ตลาดสุกรเวียดนามเติบโตเคียงคู่ตลาดสุกรไทย

ตลาดสุกรเวียดนามเติบโตเคียงคู่ตลาดสุกรไทย

จากการสัมมนาของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในงาน VIV ASIA 2017 เมื่อ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มีวิทยากรที่น่าสนใจหลายท่าน ซึ่งคุณกิดดิวงศ์ สมบุญธรรม จากกลุ่ม JAPFA แห่งประเทศเวียดนาม   เป็นวิทยากรท่านหนึ่งที่มาให้ข้อมูลอัพเดทอุตสาหกรรมสุกรในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการของอุตสาหกรรมสุกรในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของไทย


อุตสาหกรรมสุกรในประเทศเวียดนามเป็นที่จับตาค่อนข้างมากทั้งปริมาณการผลิตที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกตลอดจนมีจำนวนการบริโภคของประชากรต่อคนต่อปีที่สูงกว่าประเทศเรากว่าเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ผู้ส่งออกเนื้อสุกรระดับต้นๆ ของโลกต่างวิ่งเข้าหาและสร้างมูลค่าการส่งออกได้มาก ทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ปัจจุบันเวียดนามมีประชากร 95 ล้านคนในปี 2559 แต่มีพื้นที่ทั้งประเทศน้อยกว่าไทย โดยมีจำนวน 331,689 ตารางกิโลเมตร มีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง และมีเมืองโฮจิมินห์ซิตี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เป็นสังคมเมือง 30% สังคมชนบท 70% ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็กหนุ่มสาวในจำนวนและสัดส่วนสูงที่พร้อมสำหรับการเป็นกำลังสำคัญ

  • กลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี     มีสัดส่วน 46%
  • กลุ่มอายุ 15-24 ปี        มีสัดส่วน 20%

อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1 ดอลล่าร์สหรัฐเทียบเท่าประมาณ VND 22,800 โดยเมื่อเทียบกับเงินบาทจะมีประมาณ VND 640/THB 1 มีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ในระดับ 6.5-7.0% ต่อปี ในขณะที่ไทยอยู่ในระดับ 2.5-3.0% มาเป็นเวลาหลายปี และไทยมีสัดส่วนผู้สูงวัยสูงขึ้นตามลำดับซึ่งปัจจุบันเป็น 20% ของประชากรวัยทำงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขึ้นเป็น 25% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็น 2 จุดที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทยถ้ายังมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลง

อุตสาหกรรมสุกรเวียดนาม

ประชากรสุกรเวียดนามมีการเติบโตต่อเนื่องประชากรสุกรจากปี 2558-2559 เพิ่มขึ้น 12% จาก 27.75 ล้านตัวเป็น 31 ล้านตัว โดยมีจำนวนแม่พันธุ์ 4.24 ล้านตัวในปี 2559 โดยการผลิตสุกรจะสัดส่วนมากทางตอนเหนือของประเทศเนื่องจากสามารถส่งสุกรขุนมีชีวิตไปจำหน่ายยังประเทศจีนตอนใต้ได้ โดยในปี 2558-2559 สามารถจำหน่ายได้ถึงปีละ 5-6 ล้านตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตสุกรในประเทศจีนไม่เพียงต่อความต้องการบริโภค

ตั้งแต่ปลายปี 2559 สถานการณ์ราคาส่งออกไปประเทศจีนเริ่มตกต่ำจาก 76-77 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาเหลือที่ 52-53 บาทต่อกิโลกรัม จนผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย จึงคาดว่าจากสถานการณ์นี้ปี 2560 ปริมาณการผลิตสุกรในเวียดนามจะลดลง 15-20%

ปัจจุบันการบริโภคเนื้อสุกรต่อคนต่อปีคำนวณจากปีล่าสุดอยู่ที่ 36.87 กิโลกรัม/คน/ปี มากกว่าการบริโภคในประเทศไทยที่ยังคงอยู่ในระดับ 14-15 กิโลกรัม/คน/ปี โดยเมนูยอดนิยมของเวียดนามจะเป็นบาร์บีคิวซี่โครงหมูที่สุกรระดับน้ำหนักประมาณ 65 กิโลกรัมซึ่งเป็นสุกรกลุ่ม 70% ที่เลี้ยงตามบ้าน เพราะจะมีความนุ่มมากกว่าที่จะนำสุกรที่ระดับน้ำหนัก 100 กิโลกรัมมาบริโภค ส่วนเมนูชิ้นส่วนอื่นๆ จะเป็นการบริโภคชิ้นใหญ่

ในตลาดสุกรเวียดนามไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดใหญ่เช่นเดียวกับประเทศไทย จึงมีกลุ่มธุรกิจสุกรจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมีเจริญโภคภัณฑ์ของไทยเป็นกลุ่มธุรกิจสุกรข้ามชาติรายใหญ่ที่สุด โดยมีปริมาณการผลิตสุกรสู่ตลาดเวียดนามสูงเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามตลาดสุกรเวียดนามยังมีระดับฟาร์มมาตรฐานไม่มากเท่าประเทศไทยจึงทำให้คุณภาพเนื้อสุกรโดยรวมยังตามหลังไทย  

ในขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าสูง จึงมีต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศไทยประมาณ 8-10% ณ ระดับต้นทุนปัจจุบัน โดยการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ยังมีสัดส่วนตามหลังการเลี้ยงแบบหลังบ้านในสัดส่วน 30:70 ซึ่งคาดว่าสัดส่วนเชิงพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ตลาดเนื้อสุกรนำเข้า จะมีเนื้อสุกรนำเข้าที่มาจากสหรัฐอเมริกาแทรกซึมตลาด โดยยังเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ขาหมู หัวหมู และเครื่องใน ในขณะที่แคนาดาก็พยายามที่จะส่งเข้าไปในลักษณะเดียวกับที่พยายามจะส่งเข้ามาในประเทศไทย

มาตรฐานฟาร์มสุกรเวียดนามกำลังมีแผนพัฒนาอย่างชัดเจน ซึ่งกลุ่มเชิงพาณิชย์เกือบทั้งหมดจะเป็นกลุ่มฟาร์มมาตรฐาน ปัจจุบันอยู่ในระดับ 20% ของจำนวนฟาร์มทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 60% ในปี 2020 โดยฟาร์มมาตรฐานจะต้องมีการรับรองสูงโดยนับเป็นใบอนุญาตจะต้องมีประมาณ 10 ใบอนุญาตซึ่งถือว่าเข้มงวดมาก มาตรฐานการเลี้ยงสุกรในเวียดนามจึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งในอนาคตไม่อีกกี่ปีข้างหน้า

 

Visitors: 397,135