ทีมกฎหมายสมาคมหมูเตรียมยื่นกระทรวงพาณิชย์ขอให้ใช้อำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการเพื่อหยุดความ เสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรมสุกร

ทีมกฎหมายสมาคมหมูเตรียมยื่นกระทรวงพาณิชย์ขอให้ใช้อำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการเพื่อหยุดความ เสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรมสุกร

10 มกราคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ – คณะกรรมการกฎหมายสมาคมที่เป็นทีมงานตามโครงการ “ปกป้องเกษตรกรไทย”  ร่างหนังสือให้นายกสมาคมฯ ลงนามเพื่อยื่นด่วนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อหยุดปัญหากลไกราคาที่สร้างความ      เสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรม   สุกรซึ่งจะกระทบจำนวนการเลี้ยงและการอยู่รอดในอนาคตของเกษตรกรไทย

          เนื่องจากตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2560 ราคาตลาดสุกรขุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาที่เกิดจากกลไกตลาดจากผลผลิตสุกรที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ และความต้องการของตลาดที่มีตลาดสุกรมีชีวิตประเทศรอบบ้านทั้งตลาดตอนเหนือและฝั่งตะวันออก ที่เคยส่งออกได้ประมาณปีละ 1.0 ล้านตัว ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยปี 2560 ลดลงไปประมาณ 70%

          อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 เดือน จบจนช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 ราคาซื้อขายจริงสุกรขุนลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 32-38 บาท จากต้นทุนการผลิตที่อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละประมาณ 55-60 บาท ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 2,300-2,800 บาท ในขณะที่ราคาเนื้อสุกรตามตลาดชุมชนยังมีการจำหน่ายปลีกในระดับ 120-140 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาปลีกตามห้างค้าปลีกต่างๆ ลดลงและสะท้อนราคาสุกรขุนที่ระดับกิโลกรัมละ 75-90 บาท

          การแก้ปัญหาการขาดทุนมหาศาลของผู้เลี้ยงสุกรในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2560 คือชำแหละและจำหน่ายเนื้อสุกรเองในระดับราคาที่พอได้ราคาเพื่อบรรเทาจำนวนการขาดทุนลงได้ โดยจำหน่ายเนื้อสุกรในระดับราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 75 บาท

          แต่ปัญหาการกดราคาที่ต่ำเกินควรโดยพ่อค้าคนกลางบางกลุ่ม ในขณะที่ช่วงปลายของห่วงโซ่ดังกล่าวยังจำหน่ายเนื้อสุกรในระดับกิโลกรัมละ 120-140 บาท สะท้อนกลไกที่ผิดเพี้ยนและไม่เป็นธรรมทั้งกับผู้เลี้ยงสุกร ที่นำราคาเนื้อสุกรตามห้างค้าปลีกและจำหน่ายโดยเกษตรกรเอง ไปเป็นตัวตั้งราคารับสุกรขุน แต่กลับไปขายในราคาที่ไม่ได้อิงตามราคาสุกรขุนที่ซื้อมา จึงเกิดปัญหาที่หาจุดดุลยภาพไม่ได้และส่งผลเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างมากและยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องอย่างหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อความอยู่รอดของเกษตรกรและอุตสาหกรรมสุกรของไทยอย่างหนักในขณะนี้

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยเพื่อลดปริมาณการผลิตส่วนเกินจากรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาปริมาณส่วนเกินของผลผลิตสุกร เช่น โครงการนำลูกสุกรก่อนลงเลี้ยงมาทำเป็นหมูหัน โดยการจัดการไปพร้อมกับการปลดแม่พันธุ์ก่อนกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่ออุปทานของสุกรในตลาด แต่ปัญหาความเสียหายที่แบกภาระกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดความเสียหายแบบปัจจุบันทันที และโครงการสร้างสต๊อคสำรองเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาโดยการควบคุมอุปสงค์ อุปทาน ที่จะมีการหารือกันในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อนำเรื่องเข้าหาข้อสรุปใน Pig Board ในการประชุมจันทร์ที่ 15 มกราคม 2561 นี้

          สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หมวด ๓ การกำหนดราคาสินค้าและบริการ มาตรา 24 และ มาตรา 25 เพื่อกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรที่ที่เป็นธรรม กระทรวงพาณิชย์ได้เคยนำมาใช้กับอุตสาหกรรมกรครั้งล่าสุดในปี 2554 ในช่วงที่ราคาสุกรขุนสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อควบคุมราคาสุกรขุนและห้ามการส่งออกสุกรมีชีวิตในขณะนั้น

          ข้อเสนอครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ความชัดเจนของกระทรวงพาณิชย์ในยามที่ราคาสุกรขุนตกต่ำว่าจะสามารถใช้กฎหมายฉบับเดียวกันมาช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหรือไม่

 

Visitors: 397,127