ผู้เลี้ยงสุกรประสานเสียงค้าน TPP เต็มที่ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีวันเปิดงานวันสุกรแห่งชาติ 4 ธันวาคมนี้

ผู้เลี้ยงสุกรประสานเสียงค้าน TPP เต็มที่ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีวันเปิดงานวันสุกรแห่งชาติ 4 ธันวาคมนี้

17 พฤศจิกายน 2558 กรุงเทพมหานคร – ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเห็นไปในทางเดียวกันมีมติให้ร่วมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงงานวันสุกรแห่งชาติ

          หลังจากการยื่นหนังสือคัดค้านการร่วมเป็นภาคีสมาชิก “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)” ผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี    โดยคุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา น.สพ.วิวัฒน์  พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ได้เชิญคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเพื่อหารือร่วมกำหนดแนวทางในการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทย เพื่อคัดค้านการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมในครั้งนี้

          คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาผลดีผลเสียของการเข้าร่วม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอให้ คณะรัฐมนตรี รับทราบทั้งข้อดีและผลกระทบจากการรวมกลุ่ม TPP โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งกระทรวงพาณิชย์ไปจัดทำผลดีและผลเสียของการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP เพราะยังมีเวลาตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ซึ่งอาจจะเข้าหรือไม่เข้าร่วม TPP ก็ได้

          นายสัตวแพทย์ ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ได้กล่าวถึงนางฮิลลารี คลินตัน อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้สมัครชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559 ออกโรงคัดค้าน TPP โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เจ้านายเก่าของนางคลินตัน เป็นหัวหอกผลักดัน และจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมเศรษฐกิจร่วม 40% ของทั้งโลก โดย TPP ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานและฝ่ายเสรีนิยมในพรรคเดโมแครต ซึ่งหวั่นว่าจะส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงานเพิ่ม ท่าทีของคลินตันสอดคล้องกับนายเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเวอร์มอนต์ และนายมาร์ติน โอ’มอลลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ คู่แข่งของคลินตัน ซึ่งต่อต้าน TPP เช่นกัน

          ถึงแม้ว่าบางภาคอุตสาหกรรมของไทยออกมาสนับสนุนแต่การจะตัดสินใจอะไรออกไปถ้าเราไม่พิจารณาให้ดีอาจจะเป็นผลร้ายในระยะยาว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือเขตการค้าเสรี ในลักษณะที่เป็นการตกลงร่วมนั้น ประเทศที่มีข้อได้เปรียบในด้านการผลิต การตลาด เทคโนโลยี จะเป็นผู้ได้เปรียบอย่างยิ่งในการทำข้อตกลง กรอบการเจรจาทั้งกลุ่มจะทยอยเจรจาในแต่ละกลุ่มสินค้า แต่กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ เนื้อสุกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมั่นใจว่าจะถูกผลักดันโดยสหรัฐอเมริกา และแคนาดา อย่างแน่นอน เพราะองค์กรอย่าง NPPC (National Pork Producer Council) ที่ดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐอเมริกา และ CPC (Canadian Pork Council) ของแคนาดาผลักดันเรื่องนี้มาตลอดและมากขึ้นตั้งแต่ถูกตอบโต้จากรัสเซียโดยห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ แคนาดา ตั้งแต่สิงหาคม 2557 เป็นต้นมา

          สำหรับกรอบการเจรจา RCEP เมื่อมีข่าว TPP มีความชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะทำให้จีนเริ่มรุกผลักดันให้กรอบ RCEP ให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้นน่าจะสำเร็จภายในปี 2560 เพราะตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องภาษีภาคบริการแล้ว ซึ่งจะอยู่ในรูปของการลดภาษี โดยเรื่องนี้จะมีการทำความตกลงกันในที่ประชุมอาเซียนในครั้งต่อไป

          ทั้งนี้สำหรับกลุ่ม TPP มีจีดีพีรวมกัน 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 38% ของจีดีพีโลก มีประชากรจาก 12 ประเทศรวมกัน 800 ล้านคน คิดเป็น 11% ของประชากรโลก ส่วนกลุ่ม RCEP มีประชากรรวมกัน 3,500 ล้านคน

          สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะทำการยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิก TPP ต่อนายกรัฐมนตรีโดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันเปิดงานวันสุกรแห่งชาติ วันที่ 4 ธันวาคม 2558 นี้ ซึ่งนายฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานวันเกษตร กำแพงแสน และเปิดงานวันสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ด้วย

Visitors: 397,158