2 สัปดาห์กับมาตรการช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี กับข้อกังขา...ต้องให้เกิดกระแสสังคมก่อนหรือ? ธรรมาภิบาลจึงจะมา

2 สัปดาห์กับมาตรการช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี กับข้อกังขา...ต้องให้เกิดกระแสสังคมก่อนหรือ? ธรรมาภิบาลจึงจะมา

3 กรกฎาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรไทยกับหนทางรอดที่จะดำรงอาชีพการเลี้ยงสุกรของไทยไว้กับเกษตรกรทุกขนาดของไทยเริ่มริบหรี่ ทนขาดทุนเกิน 10,000 ล้านมา 1 ปีเต็ม หลังความพยายามขอความร่วมมือทั้งระบบอย่ากดราคาตลอดสาย ขณะที่ Demand Supply เริ่มสมดุลมาตั้งแต่มีนาคม 2561 มีเพียงพลังของตัวเองเท่านั้นที่ต้องเข้มแข็ง ในขณะที่ 3 ห้างค้าปลีกสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังคงตั้งราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนเนื้อแดงหลักต่ำเกินจริงต่อเนื่อง

สถานการณ์การค้าสุกรขุนเริ่มดีขึ้นหลังมติการขอความร่วมมือจากการประชุมร่วมผู้เลี้ยงสุกร พ่อค้า โรงเชือด ห้างค้าปลีก เมื่อ 15 มิถุนายน 2561 ที่กรมปศุสัตว์ พญาไท โดยมีกรมปศุสัตว์กำกับดูแล และขอความร่วมมือให้รับซื้อขั้นต่ำสุกรขุนที่กิโลกรัมละ 60 บาท และตั้งราคาจำหน่ายเนื้อสุกรส่วนเนื้อแดงหลักที่เป็นส่วนของสะโพกและส่วนหัวไหล่ ตามโครงสร้างง่ายๆ ที่ราคาสุกรขุน x 2 บวกลบ 2 หรือ 118-122 บาทต่อกิโลกรัม โดยส่วนอื่นๆ เช่น สามชั้น สันนอก สันใน คอหมู ถือเป็นส่วนพรีเมียมจะมีการตั้งราคาตามที่ตลาดต้องการ โดยต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยตามการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัม

สุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าเกษตรที่จากต้นน้ำถึงปลายน้ำจะต้องมีกระบวนการชำแหละ ซึ่งจะมีต้นทุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การชำแหละ ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าขนส่ง บวกกำไรในแต่ละช่วง ประกอบกับ 100 กิโลกรัมของสุกรขุนยังแยกเป็นชิ้นส่วนที่ได้ราคาแตกต่างกัน การเปรียบเทียบราคาต้นทุนสุกรขุน กับ ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรส่วนเนื้อแดง จึงไม่สามารถเปรียบเทียบตัวเลข ต่อ ตัวเลขได้ ต้องใช้ต้นทุนรวมหลังการแปรรูปมาประกอบ ซึ่งสุดท้ายจะสอดคล้องกับสูตรที่นำมาเปรียบเทียบง่ายๆ ได้

ก่อนที่กรมปศุสัตว์จะเข้ามาแก้ปัญหาการร้องเรียนว่าการตั้งราคาจำหน่ายปลีกของห้างค้าปลีกที่ต่ำเกินควรเมื่อเทียบกับมาราคาต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดปัญหาพ่อค้าคนกลางนำไปเป็นข้ออ้างที่กดดันราคาหน้าฟาร์มจนราคาซื้อขายสุกรขุนหน้าฟาร์มไม่สามารถก้าวข้ามต้นทุนการเลี้ยงได้จนเกิดการเข้ามาแก้ปัญหานี้โดยกรมปศุสัตว์ที่เรียกทุกกลุ่มเข้ามาหารือจนได้ข้อสรุปตามมติข้างต้น

จากการติดตามตามมติการขอความร่วมมือผ่านมา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ปรากฏว่าการจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

  1. Supermarket ใน Department Store ประกอบด้วย TOP Supermarket, Home Fresh Mart, Gourmet Market, Villa Market เป็นกลุ่มที่จำหน่ายเนื้อสุกรเกรดพรีเมี่ยม ไม่ปรากฎปัญหาการโปรโมชั่นราคาในลักษณะ Loss Leading กับส่วนเนื้อแดงพื้นฐานแบบยืนระยะยาวนาน
  2. Discount Store ในที่นี้จะเรียกว่า “ห้างค้าปลีก” จะมี 2 ห้างประกอบด้วย เทสโก้โลตัส (TESCO LOTUS) และ บิ๊กซี (BIG C) ซึ่งรวมทั้งห้างค้าส่ง 1 ห้าง คือ แมคโคร (MAKRO) แต่ลักษณะการจำหน่ายเนื้อสุกรโดยสภาพ คือ การจำหน่ายปลีก ดังนั้น  เทสโก้โลตัส บิ๊กซี แมคโคร ถือเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ“ห้างค้าปลีก”

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่สร้างปัญหา คือ ใช้ราคา Loss Leading กับส่วนเนื้อแดงพื้นฐานตลอดเวลาและทุกวัน โดย 2 สัปดาห์หลังมติขอความร่วมมือปรากฏว่า 3 ห้างค้าปลีกนี้ ไม่มีการดำเนินการตามมตินี้แต่ประการใด ซึ่งประเด็นข้อกังขาไม่ใช่ประเด็นการให้ความร่วมมือหรือไม่อย่างไร? ไม่ใช่ประเด็นธรรมาภิบาลที่ต้องไปคาดหวังจากองค์กรธุรกิจอย่างทั้ง 3 ห้างแต่ประการใด เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนและสอบสวนต่อไป ซึ่ง 1 ใน 3 คือ แม็คโครเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการ

การประกอบกิจการค้าปลีกของไทยนอกเหนือจากการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติ การบริหารธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ทั้งตามข้อบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเหนืออำนาจตลาดตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จำเป็นอย่างยิ่งที่การนำมาเป็นข้อได้เปรียบจากแต้มต่อดังกล่าวต้องคำนึงอย่างยิ่ง เพื่อให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ จะต้องรอให้ปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเกิดกระแสการรับรู้ในวงกว้างของสังคมก่อนหรือ ธรรมาภิบาลของ 3 ห้างนี้จึงจะเกิด

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในฐานะเสมือนตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ จะดำเนินการในขั้นต่อๆ ไปเพื่อปกป้องอาชีพการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรไทยทุกกลุ่ม และเพื่อความถูกต้องของสังคม   

 

   

Visitors: 397,167