขออนุญาตขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์มีส่วนคือ เข้าไปตรวจซากสัตว์นำเข้าและซากสัตว์ที่นำไปฝาก ไ
- ห้องเย็นในลักษณะที่สร้างขึ้นมาใช้เก็บผลิตภัณฑ์เอง และห้องเรียนที่เปิดให้ผู้เข้าใช้บริการฝากเป็นการทั่วไป กรมปศุสัตว์จะเข้าไปตรวจในลักษณะของสารวัตรกรมปศุสัตว์ มีลักษณะการเก็บสัตว์หลากหลายชนิด ทำให้มีโอกาสพบเพื่อนเชื้อโรคได้ ซึ่งอาจจะต้องประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมด้านข้อมูลการจัดเก็บ เพื่อประโยชน์ในการที่จะเข้าไปตรวจสอบได้อย่างสะดวกและมีการเก็บอย่างถูกสุขอนามัยมากขึ้น
- เสนอให้มีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในการที่จะนำสินค้าปศุสัตว์เข้าไปฝาก
การขนส่งเคลื่อนย้าย
- มีผลกระทบต่อคุณภาพและสุขอนามัยของซากปศุสัตว์ที่ทำการขนส่ง
- การเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตปัจจุบันมีการกำหนดเรื่องของสวัสดิภาพทำให้ลดความเครียดของสัตว์เลี้ยงสุกรในระหว่างการขนส่งได้ดีขึ้น
ปัญหาพ่อค้าคนกลาง
- ที่มีพฤติกรรมในการกดราคาเกษตรกรซึ่งอำนาจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไม่มีอำนาจในการเข้าไปกำกับดูแลในธุรกรรมได้ แนะนำให้มีการขึ้นทะเบียนพ่อค้าคนกลางซึ่งจะง่ายในการควบคุม โดยมีการสร้างเครือข่ายให้กรมปศุสัตว์เข้าไปกำกับดูแล จะได้ทั้งคุณภาพของบุคลากรและคุณธรรมของการประกอบอาชีพที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร
สรุปรายงานกลุ่ม ผู้ประกอบการปลายน้ำ ในธุรกิจสุกร ประกอบด้วยโรงฆ่า แปรรูป จำหน่ายเนื้อสุกร ธุรกิจอาหาร
ข้อเสนอเรื่อง Pig Board
- นำเสนอการแก้ปัญหาเรื่องหมูนั้น ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะต้องใช้ กำลังของบุคลากร ใช้งบประมาณ ความรู้ความเข้าใจ โครงสร้าง ลักษณะและสภาพปัจจุบันของธุรกิจสุกร
- แนะนำให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อระดมสมอง หรือ เป็นคลังสมอง(Think Tank) เพื่อจะได้นำความคิดที่ได้ จากผู้ที่มีส่วนได้เสีย ในทุกแง่มุม เพื่อเห็นภาพของปัญหา มีข้อเสนอเรื่องของ Pig Board ดังนี้
1) เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของผู้มีส่วนเสียทั้งหมด ธุรกิจสุกรขนาดใหญ่ กลาง เล็กและรายย่อย ในส่วนของคณะกรรมการ ควรคัดเลือกจาก 2 ส่วน ดังนี้
- กรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ภาครัฐอาจเป็น ปศุสัตว์จังหวัด ภาคเอกชน นายกสมาคม ชมรม ฯลฯ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ฯลฯ
- มาจากการสมัคร และคัดเลือกกันเอง โดยคัดจากคนที่มีความรู้ ความสนใจในการแก้ปัญหา ซึ่งคนเหล่านี้จะอยู่ใกล้กับปัญหาและถูกกระทบโดยตรง แต่ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ
2) บทบาทหน้าที่ ให้คณะกรรมการ Pig Board ระดับภาคและระดับจังหวัด ทำหน้าที่ในการระดมสมองในการแก้ปัญหาต่างๆ ดังนี้
- พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
- ช่วยทางเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมและป้องกันโรค
- ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาสุกร
ปัญหาและอุปสรรค
- ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายและใบอนุญาตต่างๆ
- เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์ม
- เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งฟาร์มขนาด ใหญ่ กลาง เล็ก และย่อย ควรจะให้มีการสำรวจฟาร์มและทำการ จัดลำดับชั้น (Grading) โดยใช้แรงจูงใจให้มีการปฏิบัติไปทีละขั้นละตอน และในแต่ละขั้นก็มีความยากง่าย และงบประมาณในการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นระดับ เช่น ก ข ค เป็นต้น
- โรงฆ่าสัตว์ ปัจจุบันเรื่องการขออนุญาตทำโรงฆ่าสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ถึง 9 หน่วยงาน จึงเป็นปัญหากับผู้ที่ต้องการทำโรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน
- ในเรื่องโรงฆ่านั้น ทางกรมปศุสัตว์ควรดึงกลับมาทำเองตามเดิม เพราะตอนนี้เหมือนไม่มีแม่งาน ไม่เป็น One Stop Service ทำให้ยุ่งยากในการดำเนินการมาก
- เรื่องโรงฆ่า ไม่ใช่ปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่เป็นปัญหาเรื่องการขออนุญาตตั้งโรงฆ่า
- อีกทั้ง โรงฆ่าก็ควรจะมีประเภท ก ข ค เช่นกัน เริ่มจากง่ายไปหายาก ไม่ใช่ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด เพราะธุรกิจโรงฆ่านั้น เป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนค่อนข้างน้อย ผู้ที่จะทำนั้น ส่วนมากต้องสามารถต่อยอดไปได้ เช่น เป็นเขียงหมูเองเป็นต้น
ปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์
ปัจจุบันเราเน้นเรื่องการตรวจสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งฟาร์มเล็กและรายย่อย มักไม่ได้รับการบริการ จึงเสียเปรียบฟาร์มใหญ่ เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายสัตว์ไปขายในจังหวัดอื่นได้ และถ้าจะรอให้ทางราชการมาเก็บ ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งก็อาจจะไม่ทันกับที่ตลาดต้องการ ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่กรมเองต้องมีความพร้อมในการให้บริการตรงนี้เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างฟาร์มใหญ่และฟาร์มเล็ก
เขียงหมู
ตอนนี้ที่ทำอยู่แล้วก็คือ ปศุสัตว์ OK และเขียงสะอาด แต่ปัญหาคือ แหล่งที่มาของหมู ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องมาจากฟาร์มมาตรฐานเท่านั้น อันนี้อยากให้แก้ระเบียบ อย่าพึ่งเอามาพันกัน เพื่อให้เขียงหมูสามารถซื้อหาหมูจากเกษตรกรได้โดยตรง อันนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือจากเขียงหมูมากขึ้น
เรื่องเสถียรภาพของราคา
เรื่องเสถียรภาพของราคามีแนวทางในการแก้ปัญหาได้ดังนี้
- ให้คณะกรรมการ Pig Board มีส่วนร่วมในการประมาณการเรื่อง Demand และ Supply ของหมู โดยหาตัวเลขกำลังการผลิตสุกรของทั้งฟาร์มขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ย่อย เพื่อให้ทราบตัวเลขที่แท้จริง และคอยแจ้งเตือนถึงภาวะหมูขาด หมูล้นด้วย
- ใช้ห้องเย็นให้เป็นประโยชนในการดูดซับหมูส่วนเกินกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะกับรายใหญ่ที่มีตลาด Modern Trade เอง
- ต้องตั้งกองทุนเพื่อรักษาเถียรภาพของราคาสุกร โดยการเก็บจากสุกรที่เข้าโรงฆ่า เช่น อาจจะเก็บตัวละ 10-20 บาท เพื่อเข้ากองทุน
เรื่องการควบคุมโรคระบาด
ปัญหาที่เกิดการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วนั้น สาเหตุหลักคือการไม่ยอมทำลายซากสัตว์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมด้วยการเคลื่อนย้ายได้ เพราะมีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์เสมอเมื่อมีโรคระบาด สิ่งที่ควรทำคือการชดเชยความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งกองทุนที่เราเก็บมาจากผู้เลี้ยงสุกรนี่แหละที่จะช่วยในการชดใช้ความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเราต้องเรียกเก็บจากผู้ที่ผลิตมาก จ่ายมาก เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมที่ปลายทาง(โรงฆ่า) แล้วนำกองทุนนี้มาพัฒนาผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจสุกรต่อไป อาจจะเรียกกองทุนนี้ว่า “กองทุนพัฒนาธุรกิจสุกร” ก็ได้ คือให้พัฒนาทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
การประชุมครั้งต่อไปจะมีการลงพื้นภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุง ในเขต 8 และ 9 โดยพื้นที่ภาคใต้มีลักษณะการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับภาคอีสาน เช่นกัน โดยกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากการประชุมร่วมเพื่อนำมากำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์สูงสุดของนโยบายนี้ต่อไป