เบทาโกรเดินหน้าสู่รายได้1.4แสนล้าน

เบทาโกรเดินหน้าสู่รายได้1.4แสนล้าน

24 สิงหาคม 2559เครือเบทาโกร ถือว่าเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร และอาหารชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเริ่มได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จากอดีตที่เน้นกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก โดยตามแผนระยะ 10 ปี ที่จะจบในปี 2563 เครือเบทาโกรต้องการทำรายได้ถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่ง “วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางและการก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

โรดแมป10ปีสู่1.4แสนล้าน

          เป้าหมายภายในระยะ 10 ปี หรือแผนธุรกิจภายในปี ค.ศ. 2020 หรือปี 2563 ยังคงวางไว้ว่าจะทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งแนวทางการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางธุรกิจในปีนี้ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากปัจจัยราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มปศุสัตว์มีราคาดีขึ้น และมีกำไรในทิศทางบวก รวมถึงการบริหารซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ ตลาดมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการมากกว่ากำลังการผลิต ขณะที่เรื่องแบรนด์ของเบทาโกรรวมถึงแบรนด์สินค้าในเครือ อาทิ เอสเพียว มีความแข็งแกร่งทำให้ผลประกอบการมีโอกาสสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เติบโตในอัตรา 12% และหากย้อนดูผลประกอบการในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตในอัตรา 12-14% อย่างต่อเนื่องด้วย

          ปัจจุบันมีธุรกิจ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ธุรกิจเกษตร อาทิ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยา ฟาร์ม และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ด้วยสัดส่วนยอดขาย 30% และ 2. กลุ่มอาหาร ได้แก่ ไก่ หมู ไข่ และอาหารแปรรูป เช่น แซนด์วิซ อาหารปรุงสุก และไส้กรอก เป็นต้น ซึ่งขายเข้าช่องทางโมเดิร์นเทรด ขณะที่สัดส่วนยอดขายในประเทศมีประมาณ 80% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% ภายในปี 2563 เนื่องจากการเติบโตของตลาดที่มีสูง ส่วนยอดขายในต่างประเทศมีสัดส่วน 20% โดยมีตลาดสำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรปสัดส่วน 40% ญี่ปุ่น สัดส่วน 40% ที่เป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแคนาดา

“ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15% ในกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งหมด ยกเว้นสินค้าทะเล ที่มีมูลค่า 6 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณปีละ 4-5% ในอนาคตก็เชื่อว่ายังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ในอัตราดังกล่าว”

แผนการลงทุนในแต่ละปี

          เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในแต่ละปีบริษัทจะวางงบประมาณการลงทุนไว้ 3,000 ล้านบาท ในฟิกแอสเซส อาทิ ฟาร์ม โรงงาน ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับปีนี้จะเป็นการลงทุนธุรกิจต้นน้ำ อาทิ ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มการเกษตร เป็นต้น เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนธุรกิจปลายน้ำจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนแต่ละปีจะเป็นการบริหารซัพพลายเชน หมุนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนในประเทศกัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว ในลักษณะเดียวกันด้วย

          ส่วนแผนการลงทุนฟูดคอมเพล็กซ์ ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานีที่ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท บนเนื้อที่ 50-60 ไร่ คาดจะเสร็จประมาณกลางปี 2560 นั้น ขณะนี้ได้มีการปรับแผนและรูปแบบในรายละเอียด ทำให้งบประมาณการลงทุนอาจจะใกล้เคียง 2,000 ล้านบาท และกำหนดแล้วเสร็จอาจจะเป็นช่วงปลายปี 2560

แนวทางการลงทุนร้านเบทาโกร

          นอกจากการลงทุนด้านโรงงาน ฟาร์มต่างๆ แล้ว ธุรกิจปลายน้ำบริษัทได้ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยมีการลงทุนในธุรกิจร้านเบทาโกร ซึ่งเป็นธุรกิจในลักษณะบีทูบี ที่ปัจจุบันมี 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งนโยบายการลงทุนต่อไปจะเน้นการลงทุนในอำเภอระดับกลางมากขึ้น ขณะที่ตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังคงให้ความสำคัญเช่นกัน

          “ตลาดบีทูบีทุกบริษัทพยายามทำให้ครอบคลุมในตลาดนี้อยู่แล้ว ซึ่งเบทาโกรมีจุดแข็งหนึ่งในเรื่องของสำนักงานสาขา ที่มีอยู่ 80 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายมาจากกลุ่มธุรกิจนี้ 6,000-7,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ25% ของรายได้รวมทั้งหมด”

ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Visitors: 397,127