หมูไทย เวียดนาม กัมพูชา เตรียมจี้ OIE เปิดช่องมาตรฐานเพื่อเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรโลก หลังแบน FMD มากว่าครึ่งศตวรรษ

หมูไทย เวียดนาม กัมพูชา เตรียมจี้ OIE เปิดช่องมาตรฐานเพื่อเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรโลก หลังแบน FMD มากว่าครึ่งศตวรรษ

4 มีนาคม 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เตรียมจับมีวงการสุกรอาเซียน ขอช่องทางสู่การค้าเนื้อสุกรโลกผ่านกรมปศุสัตว์ไทยในงาน VIV Asia 2017

ประเทศที่มีการเลี้ยงสุกรเพื่อการค้าในกลุ่มอาเซียนนอกเหนือจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ได้รับการรับรองการปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE)แล้ว ยังมีประเทศในแถบอินโดจีนทั้งหมดที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์ได้มีความพยายามมาตลอดในหลายๆ อธิบดีกรมปศุสัตว์ที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกของการค้าระหว่างประเทศมีการสร้างข้อกีดกันระหว่างกันมาตลอดโดยเฉพาะประเทศพัฒนาหลายประเทศที่ชอบตั้งกฎเกณฑ์กำหนดประเทศอื่นมาตลอด แม้แต่ประเทศพัฒนาด้วยกันเอง เช่น สหรัฐอเมริกาเตรียมตอบโต้สหภาพยุโรปหากยังไม่ยุติการห้ามนำเข้าเนื้อจากสหรัฐอเมริกาตามข้ออ้างการใช้ฮอร์โมน ซึ่ง WTO ก็เคยตัดสินว่ามาตรฐานนี้ของสหภาพยุโรปผิดกติกาการค้าเนื่องจากไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

กลับมามองการยื่นขอรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยของไทยต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ถึงแม้จะเริ่มกันมานานแต่มีความจริงจังกันเมื่อปี 2550 โดยกรมปศุสัตว์เริ่มได้รับการจัดสรรงบประมาณเรื่องนี้ในปี 2552 และมีการยื่นการขอรับรองการเป็นพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในเขตภาคตะวันออก หรือเขต 2 ถึงองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) อย่างเป็นทางการเมื่อสิงหาคม 2555 ซึ่งในขณะนั้นก็คาดกันว่าน่าจะได้รับการรับรองในปีถัดมา แต่จนแล้วจนรอดผ่านมาเกือบ 5 ปี

การที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าถึงการค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศ โดยจะขอให้ OIE เปิดประตูเพิ่มในด้านมาตรฐานฟาร์ม มาตรฐานโรงเชือด มาตรฐานโรงงานแปรรูป น่าจะเป็นหนทางที่ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจโดยรวมมันจะเกื้อหนุนระหว่างสินค้าอื่นๆ จากประเทศพัฒนาได้เป็นอย่างดี เช่น สินค้านวัตกรรม สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล ดีกว่ามานั่งกีดกันกัน

วันที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 13:00-16:00 น. ในงาน VIV Asia 2017 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เชิญผู้เลี้ยงสุกรชั้นนำในกลุ่มประเทศอาเซียนประกอบด้วย กลุ่ม JAPFA จากเวียดนาม และกลุ่ม MONG RETHTHY จากประเทศกัมพูชา เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้“ASEAN Pork Trading Revolution for International Trading”ที่จะมีการนำเสนอว่าแต่ละประเทศมียุทธศาสตร์การค้าเนื้อสุกรระหว่างประเทศอย่างไร โดยจะมีบริษัทปศุสัตว์ครบวงจรในประเทศไทยอีก 2 บริษัทเข้าร่วมแชร์ประสบการณ์ที่น่าจะสร้างมุมมองพัฒนาการของการค้า การลงทุน ในอุตสาหกรรมสุกร เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งหลังการสัมมนาตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 3 ประเทศ จะมีการยื่นหนังสือข้อเสนอถึงองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ผ่านกรมปศุสัตว์ประเทศไทย เพื่อผลักดันการเปิดประตูการค้าเนื้อสุกรให้ประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น

ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

Visitors: 397,110