ผู้นำผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยมองเห็นมหันตภัย TPP เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผู้นำผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยมองเห็นมหันตภัย TPP เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

14 พฤศจิกายน 2558 ราชบุรี – ผู้นำผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยมองเห็นมหันตภัย TPP แอบแฝงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ เตรียมรวมตัวภาคปศุสัตว์และเกษตรอื่นๆ ยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมต่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

          หลังการยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)” ผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี หลังการประชุมของกรอ.จังหวัดราชบุรี โดยคุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่มนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เมื่อวานนี้(13 พฤศจิกายน 2558) ทำให้มีเสียงประสานถึงการรวมตัวทั้งภาคเกษตรปศุสัตว์ เกษตรพืชไร่ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างยิ่งถ้ามีการเข้าร่วม TPP ในครั้งนี้เพราะผลประโยชน์ของความตกลงฯ TPP นี้ ประเทศใหญ่ที่มีอุตสาหกรรมสุกร ข้าวโพด ถั่วเหลืองที่เข้มแข็ง จะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและเกษตรกรข้าวโพดจะล้มหายตายจากทันที

          น.สพ.วิวัฒน์  พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัดกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้จังหวัดราชบุรี ได้คุยกับผจว.ในกรอ. และคุยกับผู้เลี้ยงโดยภาพรวมแล้ว ถ้าทำทุกจังหวัดพร้อมด้วยสภาเกษตรกร และกลุ่มเลี้ยงสุกรทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเวลาเดียวกันจะเป็นเรื่องใหญ่ ให้สถานทูตอเมริกาได้ยิน เหมือนคราวประท้วงหมูครับ”

          คุณสมคิด เรืองวิไลทรัพย์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐม จำกัด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า “ผมก็เห็นด้วยกับนายกมิตร(นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม)ครับ แต่ถ้าส่งหนังสื่อผ่านปศุสัตว์จังหวัด ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเมื่อไหร่นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทราบเรื่องที่พวกเราคัดค้านล่ะครับ ผมว่าน่าจะเป็นสมาคมแห่งชาติยื่นหนังสือคัดค้านไปที่นายกตู่(ประยุทธ์) โดยตรง โดยมีกลุ่มผู้เลี้ยงทุกกลุ่มทั่วประเทศร่วมลงชื่อคัดค้านจะดีไหมครับ และน่าจะดึงเกษตรกรอาชีพอื่นเข้าร่วมคัดค้านด้วยนะครับ”

          น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “ผมเห็นด้วยกับนายกมิตรครับ และผมคิดว่าท่านนายกวีระ (สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคกลางตอนบน) นายกเซ้ง(คุณสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ) เฮียฮิม(คุณชูศักดิ์ รัตนวนิชโรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ท่านนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ คงเห็นด้วยครับ” ล่าสุดคุณสุนทราภรณ์ได้ออกมากล่าวแล้วเช่นกันว่าเห็นด้วยกับการคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP

          สำหรับรายละเอียดหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP ของท่านนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี มีรายละเอียดดังนี้

           จากความพยายามของกลุ่มประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก โดยเรื่องดังกล่าวท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ข่าวออกสื่อสาธารณะว่ากำลังพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดกับประเทศหลังการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอยู่นั้น

          กลุ่มเกษตรกรภาคปศุสัตว์ในส่วนของผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีที่ถือว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีผลผลิตเนื้อสุกรมากที่สุดของประเทศขอคัดค้านการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เนื่องจากจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

          ผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีทราบดีถึงการเดินหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศว่าจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันในทุกภาคส่วน โดย 9 ใน 12 ประเทศของภาคีสมาชิก TPP ได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไว้แล้วทั้งระดับทวิภาคีและพหูภาคี เช่น AFTA โดยทุกคู่เจรจาข้อตกลงมีการพิจารณากรอบการเจรจาการค้าในแต่ละกลุ่มสินค้าชัดเจนที่คำนึงถึงผลได้ผลเสียของประเทศคู่สัญญา ซึ่งจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบกับแต่ละอุตสาหกรรมของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย

          มี 3 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดาและเม็กซิโก ยังไม่บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคีซึ่งในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการเจรจากันไปบ้างแล้ว ซึ่งการผลักดันเขตการค้าเสรีเพื่อประโยชน์รวมของประเทศสามารถใช้ช่องทางระดับทวิภาคีได้ ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมในประเทศก็จะสามารถร่วมวงหารือในระดับประเทศได้ก่อนว่าจะเอาอุตสาหกรรมใดเข้าอยู่ในกรอบการเจรจาหรือไม่อย่างใด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียใดๆ กับอุตสาหกรรมของประเทศ

          ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง มาตรฐานผลผลิตสูงขึ้นในระดับที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคภายในประเทศ แต่ยังถูกจำกัดการเข้าถึงการค้าในระดับนานาชาติ ซึ่งได้แก่การที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) ซึ่งเป็นองค์การหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติยังไม่รับรองการเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมสุกรไทยมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันถึงแม้เกษตรกรครบวงจรบางส่วนสามารถเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศได้แล้ว โดยประเทศผู้นำเข้ารับรองเองโดยการเข้าตรวจฟาร์ม โรงเชือด และโรงงานแปรรูปสุกร โดยไม่ให้ความสำคัญกับการที่องค์การโรคระบาดสัตว์จะรับรองหรือไม่ แต่ยังเป็นส่วนน้อย โดยการรับรองขององค์การนี้ก็เข้าข่ายถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี(Non-Tariff Barrier :NTB) ของประเทศใหญ่ๆ เช่นกัน

          แต่ละปีปริมาณการค้าเนื้อสุกร(มีตารางและข้อมูลประกอบ)ทั้ง 3 ประเทศใน TPP ประกอบด้วย

1.ประเทศสหรัฐอเมริกามีการผลิตเนื้อสุกรในเชิงการค้าระหว่างประเทศสูงถึงประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี (จากการผลิตเกินกว่า 11 ล้านตันต่อปี และบริโภคเองประมาณกว่า 8 ล้านเมตริกตัน)  โดยมีหน่วยงานสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา National Pork Producer Council (NPPC) ที่ผลักดันให้รัฐบาลสร้างนโยบายหรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสุกรสหรัฐมาตลอด ทั้งระดับ FTA และ TPP

2.ประเทศแคนาดามีการผลิตเชิงการค้ามากกว่าการบริโภคในประเทศสูงถึง 1.2 ล้านตันต่อปี(ผลิตทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี) ซึ่งเป็นปริมาณที่ทำตลาดต่างประเทศโดยมีหน่วยงานสภาผู้ผลิตสุกรแห่งแคนาดา Canadian Pork Council ที่ผลักดันให้รัฐบาลสร้างนโยบายหรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสุกรแคนาดามาตลอดเช่นกัน

3.ประเทศเม็กซิโกมีปริมาณการค้าสุกรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญโดยคาดว่าปี 2559 จะมีปริมาณตลาดต่างประเทศสูงถึง 190,000 เมตริกตัน ซึ่งมากกว่าสุกรแปรรูปส่งออกจากประเทศไทย 11-12 เท่า

            โครงสร้างต้นทุนการผลิตในส่วนของพืชอาหารสัตว์ทั้ง 3 ประเทศได้เปรียบเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยอย่างมาก โดยใช้ตัวเลขเดือนพฤศจิกายน 2558 ข้าวโพดอเมริกาต่อกิโลกรัม 5 บาทต้นๆ ในขณะที่ไทยตอนนี้ประมาณ 8.65 บาท  ต้นทุนกากถั่วเหลืองของอเมริกาตอนนี้ประมาณต่อกิโลกรัม 11.20 บาทในขณะที่ไทย 17.25 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนอกจากผู้เลี้ยงสุกรไทยจะสู้ไม่ได้ในทุกมิติ เกษตรกรข้าวโพดไทยก็จะเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นอีกเช่นกันเพราะไม่สามารถแข่งขันข้าวโพดจากสหรัฐอเมริกาได้ เช่นกัน

             กรณีการหามาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ก็คือมาตรการด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม เข้ามารวมในความตกลงใน TPP ด้วย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเกษตรกรภาคประมงที่ยังคงต้องแก้ปัญหาเป็นรายวันกับ ข้อกล่าวหาเรื่องค้ามนุษย์ที่สหรัฐอเมริกาจัดลำดับไทยตาม TIP Report (Trafficking in Persons) อยู่ที่ Tier 3 ซึ่งจะไม่สามารถส่งออกกุ้ง อาหารทะเลแช่แข็งเข้าอเมริกาได้อีก หรือแม้แต่ IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing หรือ IUU Fishing) ที่เป็นมาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารของสหภาพยุโรป ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ร่างกฎหมายเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ Presidential Task Force on Combating IUU Fishing เลียนแบบ IUU สหภาพยุโรปขึ้นมาอีก ในขณะที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรปที่หันมาเพิ่มน้ำหนักด้านอุตสาหกรรมเกษตรกันมากขึ้น หลังกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมโดยมุ่งเป้าการตลาดมาที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก แต่กลับกีดกันสินค้าเกษตรจากประเทศแถบเอเชียกับสารพัดรูปแบบมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ตัวเองกีดกัน ซึ่งนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

           เหตุผลทั้งหมดที่ผู้เลี้ยงสุกรราชบุรีหยิกยกมาถือว่าเป็นมหันตภัยที่มีภาพชัดเจนอยู่เบื้องหน้า จึงขอคัดค้านรัฐบาลไทยอย่างเด็ดขาดเพื่อให้ประกาศชัดเจนว่าจะใช้แนวทางการค้าเสรีหรือกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ เช่น ASEAN + 6 หรือ RCEP ที่เป็นความร่วมมือที่มีการเจรจามานานและเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ไม่ได้ขัดกันทางผลประโยชน์แก่กันและกันมากจนเกิดความเสี่ยงอย่างมหาศาลเช่นเดียวกับ TPP

          จึงเรียนมาเพื่อโปรดร่วมพิจารณาเพื่อประโยชน์ชาติ

Visitors: 397,125