FREE TRADE กับ FAIR TRADE ในวงการสุกรและปศุสัตว์เมืองไทย

FREE TRADE กับ FAIR TRADE ในวงการสุกรและปศุสัตว์เมืองไทย

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้ยิน 2 คำนี้จากผู้เลี้ยงสุกรหนาหูขึ้น ตอนแรกเข้าใจไปไกลว่าน่าจะมีการรณรงค์ระหว่างประเทศกรณี Tree Trade Agreement กับคู่เจรจาอะไรหรือเปล่า? แต่พอมาฟังจากแหล่งที่มา กลับกลายเป็นเรื่องความห่วงใยกับอนาคตของผู้เลี้ยงสุกรในบ้านเรา อีกทั้งผลกระทบจากรายใหญ่ที่ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้นแบบไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายใดๆ ควบคุม ทั้งๆ ที่หลายประเทศมีกฎหมายควบคุมการขยายการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์กันมานานแล้ว เช่น ประเทศไต้หวัน จะประเมินปริมาณความต้องการการบริโภคทั้งเนื้อสุกรและแปรรูปผลิตภัณฑ์ในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออกในแต่ละปี แล้วนำมาคำนวณปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ แล้วนำมาแจงเป็นการเพิ่มของผู้ผลิตแต่ละรายเพื่อควบคุมการขยายที่ไปกระทบกับเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน โดยการเพิ่มที่เกินกว่าอัตราที่กำหนดเกษตรกรรายนั้นต้องแจงให้ได้ว่ามีการทำการตลาดใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เพราะการเพิ่มการผลิตและแย่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กัน นอกจากจะส่งผลต่อราคาตลาดแล้ว ยังเท่ากับเป็นการทำลายล้างเกษตรกรที่ความสามารถทางการแข่งขันสู้ไม่ได้ ในประเทศไต้หวันจะมีการกำหนดบทลงโทษ เบี้ยปรับ กับเกษตรกรที่เพิ่มการผลิตมากกว่าจะกำหนดให้กันในแต่ละปี

ตลาดการค้าสุกรขุนในเมืองไทยที่ต่อเนื่องไปถึงตลาดเนื้อสุกรในหลายทศวรรษ ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นจากการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาที่มีปริมาณที่มีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะตลาดส่งออกเนื้อสุกรที่ยังติดข้อจำกัดเดิมเรื่องการเป็นพื้นที่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย อย่างไรก็ตามการส่งออกสุกรขุนตามแนวชายแดนที่จะได้เป็นกอบเป็นกำก็เฉพาะยามเพื่อนบ้านขาดแคลนและมีส่วนต่างมากมายของราคาขาย ซึ่งการขยายตัวสำหรับตลาดนี้กลับกลายเป็นปัจจัยลบในยามที่ราคาขายตกต่ำ หรือ ปริมาณความต้องการลดลง ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายกรณีสำหรับการค้าสุกรขุนแนวชายแดน

จากการติดตามประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิด แต่มีการเกิดมาช้านานไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ในทุกประเทศที่ไม่มีการกำกับดูแลการประกอบอาชีพของประชากรภายในประเทศไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเท่านั้น อุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีการกำกับดูแล สัดส่วนทั้งจำนวนราย และมูลค่าผลผลิตจะเคลื่อนตัวในลักษณะเดียวกัน

การแก้ปัญหานี้อยู่ที่องค์กรเกษตรกรเอกชนที่จะต้องเข้ามาเรียกร้องสิทธิพลเมืองเอง เพราะถ้าจะรอจริยธรรมในวงการปศุสัตว์ หรือเกษตรแขนงใดๆ จะเป็นเรื่องที่ยากเพราะระบบที่เป็นอยู่จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้ที่ขาดศักยภาพที่จะปกป้องความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง

“ทรัพยากรบนโลกนี้มีเพียงพอกับทุกคน แต่มีไม่พอสำหรับคนโลภแม้แต่เพียงคนเดียว” ประโยคนี้ใช้ได้เสมอ แต่การแก้ปัญหาในสังคมใหญ่ที่เป็นระบบทุนเสรีการถามหาจริยธรรมจะเป็นการยาก จำเป็นต้องมีภาคบังคับของกฎหมาย และกลุ่มในสังคมต้องร่วมช่วยกันสอดส่องการบังคับใช้กฎหมายและกลไกการออกกฎหมายระดับรองด้วย เพราะกฎหมายในลักษณะนี้จะออกเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติซึ่งตามบัญญัติของกฎหมายจะมีระบุคุณสมบัติของบุคคลที่จะสามารถเป็นคณะกรรมการได้ ซึ่งถ้าระหว่างการร่างพระราชบัญญัติถ้าไม่ช่วยกันติดตาม อาจจะมีการกำหนดคุณสมบัติไปจนถึงการแต่งตั้งที่จะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

อาจจะมีการผลักดันการออกกฎหมายควบคุมและจัดสัดส่วนการผลิต ยกตัวอย่าง เช่น ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่าย พ.ศ. ...”  ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหา FREE TRADE กับ FAIR TRADE ในวงการสุกรและปศุสัตว์เมืองไทย เบื้องต้นควรจะขอแนะนำให้มีบทบัญญัติดังนี้

  1. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งอาจใช้ PIG BOARD เดิมชื่อว่าเรียกว่า“คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์”ตามชื่อ PIG BOARD หรือ คณะกรรมการควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่ายประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และนายกสัตวแพทยสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรห้าคนเป็นกรรมการผู้เลี้ยงสุกร ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ

      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในการบริหารกิจการการเลี้ยงสุกร

      โดยการกำหนดบุคคลในคณะกรรมการ แนะนำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายกลางรายย่อยควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย เพราะถ้ามีการออกกฎหมายในลักษณะนี้ได้จริง จะเพิ่ม FAIR TRADE ในวงการสุกรได้อย่างยั่งยืน

  1. ควรมีหมวดที่ไปรวบรวมปริมาณการผลิตสุกรของประเทศ เช่น ให้ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนสุกรพันธุ์ จำนวนสุกรขุนจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ แจ้งการประกอบการตามแบบที่กฎหมายกำหนดแก่พนักงานเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
  2. ควรมีการกำหนดปริมาณการผลิตในแต่ละปีแยกเป็นแต่ละรายของผู้ประกอบการในรอบบัญชี เพื่อเป็นการควบคุมให้ผู้เลี้ยงผลิตสุกรได้ไม่เกินตามที่กำหนด
  3. กรณีผลิตเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดควรระบุตลาดที่มารองรับผลผลิตของเกษตรกรรายนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายตลาดและแย่งตลาดโดยใช้ความสามารถเข้าสู่ตลาดที่สูงกว่าเกษตรกรรายอื่นๆ แนะนำให้มีบทลงโทษ เช่น มีเบี้ยปรับ
  4. ในพระราชบัญญัตินี้แนะนำให้จัดตั้งกองทุน ที่จะสามารถนำมาใช้กรณีรักษาเสถียรภาพของราคา หรือ เป็นกองทุนส่งเสริมการตลาด การส่งออกเนื้อสุกรและผลิตสุกรในอนาคต ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับ PORK CHECKOFF ของ NPPC ของสหรัฐอเมริกา  

การทำงานของ National Pork Producer Council ทำงานควบคู่ไปกับฝ่ายกฎหมาย ที่ใช้กฎหมายมาช่วยในการดูแลเกษตรกรและพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรของประเทศ

ในฐานะผู้เขียนเป็นนักกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่าย ด้านล่างนี้ น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่รายย่อยจนถึงเกษตรครบวงจรรายใหญ่อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่าย

พ.ศ. ………..

โดยที่เป็นการสมควรร่างกฎหมายควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่าย

_______________________

          มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการผลิตสุกรเพื่อการจำหน่าย พ.ศ. .......”

          มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“สุกร” หมายความว่า สัตว์เลี้ยงเพื่อประสงค์เพื่อการค้าและซึ่งตามปกติใช้ในการผลิตเนื้อสุกร

“เนื้อสุกร” หมายความว่า เนื้อสุกรหรือส่วนอื่นของสุกรที่ตายแล้วและยังมิได้ปรุงแต่งให้เป็นอาหารหรือมิได้ปรุงแต่งเพื่อให้คงอยู่ไม่เน่าเปื่อย ทั้งที่ชำแหละแล้วและยังมิได้ชำแหละ

          “จำหน่าย” หมายความว่า การนำสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มและเนื้อสุกรออกขาย จ่ายแจก แลกเปลี่ยน ให้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้ในครอบครองซึ่งเนื้อสุกรเพื่อการจำหน่ายด้วย

“ผู้เลี้ยงสุกร” หมายความว่า ผู้ซึ่งเลี้ยงสุกรเพื่อการจำหน่าย

“กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร” หมายความว่า สมาคม สหกรณ์ ที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และได้จดทะเบียนไว้กับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่รวมถึงบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีผู้เลี้ยงสุกรเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

“ปีบัญชี” หมายความว่า ปีตามปฏิทินตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมของปีเดียวกัน ถือเป็นหนึ่งปีบัญชี

“โรงฆ่าสัตว์” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการฆ่าสุกรตามพระราชบัญญัตินี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาและพัฒนาธุรกิจสุกรไทย

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          ระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

มาตรา ๕  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า“คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์”ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และนายกสัตวแพทยสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรห้าคนเป็นกรรมการผู้เลี้ยงสุกร

          ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ

          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในการบริหารกิจการการเลี้ยงสุกร

          กรรมการผู้เลี้ยงสุกรตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในด้านการค้า การลงทุน หรือการประกอบกิจการการเลี้ยงสุกร กรรมการผู้เลี้ยงสุกรต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๓) ไม่เคยได้รับโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

(๔) ไม่เคยเป็นผู้ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา ๘ อนุสาม

(๕) ไม่เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในทางการเมือง

(๖) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

กรรมการผู้เลี้ยงสุกรต้องเป็นผู้เลี้ยงสุกรซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรโดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนของปริมาณการผลิตสุกรของสมาชิกของแต่ละกลุ่ม

การเสนอและการถอดถอนผู้แทนกรรมการผู้เลี้ยงสุกรให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๖  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
          ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งไว้แล้ว

          เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้เลี้ยงสุกรซึ่งพ้นตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา ๗ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้เลี้ยงสุกรพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)    ตาย

(๒)    ลาออก

(๓)    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔)    เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๕)    ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

มาตรา ๘ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)    ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรที่ได้ตามมาตรฐานตามพระราชบัญญัตินี้

(๒)    ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๕

(๓)     พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้

(๔)    กำกับดูแลการอนุญาตและการประกอบกิจการการเลี้ยงสุกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

(๕)    กำหนดจำนวนการผลิตสุกรของผู้เลี้ยงสุกรในแต่ละรายตามรอบปีบัญชีเพื่อควบคุมการผลิตให้รักษาเสถียรภาพของราคาทั้งสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกร

(๖)    ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๙ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม

          ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

          การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๐ ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงเรื่องนั้น

มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

 การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา ๑๓ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ต้องสรุปและแจ้งประมาณการผลิตและการจำหน่ายสุกรภายทั้งในประเทศและต่างประเทศของทั้งประเทศของปีบัญชีถัดไป ภายในสี่สิบห้าวันก่อนเริ่มปีบัญชีถัดไป

          ในการกำหนดปริมาณการผลิตของผู้ประกอบการแต่ละรายและการผลิตรวมทั้งประเทศในปีถัดไป คณะกรรมการจะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับการเติบโตของการจำหน่ายในแต่ละปีทั้งการจำหน่ายในและต่างประเทศโดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ

          ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายสุกรภายทั้งในประเทศและต่างประเทศของทั้งประเทศของปีบัญชีที่แล้วจะต้องสรุปและแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการภายในสี่สิบห้าวันนับจากเริ่มรอบบัญชีถัดไป  

หมวด ๒

การประกอบกิจการเลี้ยงสุกรเพื่อการจำหน่าย

มาตรา ๑๔ เพื่อเป็นการรวบรวมปริมาณการผลิตสุกรของประเทศและเพื่อให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันในการจำหน่ายสุกรมีชีวิต ให้ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนสุกรพันธุ์ จำนวนสุกรขุนจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ แจ้งการประกอบการตามแบบที่กฎหมายกำหนดแก่พนักงานเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่น

          ในการแจ้งการประกอบการตามวรรคแรก ให้ระบุชื่อและสถานที่ตั้งของสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรที่ผู้ประกอบการเป็นสมาชิก

          ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทให้แจ้งการประกอบการตามแบบที่กฎหมายกำหนดแก่พนักงานเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคแรกโดยการเป็นสมาชิกสหกรณ์หนึ่งสหกรณ์ใดให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวนี้

          การขออนุญาตและออกใบอนุญาตการเลี้ยงสุกรเพื่อการจำหน่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๕ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการการเลี้ยงสุกรเพื่อการจำหน่ายและกำหนดมาตรการเพื่อการควบคุมให้ผู้ประกอบการกิจการการเลี้ยงสุกรเพื่อการจำหน่ายสามารถปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

(๑)    กำหนดจำนวนขั้นต่ำของสุกรพันธุ์ สุกรขุน ของผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรที่จะต้องขึ้นทะเบียนแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๑๔

(๒)    กำหนดให้ผู้ประกอบการตามมาตรา ๑๔ แจ้งผลผลิตและการจำหน่ายสุกรในรอบปีบัญชีที่ผ่านมาและประมาณการผลิตและการจำหน่ายของรอบบัญชีถัดไปแก่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

(๓)     กำหนดปริมาณการผลิตแยกเป็นแต่ละรายของผู้ประกอบการในรอบบัญชีถัดไปให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๓ วรรคสอง เพื่อควบคุมให้ผู้เลี้ยงผลิตสุกรได้ไม่เกินตามที่กำหนด

หมวด ๓

กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาและพัฒนาธุรกิจสุกรไทย

 มาตรา ๑๖ เพื่อสร้างความมั่นคง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรไทย จึงให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ดำเนินการจัดตั้ง “กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาและพัฒนาธุรกิจสุกรไทย” โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาและพัฒนาธุรกิจสุกรไทยและ หรือ ครพ. ภายในกำหนด 1 ปี หลังพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ เพื่อบริหารเงินกองทุนโดยให้มีระเบียบปฏิบัติวิธีการตามประกาศกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๔

บทกำหนดโทษ

 มาตรา ๑๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบ้าน

 มาตรา ๑๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา๑๕ (๑)(๒)และ(๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
-------------------

มาตรา ๑๙ ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรที่ยังไม่มีการแจ้งการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้ดำเนินการแจ้งตามมาตรา ๑๔ ภายใน ๙๐ วันหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

______________________

        นายกรัฐมนตรี

            

 

Visitors: 397,113