พระราชบัญญัติสุกร Back to Basic เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคน

พระราชบัญญัติสุกร Back to Basic เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคน

          วิกฤตสุกรล้นตลาดในประเทศรอบนี้ เป็นสภาวะที่ผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศจำต้องร่วมกันแบกรับผลกระทบกันอย่างทั่วถึง ซึ่งสาเหตุที่พอจะประเมินได้คือขาดการควบคุมการเลี้ยงในวงกว้าง ในขณะที่การทำตลาดใหม่ไม่สมดุลและไม่เพียงพอที่จะรองรับผลผลิตได้ ประกอบกับประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตที่เคยมีความต้องการสูง มีการขยายจำนวนแม่พันธุ์สุกรกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังมีการปลดแม่พันธุ์ครั้งใหญ่ตั้งแต่ช่วงปี 2557 ถึง 2559 ประมาณ 6 ล้านแม่พันธุ์

          เราคงปล่อยให้ผู้เลี้ยงสุกรบางส่วนทำการขยายการผลิตแบบเสรีไม่ได้กันอีกแล้วเพราะเป็นการไปทำร้ายอุตสาหกรรมทั้งระบบ           ถึงเวลาแล้วที่การเลี้ยงสุกรของไทยต้องใช้กฎหมายเข้าจัดระเบียบเสียที    ไม่งั้นก็จะอ้างความเป็นเสรีกันต่อไปเรื่อยๆ วงจรที่ประสบกันแบบนี้ก็จะวนเวียนแบบไม่รู้จบ

          พระราชบัญญัติสุกรที่ผู้เลี้ยงสุกรส่วนหนึ่งกำลังจะผลักดัน ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีเจตนารมณ์ในการร่างเบื้องต้นดังนี้

1)      ให้อุตสาหกรรมสุกรเป็นเศรษฐกิจหลักหนึ่งของประเทศ ให้ภาครัฐรับรู้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหารภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสุกรและ

         เนื้อสุกรแห่งชาติ

2)      ตั้งกองทุนสุกรและเนื้อสุกรเกี่ยวโยงกับงบประมาณแผ่นดิน โดยกองทุนหลักมาจากการเก็บเงินสมทบจากผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก เพื่อนำมาใช้บริหาร

          จัดการอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ

3)      บัญญัติการห้ามนำเข้าอย่างชัดเจนเป็นข้อกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น

4)      มีโครงสร้างการกำหนดราคาขั้นต้นราคาสุกรและเนื้อสุกรเพื่อสร้างความยุติธรรม ระหว่างผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้บริโภค

5)      มีบัญญัติการกำหนดปริมาณการผลิตตามประมาณการความต้องการการบริโภค ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างชัดเจน มีการจัดสัดส่วนการ

        เพิ่มการผลิตอย่างเป็นธรรมตามฐานของปริมาณการผลิตตั้งต้น เพื่อป้องกันการครอบครองตลาดเกินควร เว้นแต่มีการสร้างตลาดใหม่ที่ไม่ได้ไปครอบงำตลาด

         เดิมของผู้เลี้ยงสุกรด้วยกัน

6)      บัญญัติให้มีการขึ้นทะเบียนฟาร์ม ขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้เลี้ยงต่อคณะกรรมการเพื่อง่ายต่อการวางแผนการผลิตในแต่ละปี

7)      ให้อำนาจหน้าที่กับพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกรที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้าตรวจสอบฟาร์มสุกรต้องสงสัยว่าฝ่าฝืน

         ข้อกำหนดได้

8)      บัญญัติบทลงโทษทางอาญาในกรณีที่ผู้เลี้ยง ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมการฯ

9)      มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกร ที่มีการบัญชี การตรวจสอบและการประเมินการดำเนินงานของสำนักงาน

10)    ผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการเข้ามาเป็นตัวแทนกรรมการที่มีทั้ง 3 คณะกรรมการ

         1)      คณะกรรมการสุกรและเนื้อสุกรแห่งชาติ

         2)      คณะกรรมการกองทุนสุกรและเนื้อสุกร

         3)      คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและกำหนดราคาสุกรและเนื้อสุกร

            พระราชบัญญัติสุกร เน้นให้ไปด้วยกัน เพราะระบบเศรษฐกิจที่เดินหน้าแบบมั่นคงจะต้องทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีกินมีใช้เพื่อที่ระบบเศรษฐกิจจะได้หมุนเวียนไปมาระหว่างกัน เกื้อหนุนกัน ทำให้รอบของระบบเศรษฐกิจหมุนไปมาได้ตลอด

            ภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่การบริหารเศรษฐกิจของไทยเดินตาม GDP เป็นตัวตั้ง จึงทำให้ผู้ประกอบการหลงไปยึดกับระบบวัตถุนิยม หรือ "Materialism" ที่มุ่งให้คนหาเงินให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะจากโลกนี้ไป จนลืมแบ่งปันเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน ลืมสร้างระบบแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainabilityทำให้ทรัพยากรของประเทศไปกระจุกตัวอยู่ที่คนเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่ง GDPวัดความมั่งคั่งของคนกลุ่มบน ที่หลายรัฐบาลนำมาแสดงความสำเร็จของการบริหาร ทุ่มเทงบประมาณเพื่อผลักดันเศรษฐกิจระดับบน สร้างระบบอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนภาพใหญ่ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นได้เพียงแรงงานที่สนับสนุนเศรษฐกิจระดับบน ซึ่งโดยระยะยาวการบริหารประเทศในลักษณะนี้ยิ่งนานวันยิ่งเหนื่อยและสวนทางกับศาสตร์ของพระราชาที่ทรงคิดทรงสอนอยู่เสมอ โดยเฉพาะการที่ทรงแนะให้ใช้ปัญญาในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งทางออก หรือ แนวทางของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ สังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กันและกัน

 

Visitors: 397,167