มองเขา มองเรา : Donald Trump ปกป้องเกษตรกรสหรัฐ มองเกษตรกรรม คือ อนาคตของสหรัฐอเมริกา

มองเขา มองเรา : Donald Trump ปกป้องเกษตรกรสหรัฐ มองเกษตรกรรม คือ อนาคตของสหรัฐอเมริกา

บทความพิเศษ : กระแสข่าวสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกา กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ชี้ชัดการอ้างการค้าเสรีโลก คือ การทำเพื่อประโยชน์ที่ได้เปรียบของประเทศที่หยิบยกถ้าประเทศตนได้เปรียบ

จากข่าวการเข้าพบท่านรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ของนาย กลิน ที. เดวีส์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อ 5 เมษายน 2561 “ได้ขอให้ไทยเร่งพิจารณาเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ โดยยืนยันว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าในเร็วๆ นี้จะได้ข้อสรุป และทางรัฐบาลจะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทางสหรัฐฯ ได้รับทราบอีกครั้ง

สำหรับกรณีของการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ นั้น เป็นผลมาจากการเดินทางเยือนสหรัฐของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อไม่นานมานี้ โดยทางทางสหรัฐต้องการส่งออกเนื้อหมูมายังประเทศไทย แต่จากการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า เนื้อหมูของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดง ทำให้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย จนทำให้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดโดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูนี้ให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง

การเจรจาความเมือง การค้าต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศต่างๆ ย่อมกระทำเพื่อประเทศตน การที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติชี้แจงมาเสมอว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย กับ การเกษตรพืชไร่ภาคอาหารสัตว์ มันเป็นห่วงโซ่ที่บูรณาการเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประเทศ 

สหรัฐอเมริกาเขาก็มองแบบเดียวกับเราไม่ต่างกัน  แต่สหรัฐมีความเข้มแข็งในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรกรรม ตั้งแต่พืชอาหารสัตว์ระดับโลก เกษตรปศุสัตว์ระดับโลก ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาสัตว์ระดับโลก ซึ่งถ้าใช้ผลผลิตการเกษตรปศุสัตว์นำทาง มันก็จะได้ประโยชน์โภชผลกันทั้งยวง ไม่ต่างจากของไทยเช่นกัน

ในทางกลับกัน ถ้าเขาเอาสินค้าเกษตรปศุสัตว์ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ความสามารถทางการตลาดที่แข็งแกร่งกว่ามาถล่ม ปศุสัตว์ไทย เกษตรอาหารสัตว์ไทย ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เวชภัณฑ์สัตว์ไทย ก็ตายหมด เช่นกัน

สภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เกษตรอาหารสัตว์ไทย ถ้าถามว่าหน่วยงานรัฐรู้สถานะไหม ตอบได้เลยว่า “รู้ซิ” “รู้แน่นอน” สหรัฐอเมริกาเองก็รู้ แต่ด้วยความเป็น AMERICA FIRST เขาจึงไม่สนใจหลอกว่าจำนวนพลเมืองของไทยกว่า 25% อยู่ในอาชีพเกษตรกรรม จะประสบปัญหาในการดำรงสัมมาชีพอย่างไร

คำว่า HUMAN RIGHT หรือสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐอเมริกาชอบใช้ เช่น การโยงกับแรงงานทาส ค้ามนุษย์(ที่ส่วนใหญ่มันเป็นปกติวิสัยของการจ้างแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรม) หรือแม้แต่ TIP Report ที่ยังคงสถานะไทยที่ Tier 2 (Watch list) มองดีๆ ก็คือการนำมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าที่ส่งเข้าไปประเทศตน ที่ศัพท์การค้าเสรีเรียกว่า Non Tariff Barriers(NTBs) หรืออุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ก็คือวิธีการเหล่านี้แหละ จะหลั่งไหลมาหลังจากที่ประเทศเหล่านี้ปลุกกระแสการค้าเสรี ลดอากรขาเข้าจนเป็นศูนย์ก็เพื่อหวังสินค้าประเทศตนจะสามารถทะลุทะลวงแบบไม่มีภาษีเป็นอุปสรรค แต่พอสินค้าประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าประเทศตนจึงสร้าง อุปสรรคเหล่านี้มากีดกัน เพราะตนเองตัดกำแพงภาษีไปแล้ว(กรณีมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกันแล้ว)

แต่กลับไม่มองชีวิตความเป็นอยู่ หรือ Human Life ของคนส่วนใหญ่ในประเทศคู่ค้าที่ต้องขาดอาชีพทำกินถ้าถูกถล่มด้วยสินค้าเกษตรราคาถูกจากมหาอำนาจทั้งหลาย อย่างที่ คุณชยานนท์ กฤตยาเชวง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เครือเบทาโกร.เคยกล่าวไว้ในการเสวนาในงานเสวนา “อุตสาหกรรมสุกรไทยในโลกยุค 4.0”

Donald Trump เองก็ได้กล่าวกับกลุ่มเกษตรกรสหรัฐกว่า 7,400 คน เมื่อ 8 มกราคม 2561 ว่า “We know that our farmers are our future.” หรือ “เราทราบดีว่าเกษตรกรของเรา คือ อนาคตของเรา” Donald Trump เป็นนักธุรกิจ เขาย่อมรู้ว่าบริหารประเทศที่ขาดดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 500,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีหนี้สาธารณะอัพเดท วันนี้ 7 เมษายน 2561 เวลา 14:23 ตามประเทศไทย จำนวน 21,120,784,406,384 ดอลล่าร์สหรัฐ ว่าจะต้องทำอย่างไร เห็นได้จากการสั่งตรวจสอบประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้าต่อสหรัฐเมื่อ 31 มีนาคม 2560 และการขึ้นอากรขาเข้ามหาศาลกับสินค้าจากประเทศจีน จนเกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่รอเปิดการเจรจาและเป็นข่าวกระทบกระเทือนไปทั้งโลกในขณะนี้ (จากข่าวโดนัล ทรั๊มป์ตามลิงค์ https://www.farmanddairy.com/news/president-trump-to-american-farm-bureau-farmers-are-our-future/464795.html)

 

เรื่องแบบนี้ระหว่างรัฐต่อรัฐสามารถบอกสหรัฐอเมริกาตรงๆ ก็ได้ว่า อุตสาหกรรมสุกรของไทยมีเกินความต้องการแล้ว และไทยก็ไม่ได้มีข้อตกลงการค้าเสรีใดๆ กับสหรัฐอเมริกา  ถ้ารับสินค้าสุกรสหรัฐเข้ามาอีกเราทราบดีว่าเป็นผลดีให้เกษตรกรสหรัฐยกแผง แต่อุตสาหกรรมสุกร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยก็ “ระเนระนาด” ซิครับ หรือจะต้องให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเขาลงขันมาขอพึ่งอำนาจทางศาลด้วยการฟ้องร้องกันอีกเรื่อยไปหรือ? ...ไม่เกิดผลดีและเป็นอุปสรรคทางใจต่อกันไปเปล่าๆ    

Visitors: 397,110