เตือนกระทรวงพาณิชย์ตกหลุมซ้ำซากกับ USTR

เตือนกระทรวงพาณิชย์ตกหลุมซ้ำซากกับ USTR

18 กันยายน 2560 ความเสี่ยงสูงมากที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยจะยอม USTR ที่กดดันให้เปิดตลาดชิ้นส่วนเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาเข้าไทย

กระทรวงพาณิชย์ของไทยมี 2 กรมในกระทรวงที่ใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงสุกร ประกอบด้วย

กรมการค้าภายใน ซึ่งหน้าที่หลักๆ ที่เกี่ยวกับเกษตรกรมี 2 ประเด็น คือ 1) ดูแลค่าครองชีพประชาชน 2) ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร 

กรณีดูแลค่าครองชีพประชาชนจะเป็นเรื่องที่สังคมรับรู้รับทราบเสมอมา แต่ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร เราจะเห็นการเข้าไปกำกับดูแลเวลาพืชผลทางการเกษตรพืชไร่ตกต่ำ  แต่สำหรับเกษตรปศุสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร จะเข้ามากำกับดูแลเฉพาะช่วงที่ราคาขึ้นเท่านั้นในลักษณะการเข้าแทรกแซงราคาตลาด แต่ช่วงราคาตกต่ำจะไม่เห็นกรมการค้าภายในเข้ามาทำหน้าที่ใดๆ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมนี้อนาคตอุตสาหกรรมสุกรอาจจะต้องใช้บริการมากขึ้น แต่ปัจจุบันกรมนี้จะได้ยินข่าวเสมอมาในด้านสนับสนุนการค้าต่างประเทศ หรือ การเข้าร่วมภาคีทางการค้าต่างๆ ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเคยต่อต้านมาตั้งแต่ยุค FTA THAI-EU ที่ไม่ค่อยเป็นข่าวสาธารณะเท่าไร ในประเด็นต้านการเปิดเสรีทางการเกษตรให้สหภาพยุโรป ในช่วงปี 2557  มาโด่งดังช่วงที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรต่อต้านการเข้าร่วม TPP ที่เงียบหายไปแล้ว

หลังจาก Executive Order ของ Donald Trump เมื่อ 31 มีนาคม 2560 ประเด็นคัดค้านหมูอเมริกา กลับมาเป็นร้อนฉ่าใหม่ ทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของไทยไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องที่ไทยไปได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาแต่ประการใด แต่วงการมองออกว่าจะมีการเจรจาในลักษณะ หมูไปไก่มา แน่นอน ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรผิดไปจากที่คาดหมาย เพราะในคำสั่งดังกล่าวมุ่งไปที่การสืบหาเพื่อกดดันและเก็บอากรการทุ่มตลาด Antidumping และอากรการชดเชย Countervailing Duties ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลสหรัฐใช้กดดันประเทศผู้ส่งสินค้าเข้าสหรัฐมาตลอด

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่อุดหนุนอุตสาหกรรมของประเทศมากที่สุดในโลก แต่ไม่มีประเทศใดไปสอบสวน ยกตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น มาตรการ QE ที่ใช้ในช่วง 2552-2555  จริงอยู่วงการเงินอาจจะมองว่านั้นเป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะกะดี๊กะด๊าเมื่อมีการออก QE เพราะกลุ่มนี้จะมองผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก แต่เมื่อเราดูเส้นทางของเงิน QE ส่วนหนึ่งที่ไหลมาสู่ภาคเอกชนจะเริ่มจาก Federal Reserve ใช้เงิน QE ซื้อตราสารการเงิน หรือ ปล่อยกู้เอกชนด้วยเงินที่ไม่มีต้นทุน นั่นแหละคือการอุดหนุนผ่านนโยบายทางการเงินที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์

ทำไมวิเคราะห์ไปไกลถึง QE เพราะ เมื่อมีการออก QE ถึงแม้จะเป็นกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา แต่ระบบงบประมาณแผ่นดินต้องบันทึกเป็นหนี้สินของประเทศ ที่ปัจจุบัน ณ วันที่ 18 กันยายน 2560 เวลา 10:50 อยู่ที่ USD 20,169,005,901,540 ซึ่งสูงมาตลอด  ซึ่งในการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินก็ต้องเอาอุตสาหกรรมที่เป็นตัวเด่นผลักดันไปทั่วโลก ไม่สนใจว่าจะไปทำลายล้างอาชีพของเกษตรกรในประเทศใดๆ เมื่อ GDP ของประเทศโต การจัดเก็บภาษีก็จะได้มากขึ้น หนี้สินประเทศก็จะลดลง ซึ่งจะไปสร้างความมั่นคงให้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐของตัวเองด้วย ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาที่มีหนี้สินมากขนาดนี้ และยังอยู่ได้เพราะเป็นเจ้าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐนั่นเอง 

กลับมาที่ประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยศักยภาพน่าจะหาทางออกง่ายๆ คือ ยอมให้เนื้อและชิ้นส่วนสุกรจากอเมริกาเข้ามา

นั่นแหละ หายนะประเทศไทยเริ่มแล้ว โดยการไม่มองรอบด้านและไม่ฟังเสียงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ยื่นหลายครั้งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 

เป็นกำลังใจให้ผู้เลี้ยงสุกรต่อสู้นะคะ อย่าใช้หมัดเปลือง ใช้แค่ 2-3 หมัดแบบศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ที่น็อค โรมัน กอนซาเลซ พอค่ะ เราสู้ได้แน่นอน

Visitors: 397,133