สมาคมหมูสนับสนุนเกษตรกรรวมตัวแปรรูปจำหน่ายเองทั่วไทยสร้างความยั่งยืนในอาชีพ

สมาคมหมูสนับสนุนเกษตรกรรวมตัวแปรรูปจำหน่ายเองทั่วไทยสร้างความยั่งยืนในอาชีพ

4 เมษายน 2561 ชลบุรี - ทีมผู้บริหารสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้เลี้ยงสุกรจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี และสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ร่วมดูงานโรงฆ่าโรงแปรรูปตัดแต่ง บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ตำบลบ่อกวางทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นข้อมูลในการลงทุนต่อยอดให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร

ทีมผู้บริหารสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาตินำโดยคุณอนุเดช เชี่ยวชาญวลิชกิจ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คุณวันชัย อัศวพันธุ์นิมิต กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี จำกัด และสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ดูงานโรงฆ่าโรงแปรรูปตัดแต่ง บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ณ ตำบลบ่อกวางทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษากระบวนการ มาตรฐานต่างๆ ทั้งของบริษัทและข้อกำหนดต่างๆ ของทางราชการ รวมถึงข้อมูลการลงทุน เพื่อนำเป็นข้อมูลในการลงทุนต่อยอดให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรต่อไป

ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรของไทย จะมีตั้งแต่

  1. ผู้เลี้ยงอิสระซื้อลูกสุกร ซื้ออาหารสำเร็จรูป เลี้ยงขายสุกรขุน
  2. มีแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ลูกสุกรเอง ซื้ออาหารสำเร็จรูป เลี้ยงขายสุกรขุน
  3. มีแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์เอง ผสมอาหารเอง เลี้ยงขายสุกรขุน
  4. มีแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์เอง ผสมอาหารเอง เลี้ยงทั้งขายสุกรขุน แปรรูปเป็นเนื้อสุกรจำหน่าย
  5. มีแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์เอง ผสมอาหารใช้เองและจำหน่าย เลี้ยงเอง เลี้ยงโดยสมาชิก ขายสุกรขุน แปรรูปเป็นเนื้อสุกรจำหน่ายมีผลิตอาหารจากเนื้อสุกร และมีตลาดส่งออก

ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรกลุ่มที่ 1-3 จะมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการด้านราคาผลผลิตมากที่สุด เกษตรกรที่มีความพร้อมจึงมีการต่อยอดให้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการบูรณาการกันระหว่างธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งทิศทางลักษณะนี้จะเป็นไปในหลายประเทศ ซึ่งเป็นหนทางสูงความยั่งยืน โดยเกษตรกรรายย่อยที่รวมตัวกันก็สามารถนำโมเดลธุรกิจครบวงจรไปดำเนินการภายใต้สหกรณ์ได้ ซึ่งภายใต้การบริหารของกลุ่มเกษตรกรเอง มีตัวอย่างความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ประเทศรวมทั้งหลายๆ สหกรณ์ในประเทศไทย

การจัดระเบียบอุตสาหกรรมสุกรไทย กำลังเดินหน้า วันนี้(4 เมษายน 2561)จะมีการประชุมอัพเดทโครงสร้างราคาจากราคาสุกรขุน มาเป็นราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนเนื้อสุกร กันใหม่ที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาใช้แก้ปัญหาในยามที่ตลาดเกิดความไม่ยุติธรรมในการกำหนดทั้งราคาซื้อและราคาจำหน่าย

การบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ โดยสภาพจะมีความง่ายกว่ากฎหมายรองอื่นๆ ในกรณีมีการฝ่าฝืนเพราะจะเกิดผู้เสียหายและผู้ได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งจะเกิดการตรวจสอบและร้องทุกข์กล่าวโทษกันได้ทันที  ต่างจากกฎหมายที่เกษตรกรผู้เลี้ยงคุ้นเคยอื่นๆ เช่น ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวกับการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะโดยสภาพของการฝ่าฝืนกฎหมายการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ผู้เลี้ยงที่ใช้สารดังกล่าว กับ ผู้ค้าที่ต้องการสุกรที่มีปริมาณเนื้อแดงมากๆ ต่างได้ประโยชน์ทั้งคู่ จะมีแต่ผู้พบเห็นการกระทำความผิดเท่านั้นที่เป็นบุคคลที่สามจะต้องมากล่าวโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นข้อกังวลของพนักงานเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นการบังคับใช้จึงไม่น่าจะเป็นข้อกังวล เพราะจะมีเครือข่ายที่เป็นองค์การบริหารงานส่วนภูมิภาคอยู่แล้วที่จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ เช่น พาณิชย์จังหวัด เช่นเดียวกับปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ที่ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพในการปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ดูแลความเป็นธรรมในสังคมไทยออกมามาก ตัวอย่างเช่น ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   พ.ศ.2561  (เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับผู้เช่าซื้อรถทั้งหลายครับ เริ่มบังคับใช้  1 กรกฎาคม 2561) ถือว่าเป็นเรื่องดีที่วงการสุกรไทยได้เริ่มผลักดันความเป็นธรรมให้กับผู้เลี้ยงสุกรโดยให้มีผลทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วในครั้งนี้

 

Visitors: 397,121