ทบทวนกับปัญหาโรคบิดในสุกร (Coccidiosis)
ทบทวนกับปัญหาโรคบิดในสุกร (Coccidiosis)
น.สพ.ธวัช น้ำค้าง
ผู้จัดการแผนกอาวุโสบริการวิชาการ
“ปัญหาที่ทำให้ลูกสุกรท้องเสียในเล้าคลอดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าโรคท้องเสียจากเชื้อ อี.โคไล โรคท้องเสียระบาดติดต่อในลูกสุกรหรือที่เรียกกันว่า “โรคพีอีดี” โรคบิดในสุกร เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียหลายระดับเริ่มตั้งแต่ทำให้เกิดการตาย คัดทิ้ง แคระแกร็น แตกไซด์และสร้างปัญหาต่อเนื่องไปยังสุกรอนุบาลและสุกรขุนโดยทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนและป่วยด้วยปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ มีอัตราการตายและคัดทิ้งสูงกว่าปกติ มีประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและ ประสิทธิภาพการใช้อาหารต่ำลง ใช้ระยะเวลาเลี้ยงจนถึงขายเพิ่มขึ้น มีต้นทุนการผลิต เพิ่มสูงขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายคือ เจ้าของฟาร์มได้ผลกำไรลดลง ดังนั้นบทความนี้ จะขอทบทวนเฉพาะโรคบิดในสุกรซึ่งเกษตรกรหลายท่านคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดและสิ้นสุดในเล้าคลอด ไม่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการผลิตระยะอื่น แต่ความเป็นจริงถ้ามีการติดตามประสิทธิภาพการผลิตของชุดที่ลูกสุกรได้รับผลกระทบจะพบว่า ประสิทธิภาพการผลิตของสุกรอนุบาลหรือสุกรขุนจะด้อยลง สัมพันธ์กับปัญหา ที่เกิดขึ้นในเล้าคลอด”
โรคบิดในสุกรเกิดจากเชื้อโปรโตชัวที่เรียกว่า ไอโซสปอร่าซูอิส (Isospora suis) ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ของผนังลำไส้เล็ก ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย สัตว์เศรษฐกิจทุกชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าสามารถติดเชื้อดังกล่าวได้ ความซุกของโรคจะสูงขึ้น เมื่อมีนกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาอยู่ร่วมกัน โอโอซิสส์ของเชื้อบิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถอยู่ภายนอกตัวสัตว์ได้นานหลายเดือนและยากต่อการทำลายด้วยสารฆ่าเชื้อซึ่งมีผลทำให้ยากต่อการควบคุม
ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อบิดและชนิดของสัตว์ที่เกี่ยวข้องอาการที่ปรากฏมีตั้งแต่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการจนถึงขั้นทำให้เกิดวิการรุนแรงที่ลำไส้เล็ก เกิดอาการท้องเสีย แคระแกร็น แตกไซด์ ลูกสุกรบางตัวตายเนื่องจากติดเชื้อแทรกซ้อนและเกิดผลลบต่อประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลถึงความพยายามในการหาวิธีป้องกันและควบคุมโรคบิดในสุกรไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการใช้ยาให้ครอบคลุมช่วงที่เกิดปัญหา (metaphyiactic program) และโปรแกรมการรักษา
วงจรชีวิตและระบาดวิทยาของเชื้อบิด
ไข่ของเชื้อบิดขนาดเล็กๆ ที่ออกมาจากอุจจาระไม่ว่าจะมาจากลูกสุกรที่ท้องเสียครอกก่อนหน้า หรือมาจากแม่สุกรที่รอคลอด หรือมาจากสัตว์ปีกอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายในฟาร์ม เรียกว่าโอโอซิสต์ (oocysts) ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงลักษณะโอโอซิสต์ของเชื้อบิดในสุกร (Isospora suis)
เมื่อโอโอซิสต์สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมจะพัฒนาไปเป็นโอโอซิสต์ ระยะติดต่อ (sporulated oocysts) สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อความเร็วในการพัฒนาของโอโอซิสต์ ไปเป็นโอโอซิสต์ ระยะติดต่อ อุณหภูมิที่ 32-35 องศา และความชื้นที่สูง (สภาพอากาศร้อนชื้น) โอโอซิสต์จากอุจจาระตามพื้นคอก สามารถพัฒนาไปเป็นโอโอซิสต์ระยะติดต่อได้ภายใน 12-16 ชั่วโมง (ปกติใช้ระยะเวลา 1-3 วัน) หลังจากที่โอโอซิสต์ระยะติดต่อถูกกินเข้าไปในร่างกายและเข้าสู่บริเวณลำไส้ซึ่งเป็นตำแหน่งเป้าหมายที่สำคัญที่จะมีการพัฒนาและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนหลายขั้นตอนภายในเซลล์ของผนังลำไส้เล็ก จนกระทั่งวงจรชีวิตสมบูรณ์ได้โอโอซิสต์ใหม่ จำนวนมากซึ่งระหว่างที่มีการพัฒนาและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนนั้น จะมีการทำลายเซลล์ของผนังลำไส้เล็กร่วมด้วยดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงวงจรชีวิตของเชื้อบิด (Isospora suis) ในสุกร
วงจรชีวิตของเชื้อบิดภายในตัวลูกสุกรจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วันและก่อให้เกิดปัญหาท้องเสียตามมา ดังนั้นลูกสุกรที่มีอายุน้อยกว่า 5 วัน จะยังไม่แสดงอาการท้องเสียให้เห็นเนื่องจากการติดเชื้อบิด เชื้อบิดสามารถติดสุกรได้ทุกช่วงอายุแต่จะแสดงอาการรุนแรงเฉพาะลูกสุกรเท่านั้น เชื้อบิดสายพันธุ์อื่นๆ สามารถติดสุกรได้แต่ไม่ทำอันตรายให้กับสุกร มีรายงานความชุกของโรคบิดในลูกสุกรพบได้สูงถึง 45-85 เปอร์เซ็นต์ และมีผลกระทบต่อลูกสุกร >30% แม่สุกรมีบทบาทน้อยต่อการติดเชื้อบิดในลูกสุกรซึ่ง Lindsay et at.(1984) ได้ศึกษาฟาร์มในประเทศอเมริกาทั้งที่มีและไม่เคยมีประวัติของการติดเชื้อบิดจะ พบอัตราการติดเชื้อในแม่สุกร < 1% (แต่ยังถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งของการติดเชื้อบิดในลูกสุกรและมีความสำคัญ ดังนั้นควรมีการเก็บอุจจาระแม่ทุกๆ วันในห้องคลอด)
อาการของโรคและความสำคัญทางเศรษฐกิจ
เชื้อบิดมีผลกระทบต่อลูกสุกรดูดนมเป็นอันดับแรกและพบอุบัติการณ์สูงในช่วงอายุ 8-15 วัน บางครั้งอาจจะพบเร็วที่อายุ 5 วัน หรือมากกว่าจนถึงอายุ 3 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้นของสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งค่อนข้างเหมาะสม การเตรียมซองคลอดที่ไม่สะอาดร่วมกับขบวนการที่ทำให้คอกมีการเปียกชื้นถือว่าเป็น “จุดเสี่ยง”) อาการเริ่มแรกที่พบ ลูกสุกรจะอาการแสดงท้องเสีย เนื่องจากเซลล์ของผนังลำไส้เล็กถูกทำลาย ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาทำให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ลูกสุกรจะแสดงอาการขาดน้ำ อุจจาระมีลักษณะเหลวจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นน้ำมากขึ้น อุจจาระมีสีขาวแกมเหลืองดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 แสดงลักษณะท้องเสียเนื่องจากโรคบิดในสุกร
สามารถพบเป็นสีน้ำตาลแกมเทาได้ มีไขมันหรือครีมปน อาจมีหรือไม่มีเลือดปน ระยะเวลาท้องเสียนาน 5-6 วัน ลูกสุกรบางตัวที่ติดเชื้ออาจจะแสดงอาการท้องผูกอุจจาระแข็งแห้งเป็นเม็ดได้ ลูกสุกรในแต่ละคอกสามารถแสดงอาการท้องเสียรุนแรงที่แตกต่าง เมื่อเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ลูกสุกรขนจะยาวหยาบ มีสภาพขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลงดังรูปที่ 4 อัตราการตายอาจมีเพียงเล็กน้อย (ขึ้นอยู่กับการติดเชื้อแทรกซ้อน การจัดการและสุขภาพแม่) แต่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 15% (Larsen 1995) หรือประมาณ 500-800 กรัม ในวันที่หย่านม ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อพยาธิอื่นๆ ร่วมด้วยจะทำให้มีอัตราการตายที่สูงขึ้นและทำให้การวินิจฉัยมีความซับซ้อน และบางครั้งต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาที่สูงขึ้น
รูปที่ 4 แสดงลักษณะลูกสุกรขนยาวหยาบและน้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากโรคบิดในสุกร
มีการทดลองโดยการป้อนโอโอซิสต์ระยะติดต่อให้กับลูกสุกรพบว่า บางครั้งสามารถทำให้ลูกสุกรท้องเสียได้จนถึงหย่านมแต่โดยภาพรวมลูกสุกรที่อายุมากกว่า 3 สัปดาห์ จะพบอาการของโรคเพียงเล็กน้อย ในทางปฏิบัติสามารถตรวจพบโอโอซิสต์ในอุจจาระของลูกสุกรหลังหย่านมและบางครั้งพบอาการท้องเสียเพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นการยากที่จะยืนยันว่า เชื้อบิดทำให้เกิดอาการท้องเสียถ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นอาหาร น้ำและการจัดการ เป็นต้น เชื้อบิดจะไม่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียในสุกรขุนและสุกรพันธุ์
การวินิจฉัยโรคบิดในสุกร
ปัจจัยที่ควรพิจารณาสำหรับการวินิจฉัยโรคบิดลูกสุกร
- ประวัติของฝูง
ลูกสุกรอายุ 1-3 สัปดาห์ แสดงอาการท้องเสียคลอดเมื่อหย่านมมีขนาดคอกไม่เสมอ แตกไซต์สูง เต้านมแม่สุกรเลี้ยงลูกฟูปานกลางจนถึงดี สภาพอากาศภายในโรงเรือนร้อนชื้น พื้นคอกมีสภาพเปียกชื้น
2. ลักษณะทางคลีนิค
อุจจาระเหลวจนถึงน้ำ มีสีเหลืองจนถึงขาว อาจมีหรือไม่มีเลือดปน อัตราการตายต่ำ
3. การรักษา
ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ
4. ตรวจพบเชื้อบิดสอดคล้องกับอาการที่ปรากฏ
ระยะแรกที่ลูกสุกรเริ่มแสดงอาการท้องเสียจะตรวจไม่พบโอโอซิสต์ในอุจจาระ แต่จะพบโอโอซิสต์ในเซลล์ของผนังลำไส้ จากการทำเสมียร์หรือตัดชิ้นเนื้อย้อม หลังจากแสดงอาการท้องเสีย 3-4 วัน (อายุเข้าสัปดาห์ที่ 2-สัปดาห์ที่ 3) จะตรวจพบโอโอซีสต์ในอุจจาระซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยโรค ดังนั้นการเก็บตัวอย่างและการตรวจสอบควรทำด้วยความระมัดระวังเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ลูกสุกรบางตัวที่เริ่มหายหรืออุจจาระที่เริ่มเป็นยวงมากขึ้นการเก็บอุจาระในลูกสุกรช่วงดังกล่าวจะมีโอกาสพบได้มากกว่าลูกสุกรที่เริ่มแสดงอาการท้องเสีย
การเก็บตัวอย่างอุจจาระ ควรเก็บในลูกสุกรที่อายุเข้าสัปดาห์ที่ 2-3 และความน่าจะเป็นในการตรวจพบโอโอซิสต์จากตัวอย่างจะไม่เพิ่มขึ้นจากการเลือกลูกสุกรท้องเสีย อาการท้องเสียจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการขับโอโอซิสต์ออกมาพร้อมกับอุจจาระและบ่อยครั้งอุจจาระที่เริ่มเป็นยวงมีการตรวจพบโอโอซิสต์ได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างควรทำการเก็บในทุกสภาพการณ์ยิ่งเก็บจำนวนตัวอย่างมากความน่าจะเป็นในการตรวจพบจะยิ่งสูงขึ้นในฟาร์มนั้นๆ แนะนำให้ทำการเก็บตัวอย่างคอกละ 3-5 ตัว อย่างน้อย 10 คอกต่อฟาร์ม ตัวอย่างจากคอกเดียวกันสามารถเก็บรวมกันแล้วแบ่งออกมา ฟาร์มขนาดใหญ่ให้ทำการเก็บตัวอย่างน้อย 5-10%
การตรวจอุจจาระโดยอาศัยการเสมียร์จากอุจจาระโดยตรง เพื่อตรวจหาโอโอซิสต์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ทำได้ค่อนข้างยาก ยกเว้นมีการติดเชื้อที่รุนแรงโดยทั่วไปใช้วิธีทำให้โอโอ
ซิสต์ลอยตัว โดยใช้สารละลายโซเดียมคลอไรด์อิ่มตัว 1 ลิตรผสมกับน้ำตาลกลูโคส 500 กรัม ซึ่งเป็นความถ่วงจำเพาะที่เหมาะสมทำให้ได้โอโอซิสต์จำนวนมากซึ่งง่ายต่อการตรวจพบ
การรักษาและการควบคุม
การจัดการลูกสุกรท้องเสียให้จัดการทั้งคอกหรือยกคอก เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปยังตัวอื่นๆ ภายในคอก รวมทั้งเป็นการป้องกันลูกสุกรตัวอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ หรือติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการให้เห็น
- ให้ละลายอิเล็คโตรไลด์ใส่ถ้วยน้ำเพื่อช่วยลดการสูญเสียอิเล็กโตรไลด์เนื่องจากท้องเสีย ต้องหมั่นเติมบ่อยๆ วันละ 4-6 ครั้ง
- เตรียมกล่องกก และไฟกกให้พร้อมเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกสุกรที่ท้องเสียเนื่องจากลูกสุกรที่ท้องเสียอุณหภูมิของร่างกายจะต่ำกว่าปกติซึ่งจะทำให้ลูกสุกรนอนสุม ไม่กินอาหาร
- ให้ยาป้องกันบิดซึ่งมีตัวออกฤทธิ์ได้แก่ โทลทราชูริล อัตราการใช้ : ยาโทลทราชูริล 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมโดยปั้มยา 1 ครั้ง ให้กับลูกสุกรท้องเสียทุกตัวรวมทั้งลูกสุกรภายในครอก ลูกสุกรบางตัวอาจมีอาการอาเจียนหลังจากปั้ม แนะนำให้ปั้มซ้ำในลูกสุกรตัวดังกล่าว เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณยาได้ เพียงพอต่อการรักษา นอกจากนี้แนะนำให้ยาโคลิสตินปั้มปากร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อี.โคไล แทรกซ้อนหลังจากผนังซองลำไส้เล็กถูกทำลาย
การป้องกัน
- ควรป้องกันการได้รับโอโอซิสต์จากคอกที่เลี้ยงก่อนหน้านั้น โดยอาศัยขบวนการทำความสะอาดคอกที่ถูกต้อง ควรล้างด้วยเครื่องพ่นน้ำร้อนแรงดันสูง (70 องศา) และปล่อยพักคอกให้แห้งนาน 1 สัปดาห์ และพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อเช่น ครีซอล คลอรีนหรือสารละลายแอมโมเนีย 50% ซึ่งสามารถแทรกผ่านผนังเซลล์และฆ่าเชื้อ
- ใช้มาตรการป้องกันโดยให้ยาป้องกันบิด (ชื่อทางการค้า Zuriphar 5%) ปั้มปากลูกสุกรที่อายุ 3-4 และซ้ำที่อายุ 10 วัน (กรณีที่ท้องเสียรุนแรงติดต่อเป็นระยะเวลานาน)
- ให้งดการย้ายฝากหลังจากลูกสุกรอายุ 2-3 วัน เนื่องจากลูกสุกรดังกล่าวอาจติดเชื้อบิดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้เชื้อบิดกระจายไปยังลูกสุกรคอกอื่นๆ ที่ยังปลอดจากเชื้อบิด
- แม่สุกรที่จะย้ายเข้าคอกคลอดควรล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเพื่อลดปริมาณเชื้อบิดที่ติดตามลำตัว
- ต้องไม่เข้าไปในคอกคลอดโดยไม่จำเป็นเพื่อลดโอกาสที่จะนำเชื้อบิดซึ่งอาจติดตามรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องมือต่างๆ เข้าไปในคอก
- แต่ละห้องคลอดควรแยกใช้แปรงถูพื้น ราดอุจจาระ พลั่วตักอุจจาระเพื่อลดโอกาสที่จะนำพาเชื้อบิดข้ามไปยังห้องคลอดอื่นๆ
- ควบคุมปริมาณแมลงวันและสัตว์ปีกต่างๆ ภายในโรงเรือนซึ่งเป็นพาหะที่สำคัญในการกระจายเชื้อไปยังคอกหรือห้องอื่นๆ
- ลดลมโกรกและปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดความเครียดแก่ลูกสุกรซึ่งจะทำให้ลูกสุกรไวต่อการเกิดโรคเร็วขึ้น
เมื่อฟาร์มพบปัญหาลูกสุกรท้องเสียภายในเล้าคลอดสิ่งสำคัญ ต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าลูกสุกรท้องเสีย เนื่องจากเชื้อบิดจากนั้นค่อยดำเนินการวางแผนและป้องกัน เบื้องต้นให้ทำการซักประวัติ ตรวจสอบอายุลูกสุกรที่ท้องเสีย ลักษณะอุจจาระที่ปรากฏ และตรวจพบโอโอซิสต์ในอุจจาระที่เก็บลงตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ วิธีการรักษาให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวก่อนหน้านี้ ส่วนการป้องกันให้ปั้มยากันบิดกับลูกสุกรที่อายุ 3-4 วัน และซ้ำที่อายุ 10 วัน (กรณีที่ท้องเสียรุนแรงติดต่อเป็นระยะเวลานาน) ซึ่งจะให้ผลดีในการป้องกันปัญหาท้องเสียที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อบิดในลูกสุกร บางฟาร์มมีการใส่ยาผสมอาหารได้แก่ ยาแอมไพรเลียม 1 กิโลกรัมต่อตันอาหาร หรือยาซัลฟาไดมิติน 200-400 กรัมต่อตันอาหาร ให้แม่สุกรอุ้มท้องกินช่วงย้ายเข้าเล้าคลอดจนถึงหย่านม เพื่อช่วยลดปริมาณเชื้อบิดที่ออกมากับอุจจาระแม่สุกร อย่างไรก็ตามไม่ควรละเลยเรื่องความสะอาดของพื้นคอกและที่รองนอน เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเชื้อบิดที่สำคัญในลูกสุกรรุ่นต่อๆ ไป
เอกสารอ้างอิง
ธวัช น้ำค้าง (2010) ความเข้าใจกับโรคบิดในลูกสุกร สารเบ็ทเทอร์ฟาร์มา
ที่มา: สารเบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า