สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรีสุดทนราคาสุกรขุนถูกทุบ รวมตัวสวน 4 บาทพระ 11 พฤศจิกายน 2560

สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรีสุดทนราคาสุกรขุนถูกทุบ รวมตัวสวน 4 บาทพระ 11 พฤศจิกายน 2560

 9 พฤศจิกายน 2560 สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี ร่วมกับ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมจัดงาน รวมพลังปกป้องชาวหมูตะวันออกในภาวะราคาหมูตกต่ำหลังราคาสุกรขุนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง 3 พระ รวมพลังสวนราคาได้ 4 บาทในวันพระล่าสุดที่ 11 พฤศจิกายน 2560

วัฏจักรของวงจรราคาสุกรยังคงหมุนเวียนขึ้นลงแบบไม่สามารถควบคุมให้เกษตรกรขาดทุนได้ในบางช่วง ซึ่งห่างหายไปนานกับสภาวะเช่นนี้ การจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันผลักดันราคาสุกรขุนให้กลับขึ้นมาบวก ซึ่งต้องรอพิสูจน์ในวันพระหน้าในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560 ว่าราคาจะบวกต่อเนื่องได้หรือไม่  

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาวงการสุกรไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าระหว่างประเทศภายนอก โดยเฉพาะแรงกดดันจากอุตสาหกรรมสุกรจากสหรัฐอเมริกาผ่านในทุกช่องทางที่ทำได้ แม้แต่กระทรวงพาณิชย์ของไทยที่รับลูกกับมาตรการ MRLs ของแรคโตพามีนที่ 10 ppb ที่สหรัฐผลักดันจนผ่านการลงคะแนนลับในการประชุม CODEX ครั้งที่ 35 ปี 2555 โดยมีหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปขอคำสงวนที่จะคงกฎหมายห้ามใช้แรคโตพามีนของกลุ่มสหภาพไว้ ในขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น ในกลุ่มประเทศจีน รัสเซีย ขอบันทึกการไม่เห็นด้วยไว้กับมตินี้เช่นกัน โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อให้กระบวนการทางศาลทำการพิจารณา กับ ทุกประเด็นที่จำเป็นจะต้องยื่น เพื่อขอคำบังคับเพื่อปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เป็นเศรษฐกิจเสาหลักและเป็นห่วงโซ่ระหว่างกันสืบไป เพื่อความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรไทยในทุกแขนง

ปัญหาต้นท้องแฟบ กลางพุงปลิ้น บูรณการเติมเต็ม เป็นคำเปรียบเปรยเชิงปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะ ต้นท้องแฟบ กลางพุงปลิ้น ที่กำลังเปรียบให้เห็นถึงขณะที่ราคาสุกรขุนถูก 45-50 บาท แต่ราคาเนื้อสุกรที่ยังขายปลีกกันในระดับ 140-150 บาทในลักษณะผู้เลี้ยงขาดทุนบักโกรก ในขณะที่พ่อค้าคนกลางรับมาร์จิ้นเกินควร โดยเฉพาะกับตลาดสดในชุมชนต่างๆ ที่แม้แต่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังแก้ปัญหานี้ด้วยความลำบากเพราะมีจำนวนมาก ปัญหานี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องบริหารจัดการกองทุนปกป้องเกษตรกรไทยให้เกิดความยั่งยืนกับวงการสุกรของไทย ในยุคที่เกษตรแขนงต่างๆ ต่างทยอยมีพระราชบัญญัติเพื่อกำกับดูแลการประกอบอาชีพที่กำลังออกตามๆ กันมา เช่น พรบ.มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พรบ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ในลักษณะที่มีการปรับสมดุลมาร์จิ้นแต่ละกลุ่มให้เป็นธรรม เพราะตลอดห่วงโซ่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน มั่นคงยั่งยืนด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่สามารถผลักดันตัวเองเพื่อต่อยอดให้เป็นเกษตรครบวงจรเกลี่ยมาร์จิ้นเองได้ จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการค้าแบบดั่งเดิมที่จำต้องช่วยกันดูแล เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยขอเป็นกำลังใจให้กับภาระกิจในครั้งนี้

Visitors: 397,127