NIA หนุน เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ สร้างนวัตกรรมผลิตไบโอแก๊สจากมูลสุกรและพืช

NIA หนุน เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์

สร้างนวัตกรรมผลิตไบโอแก๊สจากมูลสุกรและพืช

 

          ปัจจุบัน พลังานทดแทนถือเป็นทางเลือกสำคัญ เนื่องจากสามารถลดการใช้พลังงานหลักลงได้ เพราะอนาคตอีกไม่นานวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเช่นน้ำมัน ถ่านหิน อาจลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นวิกฤต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

          ในอุตสาหกรรมเกษตรอย่าง การเลี้ยงสุกรทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากอัตราการบริโภคเนื้อสุกรมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหลายๆ ฟาร์มจะขยายการเลี้ยงเพื่อให้เพียงพอต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเมื่อเลี้ยงสุกรในปริมาณมากแล้วการขับถ่ายมูลออกมา จึงเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมโดยตรงและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกนั่นเอง

          ฉะนั้นจึงมีการเปลี่ยนของเสียเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยการนำมาผลิตเป็น “ก๊าชชีวภาพ” ใช้หลักการหมักจนเกิดก๊าซมีเทน จากนั้นนำก๊าซที่ได้ไปเข้ากระบวนการปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้ได้จริง จึงเกิดเป็นโครงการนวัตกรรม “ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าช้างเนเปียร์ร่วมกับน้ำเสียฟาร์มสุกร เพื่อผลิตพลังงานทดแทน” ซึ่งเป็นระบบแรกของประเทศไทย นำเสนอโดย คุณสมชาย  นิติกาญจนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด จนได้รับรางวัลและการสนับสนุนจากสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช. : NIA) ประเภท นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย

          เมื่อถามถึงเหตุผลในการทำโครงการนี้ได้รับคำตอบจากคุณสมชายว่า “เพราะเห็นประเทศเยอรมันเป็นแบบอย่างโดยมีการนำพืชพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่มาผสมกับมูลสัตว์ และมีการกวนผสมภายในบ่อ เพื่อทำให้การย่อยของสารอินทรีย์เกิดก๊าซได้ดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งในบ้านเราจะใช้เพียงมูลสัตว์เพียงอย่างเดียวจึงทำให้เกิดก๊าซได้น้อย เนื่องจากในมูลสุกรจะมีออร์กานิคไนโตรเจนสูงถึงร้อยละ 2.72 และ C:N ratios เท่ากับ 14:8:1 เมื่อต้องการให้เกิดการหมักที่สมบูรณ์จะต้องเติมหญ้าเนเบียร์ฯ ซึ่งมีปริมาณคาร์บอนสูง เป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตก๊าซมากยิ่งขึ้น และในกระบวนการผลิตก๊าซและปั่นเป็นไฟฟ้าจะมีไอน้ำจากหม้อน้ำ จากนั้นจะนำความร้อนที่ได้กลับไปอุ่นบ่อไบโอแก๊ส ทำให้บ่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นจึงทำให้ได้แก๊สในปริมาณที่สูง ส่วนน้ำเสียที่ปล่อยออกจากบ่อไบโอแก๊ส ยังมีปริมาณของไนโตรเจนสูง เพราะฉะนั้นจะมีการกรองเพื่อนำกากไปทำเป็นปุ๋ย ส่วนน้ำจะนำไปเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ใช้รดพืชผลทางการเกษตรทดแทนการใช้สารเคมี”

          สำหรับการทำไบโอแก๊สจะมี 1 โครงการคือ หญ้าเนเปียร์+มูลสุกร ซึ่งระบบบ่อไบโอแก๊สเป็นบ่อรุ่นใหม่โดยทำร่วมกับ 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการทดสอบของทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ปริมาณก๊าซ (Yield) ที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนสาเหตุที่เลือกมหาวิทยาลัยทั้งสองมาร่วมทำโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยได้องค์ความรู้และนำผลทดลองไปใช้ในการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความต่อเนื่อง

          โครงการนี้หากรัฐบาลให้การสนับสนุนโดยการรับซื้อไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายภาครัฐ ทางบริษัทพร้อมจะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ณ วันนี้เป้าหมายหนึ่งของบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด คือ ต้องการให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์มากกว่า โดยให้เกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณฟาร์มสามารถนำน้ำเสียจากฟาร์มไปรดแปลงหญ้าได้ แล้วเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็นำผลผลิตที่ได้ขายให้กับบริษัท และสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือปัญหาของเสียหรือมูลสุกรจะหมดไป นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นๆ ตามมาคือ

          1.  มีความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า เพราะการใช้พลังงานลมหรือโซล่าเซลล์ ซึ่งบางวันอาจไม่มีลมและยิ่งช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยมีแดด จะทำให้ไฟฟ้าในระบบ VOLTAGE ต่ำลง ระบบ UNDER VOLTAGE ของโรงงานจะตัดไฟทั้งระบบของโรงงานเมื่อไฟเริ่มสตาร์ทใหม่ในแต่ละครั้งจะทำให้เปลืองไฟมากยิ่งขึ้น แต่การทำบ่อไบโอแก๊สจะมีแก๊สและสามารถแปลงเป็นไฟฟ้าได้ตลอดเวลา

          2.  ของเสียอย่างเช่นมูลสุกร จะหมดไปจากประเทศเนื่องจากมีมูลค่าสูงขึ้น จากการนำมาเป็นส่วนผสมที่ดีในการผลิตไบโอแก๊ส

          3.  สามารถลดปัญหาภาวะโลกร้อน จากของเสียเหล่านี้คือตัวการในการสร้างปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากปลดปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ

          4.  การปลูกพืชพลังงานเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตไบโอแก๊ส จะสามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และทำให้ข้าวมีราคาดีขึ้น

          5.  สามารถลดม็อบได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาคเกษตรกรได้ผลประโยชน์และผลผลิตทางการเกษตรดี เกษตรกรมีรายได้จะสามารถลดการเกิดม็อบหรือลดการประท้วงลงได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เกษตรกรแย่ม็อบก็จะเกิดขึ้นทันที

          6.  ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อเกษตรกรมีรายได้ดีเศรษฐกิจของชาติก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

          จุดเริ่มต้นของการทำโครงการ “ระบบผลิตก๊าซจากหญ้าช้างเนเปียร์ร่วมกับน้ำเสียฟาร์มสุกรเพื่อผลิตพลังงานทดแทน” จะสอดคล้องกับโครงการ “ประเทศไทย 4.0” ที่รัฐบาลรณรงค์อยู่ในขณะนี้ แต่บริษัททำมาหลายปีแล้วโดยมีนโยบายคือ “บริษัทฯ จะต้องมีการเติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำสามารถแข่งขันในตลาดด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยทำร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช. :NIA) เพื่อนำข้อมูลเชิงวิชาการและความรู้เชิงวิทยาศาสตร์มาพัฒนาบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          “ต้องวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเราเองก่อนว่าอยู่ตรงจุดไหน บางคนมองว่าการทำธุรกิจที่ครบวงจรคือจุดแข็ง ผมคิดว่าไม่จริงเสมอไป เพราะถ้าทำธุรกิจครบวงจรที่ยังมีจุดอ่อนอยู่ จุดอ่อนนั้นจะเป็นตัวดึงหรือตัวถ่วงธุรกิจนั้นไม่ให้เกิดการพัฒนา ดังนั้นเราต้องขยายจุดแข็งของเราให้มาก ส่วนจุดอ่อนที่ไม่ถนัดก็ร่วมมือกันกับผู้ที่มีความชำนาญ เพื่อเป็นการเกื้อกูลกัน เขาก็จะมีจุดแข็งเพิ่มขึ้นส่วนเราก็สามารถกลบจุดอ่อนของเราได้ ดังนั้นเราจึงจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว” คุณสมชายกล่าวถึงหลักในการบริหาร

          สำหรับรางวัลต่างๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมประกวดนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่บริษัทคู่ค้าและเป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ของ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด ดั่งสัญลักษณ์รูปหัวใจ 4 ดวงของบริษัท ซึ่งหมายถึงคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสิ่งแวดล้อม บริษัทจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกันสโลแกน “เราจะโตไปด้วยกัน”

          จากการโครงการดังกล่าว ประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับคือ “ด้านพลังงาน” สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล และลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

          สำหรับการต่อยอดโครงการฯ คุณสมชายเผยว่าจะพัฒนาต่อไป อนาคตหากมีพืชชนิดอื่นที่ทำเปอร์เซ็นต์การเกิดก๊าซมากขึ้นก็ต้องศึกษากันต่อไป เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา โดยขอความช่วยเหลือจาก สนช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำข้อมูลที่ดีมาสู่เอกชน “ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าไปถึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช. : NIA) ได้รับความช่วยเหลือในหลายโครงการจนประสบความสำเร็จ และคิดว่าหากรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนกับ สนช. มากกว่านี้จะสามารถทำโครงการต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาและทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน ซึ่งเป็นการขยายงานวิจัยให้ครอบคลุมในวงกว้าง เพื่อให้หลายๆ ฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นประชาชน ธุรกิจ และสังคม”

          ระบบผลิตก๊าซชีวภาพฯ เป็นสิ่งที่ทุกฟาร์มสมควรทำอย่างมาก ส่งผลดีให้แก่คนในชาติ และอีกหลายๆ ฝ่ายทั้งด้านพลังงาน ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและลดการเกิดภาวะโลกร้อน รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งการทำระบบไบโอแก๊สเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นตัวเสริมที่ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในฟาร์มให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหากับชุมชน อีกอย่างการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน มั่งคั่งและมั่นคง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพราะ “เราเอาใจเราไปใส่ใจเขา ถ้ามีคนมาสร้างปัญหาให้เรา เราก็ไม่ยอมเช่นกันเพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง”

ขอขอบคุณ

          คุณสมชาย นิติกาญจนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด 125 หมู่ 8 ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี 70140

          สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช. : NIA) 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ : 0-2017-5555

ที่มา : สัตว์บก ปี 23 ฉบับ 282 ตุลาคม 2559 (หน้า 51-55)

Visitors: 397,110