Beta-agonist สารเร่งเนื้อแดง โดย ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนา

สารในกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์ (beta-agonist) เช่น ซัลบูทามอล (Salbutamol) ซิมบูเทอรอล (Cimbuterol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) มาเพนเทอรอล (Mapenterol) แรคโตพามีน (Ractopamine) เคลนเพนเทอรอล (Clenpenterol) ไซมาเทอรอล (Cimaterol) คาบูเทอรอล (Cabuterol) มาบิวเทอรอล (Mabuterol) ทูโลบูเทอรอล (Tulobuterol) โบรโมบูเทอรอล (Bromobuterol) เทอบูทาลีน (Terbutaline)

          สารในกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ยาบรรเทาโรคหอบ หืด ช่วยในการขยายหลอดลม มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว และช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว เพิ่มการสลายตัวไขมันที่สะสมในร่างกาย

          ในประเทศไทย ได้มีการนำสารในกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์โดยเฉพาะ เคลนบิวเทอรอล (Clenbuteral) และซัลบูทามอล (Salbutamol) มาใช้เติมลงในอาหารหมู สารนี้จะตกค้างในเนื้อหมู มาถึงผู้บริโภค เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรู้จักและเริ่มใช้สารบีตา-อะโกนิสต์ โดยเฉพาะเคลนบิว-เทอรอลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยใช้ชื่อทางการค้าต่างๆ กัน เช่น เลนดอล โดโซลบี แอมโปรฟีด บีดอล 2201 และแมคโต-เอส เป็นต้น

          เนื่องจากไม่มีการใช้เคลนบิวเทอรอลในยาคน และความเข้มงวดในการสั่งนำเข้าประเทศ ดังนั้นสารเร่งเนื้อแดงอีกชนิดหนึ่งที่นิยมในปัจจุบันคือ ซัลบูทามอล (Salbutamol) ซึ่งหาซื้อได้ง่ายกว่าเพราะมีการใช้เป็นยาของคน แต่นำซัลบูทามอลมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือใช้เป็นสารเร่งเนื้อแดงโดยผสมในอาหารและน้ำสำหรับเลี้ยงหมู เพื่อให้ซากหมูมีเนื้อแดงมาก มีไขมันน้อยซึ่งทำให้ได้ราคาดี

ผลของสารเร่งเนื้อแดงต่อหมู

          ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อตัวสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้น ในสัตว์บางชนิดอาจพบการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ การสร้างความร้อนในตัวสัตว์ที่เพิ่มขึ้น มีผลทำให้สัตว์ทนต่อความร้อนได้ลดน้อยลง และอาจเกิดภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress) ได้

หมูที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถสังเกตุมีลักษณะมัดกล้ามนูนเด่นกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก สันหลัง หรือบริเวณหัวไหล่ ถ้าได้รับปริมาณสูงมากๆ หมูจะมีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา

ผลของสารเร่งเนื้อแดงต่อซากหมู

·       ทำให้คุณภาพซากหมูมีเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ไขมันน้อยลง ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

·       การเกิดเนื้อซีดฉ่ำน้ำ (PSE) ลดลง

·       เนื้อสีแดงคล้ำกว่าปกติ เมื่อหั่นทิ้งไว้จะมีลักษณะเนื้อค่อนข้างแห้ง

อันตรายจากการบริโภคเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง

          การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

          ประเทศไทยและต่างประเทศได้ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์ กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์ และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย หรือเมแทบอไลต์ (metabolite) ของสารดังกล่าวด้วย การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 6 (5) , 57 ถึงแม้พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 จะมีผลใช้และยกเลิกฉบับ พ.ศ.2525 แล้วแต่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นําเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ คุณสมบัตและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นสวนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ. 2545 ยังมีผลบังคับจนกว่าจะมีการออกฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

          อย่างไรก็ตามยังมีประกาศกระทรวงอีก 1 ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข คือ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546

เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

------------------------------------------------------

ด้วยปรากฏว่ามีการนำสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ซึ่งช่วยในการขยายหลอดลม แก้อาการหอบหืดในมนุษย์ ไปใช้ในวงจรการผลิตอาหารอันเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เพื่อลดไขมันและ เพิ่มปริมาณ เนื้อแดงในสุกร เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6(3) และ(9) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ..2522 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล       ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

(b-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสาร         ดังกล่าวด้วย

 การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และ           วิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร

ข้อ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 เมษายน พ..2546

                   สุดารัตน์  เกยุราพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 120 ตอนพิเศษ 47 ง. ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2546)

Visitors: 395,583