Subcommittee to PM Board

ที่ประชุมอนุกรรมการฟื้นฟูหมู ครั้งที่ 2 พณ.รับเป็นตัวกลางเรียกห่วงโซ่สุกรและเนื้อสุกรหารือ ให้ปศุสัตว์ส่งคดีสอบสวนกลาง(CIB)

27 ธันวาคม 2566 สำนักปลัดนายก - มติคณะอนุกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรสุกร ให้พาณิชย์ช่วยแก้ราคาหมูตกต่ำเรียกห่วงโซ่สุกรและเนื้อสุกรเข้าหาหรือช่วยกัน ที่ประชุมขอให้กรมปศุสัตว์ส่งคดีสอบสวนกลาง(CIB) เพื่อขยายผล

          นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ประธานอนุกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร(คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ) เป็นประธานประชุมครั้งที่ 2 หลังจากตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวกลางในการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การค้าสุกรและเนื้อสุกรเข้าหารือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดทุนมากว่า 10 เดือน จากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 โดยข้อเสนอดังกล่าวคณะกรรมการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดี เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย (คณะกรรมการร่วมฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าว

          นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน รับที่จะเป็นตัวกลางตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอมา ซึ่งจะเป็นการเจรจาหารือในลักษณะขอความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอันดับแรก โดยจะส่งผลสรุปของการร่วมหารือแก่คณะกรรมการร่วมฯ ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ลงนามแต่งตั้ง

          ในการประชุมวันนี้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูได้ร่วมพิจารณาเบื้องต้นคำร้องขอที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติร่วมลงนามกับ 6 สมาคม และคำร้องร่วมจากกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยแต่ละภูมิภาคที่ส่งมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่หน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล

          โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดฝ่ายเลขาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ ได้จัดหัวข้อเรื่องให้สอดคล้อง ดังนี้

 

          โดยสามารถสรุปในการหารือเบื้องต้นตามแต่ละหัวข้อได้ดังนี้

 1)      การเร่งรัดดำเนินคดี กับ ผู้นำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการขยายผลจากการส่งคดี 161 ตู้ ที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางของกรมศุลกากร เมื่อ 12 พฤษภาคม 2566 และเป็นคดีพิเศษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อ 29 มิถุนายน 2566

ที่ประชุมเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นที่กรมปศุสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ก็สมควรที่จะส่งต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เช่นกัน

โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะทำหนังสือประเด็นนี้ตรงไปยังกรมปศุสัตว์เป็นอันดับแรก ผลคดีจากตู้สุกรตกค้าง 161 ตู้ DSI ประเมินการนำเข้าจาก 10 บริษัทดังกล่าวย้อนหลังตั้งแต่ปี 2564 มีเพียง 2,385 ตู้เท่านั้น จากการประเมินทั้งหมด 10,000 ตู้ คิดเป็น 24% การส่งคดีดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลถึงกลุ่มที่ยังไม่มีการเข้าถึงเพิ่มเติมอีก 76% แม้คดีที่จบไปแล้วตั้งแต่ 2564-2566 ผู้กระทำความผิดก็จะช่วยคดีในฐานะ “พยาน” ได้และเพื่อให้สอดคล้องเป็นการรับลูกการทำงานของปฏิบัติการพิเศษ "พญานาคราช"  เพื่อให้คดีการทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสุกรผิดกฎหมายสามารถขยายผลได้คล่องตัวมากขึ้น

2)      มาตรการทางการเงินช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีนี้

3)      การกำกับดูแลราคาสินค้า

  1. กำกับดูแลราคาสินค้าสุกรให้เกิดความเป็นธรรมสามารถปรับเพิ่มราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต  ประเด็นนี้ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะทำข้อเสนอเป็นเอกสารเพิ่มเติม
  2. กำกับดูแลราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เกิดความเป็นธรรม การบังคับใช้มาตรการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้นมิให้ถูกกดราคารับซื้อ และมีราคาเป็นธรรมหน้าโรงงานอาหารสัตว์       ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรชาติแจ้งว่าประกาศดังกล่าวเป็นเกณฑ์ที่เป็นแนวทางที่เหมาะสมและมีช่วงราคาที่เหมาะสมตามช่วงของความชื้น  ที่ค่อนข้างอธิบายยากในเชิงรายละเอียด ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของสูตรคณิตศาสตร์ ประธานขอให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติทำเป็นหนังสือพร้อมอธิบายรายละเอียดเข้ามา เช่นกัน
  3. การกำกับดูแลราคากากถั่วเหลืองนำเข้าที่ขายในประเทศตามราคาต้นทุนการผลิตไม่ใช่การตั้งราคาอ้างอิงตลาดโลก รวมกับค่าขนส่งและภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 2 ประเด็นดังกล่าวผู้แทนสมาคมฯ แจ้งให้เห็นส่วนต่างที่มากเกินในกลุ่มของกากถั่วจากโรงสกัดที่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งจะทำเป็นเอกสารเพื่อให้ฝ่ายเลขาสรุปให้เข้าใจง่าย เพื่อที่จะนำส่งคณะกรรมการร่วมฯ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4)      การนำเข้าสินค้า

  1. การระงับนำเข้าสินค้าสุกร โดยการขอไม่ให้นำสินค้าสุกรเข้าไปเป็นกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีไทยสหภาพยุโรป ประเด็นดังกล่าวรองอธิบดีกรมการค้าภายในชี้แจงว่าปัจจุบันยังไม่มีการเริ่มต้นการเจรจา ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะต้องติดตามเพราะกรมเจรจาการค้าจะส่งเรื่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทุกขั้นตอนที่มีการเจรจา
  2. ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่นการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีตามเกณฑ์ซื้อข้าวโพด 3 ส่วนนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน
  3. การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพด
  4. ให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า

5)      ห้ามจำหน่ายสินค้าเนื้อสุกรสดในช่องทางออนไลน์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าระหว่างการจัดส่งผ่านช่องทางการขนส่งทั่วไป ที่ไม่มีการควบคุมที่เหมาะสมและไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์อาจก่อให้เกิดการแพร่หลายของโรคสุกรและขอให้กรมปศุสัตว์เพิ่มโทษให้สูงขึ้น

6)      ขอให้ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GAPและส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี GMOที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวพันธุ์ที่ได้ผลผลิตสูงเหมาะสำหรับเป็นพืชอาหารสัตว์โดยตรง โดยภาคเอกชนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

           โดยประธานขอให้สมาคมผู้เลี้ยงแห่งชาติทำรายละเอียดแนวทางที่ร้องขอทั้งหมด เป็นเอกสารประกอบส่งมาประกอบเพิ่มเติมเพื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ จะได้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมฯ ให้ทราบแนวทางพิจารณาได้ชัดเจนมากขึ้น

          นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดี เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย (คณะกรรมการร่วมฯ)ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๘๗/๒๕๖๖ สั่ง ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ และคณะกรรมการร่วมฯ ดังกล่าวได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ในเบื้องต้นก่อนเข้าพิจารณาของคณะกรรมการร่วมฯ เป็นการทำงานเฉพาะกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สมาคมหมูจี้ตรงนายกเศรษฐา สั่งกรมการค้าภายในเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมผลกระทบการใช้อำนาจ กกร.แก้วิกฤตหมูด่วน แม้ราคาขยับแต่ยังไม่ถึงต้นทุน

 

Visitors: 397,120