ค่าการผสมพันธุ์และการใช้ประโยชน์ อ.ดร.ฉัตรชัย จันทร์สมบูรณ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ค่าการผสมพันธุ์และการใช้ประโยชน์

อ.ดร.ฉัตรชัย  จันทร์สมบูรณ์

ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

        เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ค่าการผสมพันธุ์ หรือค่าทางพันธุกรรม หรือค่าความสามารถทางพันธุกรรม ทั้งหมดนี้มีความหมายเดียวกัน ก็คือค่าการผสมพันธุ์ (Expected Breeding Value; ซึ่งต่อไปในบทความนี้ผมเรียกว่า “ค่าการผสมพันธุ์”) ซึ่งส่วนมากเกษตรกรในบ้านเรามักใช้สับสน และใช้กันไม่เข้าใจ ก่อนอื่นจึงควรทำความเข้าใจกับความหมายที่แท้จริงกันก่อน

        ค่าการผสมพันธุ์ เป็นค่าตัวเลขที่ถูกคำนวณจากกระบวนการวิธีการประมาณค่าทางคณิตศาสตร์ชั้นสูงที่จะประมาณค่าที่คำนวณได้จากค่าที่วัดค่าได้ง่าย ที่บ่งบอกถึงปริมาณของพันธุกรรมที่ดีหรือความสามารถทางพันธุกรรมของลักษณะที่สนใจที่มีอยู่ในสัตว์ตัวนั้น ความหมายก็คือพันธุกรรม (Genotype) ของลักษณะใดๆ ในตัวสัตว์ที่เราเลี้ยงอยู่นั้น ในความเป็นจริงไม่สามารถจะวัดค่าอะไรได้เลย มันอยู่ภายในตัวสัตว์ จับต้องไม่ได้ วัดค่าไม่ได้ แต่เราสามารถหาวิธีประมาณค่านี้ได้จากค่าอื่นที่วัดได้ ที่เรียกว่าค่าสังเกต หรือค่าสมรรถภาพการผลิตหรือค่าฟีโนไทป์ (Phenotype) ซึ่งค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณได้นี้ถึงแม้จะไม่ใช่ค่าของพันธุกรรมที่ถูกต้อง 100% แต่ก็เป็นค่าที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะนำไปใช้ได้ เนื่องจากในการคัดเลือกสัตว์ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์นั้น เราไม่ได้ต้องการค่าที่ถูกต้อง 100% ในการเปรียบเทียบสัตว์ว่าสัตว์ตัวไหนมีพันธุกรรมดีกว่ากันเท่าไร เราต้องการแค่ความแตกต่างระหว่างสัตว์ที่นำมาเปรียบเทียบเท่านั้น ว่าตัวไหนมีค่าพันธุกรรมดีกว่ากันหรือมากกว่า คือไม่ได้ต้องการจะรู้ว่าดีกว่าเท่าไร หรือมากกว่ากันเท่าไร ซึ่งลักษณะของค่าการผสมพันธุ์นี้จะเป็นค่าตัวเลขที่มีทั้งค่าบวกและค่าลบ แกว่งตัวอยู่รอบๆ เลขศูนย์ (โดยเลขศูนย์นี้ความหมายที่แท้จริงก็คือ ค่าเฉลี่ยประชากร หรือค่าเฉลี่ยจากข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ของค่าสังเกตของลักษณะที่สนใจ) เช่น สุกรตัวหนึ่งถูกเลือกมามีค่าการผสมพันธุ์ของลักษณะ ADG เท่ากับ +169 โดยมีค่าเฉลี่ยของลักษณะ ADG จากข้อมูลที่ใช้คำนวณทั้งหมดในฟาร์มหรือมีค่าเฉลี่ยประชากร เท่ากับ 860 กรัมต่อตัวต่อวัน ก็หมายความว่าสัตว์ตัวที่เลือกมานี้มีค่าความสามารถทางพันธุกรรมประมาณ 1,029 กรัมต่อตัวต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยประชากร และถ้าเลือกสัตว์มาอีกตัวหนึ่งที่มีค่าการผสมพันธุ์ เท่ากับ +89 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวแรกแล้วหากต้องคัดเลือกสัตว์ ก็คงต้องเลือกสัตว์ตัวแรกเก็บไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้ต้องการทราบว่า สัตว์ตัวแรกมีค่าการผสมพันธุ์มากกว่าสัตว์ตัวที่สองเท่ากับ 80 แต่ต้องการทราบเพียงแค่ว่า สัตว์ตัวแรกมีค่าการผสมพันธุ์มากกว่าสัตว์ตัวที่สองเท่านั้น เพราะต้องอย่าลืมว่า ค่าการผสมพันธุ์จากสัตว์ทั้ง 2 ไม่ใช่ค่าจริง แต่เป็นเพียงค่าประมาณ ที่เราจะใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ดูแนวโน้มและทิศทางเท่านั้น สำหรับคุณลักษณะของค่าการผสมพันธุ์นั้นพิจารณาได้ว่าเป็นค่าประจำของสัตว์แต่ละตัว และเป็นค่าเฉพาะในแต่ละประชากร หมายความว่าถ้าสมมุติเราเก็บข้อมูลจากสัตว์ในฟาร์มของเรา 100 ตัว และนำมาคำนวณเพื่อประมาณค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้น เราจะได้ค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์ 100 ตัวนั้นไม่เท่ากัน แต่ละตัวจะมีค่าการผสมพันธุ์ของตัวมันเอง บางตัวอาจจะเท่ากัน แต่ทุกตัวจะไม่เท่ากัน และค่าการผสมพันธุ์จะเปลี่ยนไปเมื่อประชากรเปลี่ยนไป เพราะค่าการผสมพันธุ์ เป็นค่าจำเพาะต่อประชากรใดประชากรหนึ่ง หมายความว่าหากเลือกสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งในประชากรนี้ไปเป็นพ่อพันธุ์แล้วขายออกจากฟาร์มไปอยู่ฟาร์มอื่น ซึ่งถ้าหากฟาร์มนั้นมีการประมาณค่าการผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ค่าการผสมพันธุ์ของพ่อตัวนั้นก็จะมีค่าแตกต่างไปจากเดิม ทั้งๆ ที่เป็นสัตว์ตัวเดียวกัน สาเหตุก็เพราะว่า ค่าการผสมพันธุ์เป็นเพียงค่าประมาณ ไม่ใช่ค่าที่แท้จริง จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่เก็บมาจากประชากรที่มีอยู่จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นฐานในการประมาณค่า หากคุณลักษณะของประชากรที่เก็บข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณได้ก็จะแตกต่างไปจากเดิม โดยปกติค่าการผสมพันธุ์มักจะรายงานควบคู่กับค่าความแม่นยำ (Accuracy) โดยค่าความแม่นยำนี้ก็คือ ค่าสหสัมพันธ์ หรือค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณได้เทียบกับค่าจริงของสัตว์ตัวนั้น มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าความแม่นยำของค่าการผสมพันธุ์นี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีข้อมูลที่นำมาใช้คำนวณค่าการผสมพันธุ์เพิ่มขึ้น

        นอกจากนี้ค่าการผสมพันธุ์นี้จะมีค่าแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะที่สนใจ นั่นคือหากเราต้องการให้สัตว์ในฟาร์มของเรามีการพัฒนาในลักษณะที่สำคัญ ดังนี้ ให้สัตว์โตดี ใช้อาหารดี มันในซากน้อย เนื้อแดงมากเราจำเป็นจะต้องคำนวณค่าการผสมพันธุ์ออกมาทั้งหมด 4 ชุดตามลักษณะต่างๆ ดังจะเห็นได้จากตารางในภาพ

ภาพที่ 1  ค่าการผสมพันธุ์ในลักษณะต่างๆ ของพ่อสุกรในภาพ

ที่มา :  http://www.cedarridgegenetics.com/ai-sires/landrace/crsamson287-4,html

        จากภาพจะเห็นบางลักษณะมีค่าติดลบ สำหรับค่าการผสมพันธุ์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า จะมีทั้งค่าบวกและค่าลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าลบจะไม่ดีเสมอไป สำหรับการพิจารณาการใช้ประโยชน์จากค่าการผสมพันธุ์นั้น จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับคุณสมบัติของลักษณะที่สนใจด้วย คือหากว่าลักษณะใดที่เราสนใจปรับปรุงให้ดีขึ้น มีค่ามากแล้วจะยิ่งดี แบบนี้ควรพิจารณาสัตว์ที่มีค่าการผสมพันธุ์เป็นค่าบวกมากๆ ตรงกันข้ามหากลักษณะใดมีค่าน้อยแล้วยิ่งดี ก็ต้องพิจารณาสัตว์ที่มีค่าการผสมพันธุ์ติดลบ นอกจากนี้เกษตรกรบางคนมักจะสับสนว่าค่าการผสมพันธุ์มีหน่วยหรือไม่ คำตอบคือมีหน่วยตามลักษณะที่สนใจนั้นๆ เช่น หน่วยของค่าการผสมพันธุ์ของลักษณะไขมันสันหลัง จะมีหน่วยเป็น นิ้ว ตามหน่วยของการวัดไขมันสันหลัง

        สำหรับเกษตรกรในประเทศไทยจำนวนมากมักจะสับสนระหว่างค่าการผสมพันธุ์กับค่าดัชนีคัดเลือก (Selection index) เนื่องจากอาจจะได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เช่น แหล่งที่ขายหรือประมูลสุกรพ่อแม่พันธุ์บางแห่ง ได้นำสุกรพ่อแม่พันธุ์ออกแสดงให้เกษตรกรเลือกซื้อ โดยให้เดินดูตัวสุกรจริงๆ และรายงานตัวเลขค่าหนึ่งของสุกรแต่ละตัวเอาไว้ และได้ประกาศว่าค่าตัวเลขนั้นคือค่าการผสมพันธุ์ ที่ความจริงอาจจะเป็นค่าดัชนีคัดเลือกของฟาร์มที่ขายสุกรตัวนั้น ซึ่งค่าดัชนีคัดเลือกนี้เป็นค่าตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณโดยพิจารณาหลายลักษณะเข้าร่วมคำนวณพร้อมกัน และได้ค่าออกมาเป็นค่าตัวเลขตัวหนึ่ง ที่แตกต่างจากค่าการผสมพันธุ์ที่จะเป็นค่าตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่จะอธิบายได้แค่หนึ่งลักษณะเท่านั้น ถ้าหากเป็นแบบนี้เท่ากับว่าเกษตรกรได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง และจากตัวอย่างนี้ที่มีการรายงานเพียงตัวเลขค่าเดียว ไม่มีการรายงานค่าความแม่นยำควบคู่กัน ทำให้ตีความได้ว่าค่าตัวเลขนั้นไม่ใช่ค่าการผสมพันธุ์ แบบนี้เรียกว่าได้ข้อมูลไม่ครบ

        สำหรับการใช้ประโยชน์ค่าการผสมพันธุ์นั้น มักใช้ในการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ โดยพิจารณาจากค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม (Genetic selection) ที่จะมีความแม่นยำในการคัดเลือกดีกว่าการคัดเลือกสัตว์โดยใช้เพียงข้อมูลของค่าสังเกต (Phenotypic selection) เท่านั้น อย่างไรก็ดีอาจใช้ค่าการผสมพันธุ์สำหรับการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ ที่พิจารณาคัดเลือกเพียงลักษณะเดียว หรือคัดเลือกพร้อมๆ กันหลายลักษณะก็ย่อมทำได้

        สำหรับการคัดเลือกเพียงลักษณะเดียวที่สนใจโดยใช้ค่าการผสมพันธุ์เป็นตัวตัดสินคัดเลือก ทำได้ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยการนำเอาค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์แต่ละตัวมาเปรียบเทียบกันแล้วคัดเลือกเก็บสัตว์ที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีกว่าเก็บไว้ ไม่จำเป็นต้องเลือกสัตว์เก็บไว้เพียงตัวเดียว อาจเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ไว้หลายตัวก็ได้ โดยสัตว์กลุ่มที่เลือกเก็บไว้ควรจะมีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีกว่าสัตว์อื่นๆ ในฝูง สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการคัดเลือกสัตว์ที่มุ่งเน้นเพียงลักษณะเดียว ก็คือ ลักษณะที่ต้องการปรับปรุงนั้นต้องไม่มีความสัมพันธ์กับลักษณะอื่นๆ ที่สำคัญ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นสัตว์พ่อแม่พันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกอาจจะมีลักษณะที่สนใจดีเลิศ แต่ลักษณะอื่นที่สำคัญกลับด้อยต่ำลง เช่น การคัดเลือกสุกรให้มีอัตราการเจริญเติบโตดีเพื่อลดต้นทุน แต่ในความเป็นจริงลักษณะการเจริญเติบโตที่ดี มักจะสัมพันธ์กับลักษณะไขมันในซากที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเราพิจารณาเพียงแต่ลักษณะการเจริญเติบโตเพียงอย่างเดียวก็จะมีโอกาสทำให้สุกรในฟาร์มของเรามีไขมันในซากสูงขึ้นได้

        สำหรับการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์โดยการพิจารณาค่าการผสมพันธุ์พร้อมกันหลายลักษณะ สามารถทำได้แต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลในการประมาณค่าการผสมพันธุ์ คือต้องนำข้อมูลเข้าวิเคราะห์พร้อมกันหลายลักษณะ (Multi-trait analysis) และหลังจากได้ค่าการผสมพันธุ์ของแต่ละลักษณะออกมาแล้ว อาจใช้วิธีปรับปรุงพันธุกรรมหลายลักษณะพร้อมๆ กัน ที่ทราบกันดีเข้ามาใช้ก็ได้ ได้แก่ วิธีคัดเลือกให้สำเร็จทีละลักษณะ (Tandem selection) วิธีการกำหนดมาตรฐานการคัดทิ้งหรือคัดเก็บแบบอิสระในแต่ละลักษณะ (Independent culling selection) และการใช้ดัชนีคัดเลือกโดยใช้ค่าการผสมพันธุ์ (EBV selection index) ในรายละเอียดของวิธีการเหล่านี้จะแตกต่างกันในแต่ละเทคนิคของแต่ละคน และจะบอกว่าวิธีใดดีที่สุดนั้นบอกได้ยาก เพราะแต่ละวิธีมีจุดดีและด้อยอยู่ ดังนั้นในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ค่าการผสมพันธุ์ในการคัดเลือกหลายลักษณะพร้อมกัน ในวิธีกำหนดสัตว์ตัวที่ดีคัดเก็บไว้แบบอิสระในแต่ละลักษณะ (Independent culling selection) พอฟังชื่อหลายท่านอาจจะถึงกับถอดใจว่าในตอนนี้ใช้ข้อมูลค่าสังเกตเอามาปรับปรุงลักษณะนั้นใช้เวลานานมาก และหากคัดเลือกไปลักษณะหนึ่งอาจส่งผลต่ออีกลักษณะหนึ่งได้ แต่การคัดเลือกด้วยค่าการผสมพันธุ์ที่ผ่านการวิเคราะห์แบบหลายลักษณะพร้อมกัน (Multi-trait analysis) นั้นค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณค่าได้จะค่อนข้างบริสุทธิ์ (Purified) กว่าการพิจารณาวิเคราะห์แบบลักษณะเดี่ยว (Single-trait analysis) และค่าการผสมพันธุ์ที่ได้จะออกมาให้พร้อมกัน ทำให้การคัดเลือกทำได้ง่ายในหลายลักษณะพร้อมกัน กล่าวคือ การคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ให้พิจารณาสุกรที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีของแต่ละลักษณะเก็บไว้ ซึ่งอาจจะเป็นสัตว์คนละตัวกันก็ได้ ไม่ต้องเป็นสัตว์ชุดเดียวกัน เอาตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีที่สุดในแต่ละลักษณะเท่านั้น และเรียงลำดับสุกรที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีในแต่ละลักษณะจากมากไปน้อยทำจนครบทุกลักษณะที่ต้องการ จากนั้นให้มาหาสุกตัวที่มีลำดับของค่าการผสมพันธุ์ที่ดีในแต่ละลักษณะที่มากที่สุดเก็บไว้ หรืออาจจะให้เป็นคะแนน (ตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีให้คะแนนมากตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ไม่ดีได้คะแนนน้อย) แล้วพิจารณารวมคะแนนในสัตว์แต่ละตัวในทุกลักษณะที่มันทำได้ ดังตัวอย่าง

        จากตางรางที่ 1 คัดเลือกสัตว์ตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีที่สุดในแต่ละลักษณะจำนวน 5 ตัว (สมมุติ) ซึ่งสัตว์ที่เลือกอาจจะมีค่าการผสมพันธุ์ดีในลักษณะหนึ่งแต่ในอีกลักษณะหนึ่งไม่ดีก็ได้ จากนั้นคูณอันอับสัตว์ตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์สูงสุด คูณด้วย 5 และเรียงลดลงไปเรื่อยตามลำดับ ทำในทุกลักษณะ ในตารางที่ 2 เป็นการรวมคะแนนของสัตว์แต่ละตัวที่มีค่าการผสมพันธุ์ที่ดีในแต่ละลักษณะ เพื่อใช้ตัดสินใจเลือกว่าจะเก็บสัตว์ตัวใดในตัวอย่างนี้ เราอาจจะเลือกสัตว์ A C D G เก็บไว้เป็นสัตว์พ่อแม่พันธุ์ก็ได้

ตารางที่ 1 การเรียงลำดับสัตว์ที่มีค่าการผสมพันธุ์ดี (EBV) ที่สุด 5 ตัว ในแต่ละลักษณะ

อันดับ

ADG

 

FCR

 

BF (cm)

 

%Lean

 

WSI

 

1 x5

+137.0

B

-0.8

E

-0.5

G

+8.53

C

-1.9

A

2 x4

+95.3

D

-0.7

F

-0.2

H

+4.96

A

-1.3

C

3 x3

+90.8

E

-0.6

C

-0.1

A

+3.67

G

-1.1

D

4 x2

+87.9

A

-0.6

D

-0.1

C

+1.27

F

-1.1

F

5 x1

+87.0

G

-0.5

A

0.0

I

+0.57

B

-0.9

H

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Max

+137.0

 

+0.2

 

+1.2

 

+8.53

 

+5.8

 

Min

-50.2

 

-0.8

 

-0.5

 

-4.98

 

-1.9

 

 

ตารางที่ 2 การให้น้ำหนักคะแนนตามอันดับที่ทำได้ในแต่ละลักษณะ และคะแนนรวมของสัตว์แต่ละตัว

ลำดับสุกร

ADG

FCR

BF (cm)

%Lean

WSI

คะแนนรวม

A

2

1

3

4

5

15

B

5

 

 

1

 

6

C

 

3

2

5

4

14

D

4

2

 

 

3

9

E

3

5

 

 

 

8

F

 

4

 

2

2

8

G

1

 

5

3

 

9

H

 

 

4

 

1

5

I

 

 

1

 

 

1

 

 

Visitors: 427,885