แนะประเทศที่ห้ามใช้ Beta Agonist ร่วมยื่นให้ยกเลิก MRL ใน Ractopamine ของ CODEX

แนะประเทศที่ห้ามใช้ Beta Agonist ร่วมยื่นให้ยกเลิก MRL ใน Ractopamine ของ CODEX 

19 กันยายน 2560 นักกฎหมายชี้การโหวต MRL ของ Rectopamine เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นการผิดพลาดอย่างยิ่งเข้าขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของประเทศสมาชิก CAC ที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง จึงแนะนำให้ขอยกเลิกข้อกำหนดนี้เสีย เพราะนับเป็นครั้งแรกของการประชุม CODEX ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 185 ประเทศ ที่ต้องมีการใช้วิธีการลงคะแนนเสียง เนื่องจากที่ผ่านมา CODEX ใช้หลักฉันทามติ คือให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

                จากข่าวที่ออกมาในช่วงนี้สำหรับวงการสุกรไทย ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังถูกกดดันอย่างหนัก และมีข่าวว่าคณะเจรจาการค้าที่ประกอบด้วยทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ร่วมเดินทางไปด้วยนั้น ท่านรัฐมนตรีอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ข่าวว่า  “ประเด็นเรื่องการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐไม่ได้มีการหารือกันในรอบนี้ เพราะหลังจากรับทราบข้อกังวลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติถึงเรื่องผลกระทบหากไทยเปิดตลาด ต้องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคปศุสัตว์ เพื่อขอทราบท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อน กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถเดินหน้าเจรจาโดยลำพังได้ แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เจรจาแต่ต้องขอความเห็นจากทุกภาคส่วน” แต่ภาพข่าวบนโต๊ะเจรจามีท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ร่วมวงเจรจาอยู่ด้วย  ซึ่งโดยสภาพแล้วไทยไม่มีสินค้าปศุสัตว์อะไรที่ต้องเจรจาเพื่อการส่งออกไปอเมริกาทั้งสิ้น มีแต่กลุ่มอาหารทะเลและกุ้ง ซึ่งเป็นเรื่องของกรมประมง ดังนั้นสื่อสายปศุสัตว์ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการเจรจาเรื่องสุกร หรือ ไก่เนื้อ เพราะมีท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์อยู่ในโต๊ะการเจรจาด้วย

                กลับมาเรื่อง MRL ของ  Beta Agonist ที่คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission - CAC) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า CODEX มีมติ 69/67 ลงมติให้กำหนดค่า MRL ของ "แรคโตพามีน (Ractopamine)" ที่ 10 ppb (part per billion)

                ข้อเสนอนี้เสนอโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ Ractopamine ทั้งในอุตสาหกรรมสุกรและวัวเนื้อ โดยกำหนด MRL ในประเทศไว้ที่ 30 ppb สำหรับเนื้อวัว และ 50 ppb สำหรับเนื้อสุกร

                ย้อนอดีตไปถึงการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ประจำปี CAC ของ CODEX เมื่อวันที่ 2 ถึง 7 กรกฎาคม 2555  ณ กรุงโรม ประเทศ  ซึ่งมีวาระพิจารณารับรองมาตรฐานอาหาร เพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศหลายเรื่อง โดยมีเรื่องสาร Ractopamine หรือสารเร่งเนื้อแดง อยู่ในวาระการประชุมซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในการประชุม เนื่องจากต้องใช้วิธีโหวตลับถึง 2 รอบ ในรอบแรกเสียงเสมอกันระหว่างผู้สนับสนุนให้กำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ (MRL) ของสารตัวนี้ ซึ่งหมายถึง การอนุญาตให้มีการใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้ กับผู้คัดค้านให้มีการกำหนดค่า MRL นี้ และเมื่อมีการลงมติลับรอบสอง ปรากฏว่าผู้สนับสนุนชนะโหวตด้วยเสียง 69 ต่อ 67 ยอมรับให้มีการกำหนดค่า MRL สาร Ractopamine

                        นับเป็นครั้งแรกของการประชุม CODEX ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 185 ประเทศ ที่ต้องมีการใช้วิธีการลงคะแนนเสียง เนื่องจากที่ผ่านมา CODEX ใช้หลักฉันทามติ คือให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่มีผู้คัดค้าน สำหรับประเด็นสาร Ractopamine นี้เป็นเรื่องคงค้าง การพิจารณาในคณะกรรมการใหญ่ประจำปีของ CODEX  มา 6 ปีก่อนการประชุมในครั้งนั้น และหากรวมเวลาที่มีการพิจารณาในคณะกรรมการย่อยเฉพาะด้านมาไม่ต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งและคงค้างการพิจารณานานที่สุดในการพิจารณามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นประเด็นขัดแย้งกันในการเปิดการค้าเนื้อสัตว์ระหว่างประเทศ สำหรับประเทศที่มีการใช้และประเทศที่ไม่มีการใช้ เนื่องจากมีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้มีการใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น ในขณะที่ประเทศที่คัดค้าน เช่น สหภาพยุโรป จีน และฟิลิปปินส์ โดยต่างฝ่ายต่างหาเหตุผลและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน รวมทั้งมีการมอบองค์กรผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ศึกษาข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการ CODEX พิจารณา

                ในมุมมองของนักกฎหมายมองว่า วาระการพิจารณารับรองมาตรฐานอาหาร เพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศในเรื่องสาร Ractopamine หรือสารเร่งเนื้อแดง ประเทศสมาชิกที่มีกฎหมายห้ามใช้จะต้องร่วมกันไม่ให้วาระนี้เข้าสู่การประชุมตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศของตน และหลักการของ CODEX ก็ไม่เคยใช้วิธีการลงมติแบบลงคะแนนเสียง  ซึ่งโดยปกติ CODEX ใช้หลักฉันทามติ คือให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

                กลับมาที่การให้ข่าวของท่านรัฐมนตรีอภิรดี  กรณีกล่าวถึงสหรัฐที่ “อ้างว่าต้องการให้ไทยทำตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ CODEX ซึ่งอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวได้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมู เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อเรียกร้องที่มีการหารือกันมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาเคยเกิดข้อพิพาทลักษณะนี้จนมีการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าสหรัฐอาจจะกดดันไทย โดยอ้างมาตรฐาน CODEX และนำไปสู่การฟ้องร้อง”

                นักกฎหมายดังกล่าวแนะนำว่านี่คือการวางแผนของสหรัฐเพื่อหวังผลกับการค้าเนื้อสุกรและเนื้อวัวของตน ที่นานาประเทศหลวมตัวเข้าไปลงคะแนนในการประชุมปี 2555 แทนที่จะไม่รับวาระตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นปัญหาตามมาไปทุกประเทศ เพราะมติของ CODEX ถือเป็นข้อตกลงในกฎหมายระหว่างประเทศที่ภาคีสมาชิกต้องนำไปแก้กฎหมายภายในของตน ซึ่งตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละประเทศย่อมรู้ดี โดยเฉพาะประเทศไทยมีกฎหมายห้ามทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ก่อนการประชุมในครั้งนั้น ซึ่งปัจจุบันจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งถ้ามีการยกเลิกกฎหมายในระดับประกาศกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนั้น เพราะกรมปศุสัตว์เองก็รณรงค์ว่าเป็นสารเคมีต้องห้ามในสุกร และจับกุมผู้ฝ่าฝืนโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างต่อเนื่อง

                จึงแนะนำให้สัตวแพทยสภาของไทยนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในระดับสมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชียหรือ FAVA เพื่อให้ประเทศสมาชิก CODEX ยื่นเรื่องยกเลิกข้อกำหนด MRL ใน Ractopamine ของ CODEX เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาให้มีการนำมาเป็นข้ออ้าง และลดการขัดแย้งปัญหาการค้าเนื้อสัตว์ระหว่างประเทศ 

 

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/economy/news-40262

http://www.acfs.go.th/read_news.php?id=10568&ntype=01 

 

Visitors: 397,110